Inter Cultural Education Game (ICE – GAME)

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ปกครองในเกาะลันตาทั้งกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจ กลุ่มไทยปักษ์ใต้ กลุ่มมุสลิม และกลุ่มวัฒนธรรมจีน มีทักษะในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การเข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง พร้อมทั้งเรียนรู้ในความแตกต่างเหล่านั้น เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมในเกาะลันตามีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของตนเองและให้เกียรติวัฒนธรรมของผู้อื่น เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเคารพซึ่งกันและกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

ทีมวิจัยจาก ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “ICE – GAME” (ไอซีอีเกม) หรือ “InterCultural Education Game” ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม บูรณาการเป็นหลักสูตรและแผนการเรียนรู้ผ่านสื่อการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา ภายใต้โครงการ Mother tongue-based Multilingual and Intercultural Education (MTBMLE-ICE) in Koh Lanta project ร่วมกับ โรงเรียนในพื้นที่เกาะลันตา 14 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ ชุมชนในพื้นที่เกาะลันตา ได้แก่ โรงเรียนบ้านโละใหญ่ โรงเรียนบ้านทุ่งวิทยพัฒน์ โรงเรียนบ้านคลองโตนด โรงเรียนบ้านหลังสอด โรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน โรงเรียนบ้านพระแอะ โรงเรียนบ้านคลองหิน โรงเรียนบ้านคลองนิน โรงเรียนบ้านทุ่งหยีเพ็ง โรงเรียนบ้านเจ๊ะหลี โรงเรียนวัดเกาะลันตา โรงเรียนบ้านเกาะปอ โรงเรียนบ้านสังกาอู้ โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ และ มูลนิธิ Pestalozzi Children Foundation (PCF) เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงาน ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี (2562 – 2565) เพื่อศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และสืบสานภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ “อูรักลาโวยจ” ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเกาะลันตา ซึ่งกำลังในอยู่ในภาวะวิกฤติ และส่งเสริมความหลากหลายผ่านการจัดการศึกษาในพื้นที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และเตรียมขยายผลในภูมิภาคอื่น และเชื่อมโยงสู่ประเทศที่มีตระกูลภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันต่อไป

ทีมวิจัยฯ ได้สร้างสรรค์โดยนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานของกลุ่มชาติพันธุ์ “อูรักลาโวยจ” ร่วมกับวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิมในเกาะลันตา มาจัดทำในรูปแบบของ “เกมบอร์ด” โดยทำ “การ์ดเกม” UNO – เกมการ์ดความรู้พหุวัฒนธรรมลันตา มีเนื้อหาชวนติดตาม คือ แบ่งเป็นสีๆ ตามหมวดประวัติศาสตร์ หมวดสถานที่สำคัญ หมวดภาษา หมวดประเพณี หมวดอาหารตามกลุ่มวัฒนธรรมของคนในเกาะลันตา ซึ่งผู้เรียนหรือผู้เล่นจะต้องอ่านเกร็ดความรู้ในระหว่างเล่น ทำให้ได้รับความรู้ไปพร้อมกับการแข่งขันกับเพื่อน และ Bingo – ที่นี่ลันตา เป็นแผ่นเกมส์ขนาดเล็ก ซึ่งระบุชื่อสถานที่สำคัญในเกาะลันตา และการ์ดความรู้ของสถานที่ต่างๆ โดยผู้เล่นจะได้เรียนรู้รายละเอียด ที่มา และความสำคัญของสถานที่ในเกาะลันตาจากการ์ดความรู้ เช่น ชื่อหมู่บ้าน ชื่อหาด ชื่ออ่าว ชื่อโรงเรียน นอกจากนี้ยังมี เกมบันได – งูพหุวัฒนธรรมลันตา ซึ่งเป็นบอร์ดเกมที่ผู้เล่นจะได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเกาะผ่านการเดินทางรอบแผนที่เกาะลันตา ไปพร้อมกับการเสริมความรู้ผ่านการ์ดความรู้หมวดต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต ศาสนา ประเพณี และเทศกาล เป็นต้น เพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้เล่นกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ ป.1 – ม.6 ได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อดำเนินตามเกมไปจนจบ ซึ่งนอกจากผู้เล่นจะได้รับความรู้แล้วยังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และได้เรียนรู้ถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมเล่นเกมอีกด้วย

 

นายภานุวัฒน์ ช้างน้ำ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน และเป็นครูภูมิปัญญากลับมาให้ความรู้ให้กับนักเรียนรุ่นน้องในเรื่องวัฒนธรรมของชาวอูรักลาโวยจในวิชาสังคมศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่บูรณาการแนวคิดการจัดการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมร่วมจัดการเรียนรู้ กล่าวว่า

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองเป็นเยาวชนคนหนึ่งในชุมชนนี้ที่มีวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่สามารถบ่งบอกถึงตัวเราได้ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ได้ทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมอูรักลาโวยจ ทำให้ผมซาบซึ้งและมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอูรักลาโวยจ และผมจะทำงานจะทำงานด้านวัฒนธรรม เพื่อที่จะไม่ให้วัฒนธรรมสูญหายต่อไป ผมเชื่อว่าการมีวัฒนธรรมของอูรักลาโวยจเข้าไปสอนที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่ดีและเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอูรักลาโวยจที่ดีในปัจจุบัน อีกทั้งช่วยให้น้องๆ ซึมซับในวัฒนธรรมได้มากยิ่งขึ้น

 

ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ กล่าวถึงการจัดทำโครงการฯ ว่า “หากเราสามารถทำให้เยาวชนได้เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น ก็จะทำให้สังคมเกิดการเคารพซึ่งกันและกันในความแตกต่างหลากหลาย โดยทีมวิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมอบนวัตกรรม “ICE – GAME” เพื่อเป็น “ของขวัญ” แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยและนานาชาติในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เพื่อฟื้นคืนอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมกลับคืนมาในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อมวลมนุษยชาติ จะได้ไม่ต้องสูญเสียภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเปรียบเหมือนเป็น “สมบัติอันล้ำค่า” ของโลกใบนี้ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบต่อไป”

 

ผลลัพธ์ของการดำเนินงาน พบว่า นวัตกรรม “ICE – GAME” เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ปกครองในเกาะ จำนวน 1,760 คน ครูและผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 126 คน และนักเรียนจำนวน 2,200 กว่าคนในเกาะลันตาทั้งกลุ่มชาวเลอูรักลาโวยจ กลุ่มไทยปักษ์ใต้ กลุ่มมุสลิม และกลุ่มวัฒนธรรมจีน มีทักษะในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การเข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง พร้อมทั้งเรียนรู้ในความแตกต่างเหล่านั้น เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมในเกาะลันตามีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของตนเองและให้เกียรติวัฒนธรรมของผู้อื่น เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเคารพซึ่งกันและกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

 

ซึ่งนวัตกรรม “ICE – GAME” สร้างสรรค์ขึ้นโดยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 4 ที่ว่าด้วยการศึกษาเท่าเทียม (Quality Education) และสอดคล้องกับเป้าประสงค์ที่ 4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

Partners/Stakeholders
  • มูลนิธิ Pestalozzi Children Foundation (PCF)
  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่
  • ชุมชนในพื้นที่เกาะลันตา
  • โรงเรียนในพื้นที่เกาะลันตา 14 แห่ง  ได้แก่
  1. โรงเรียนบ้านโละใหญ่
  2. โรงเรียนบ้านทุ่งวิทยพัฒน์
  3. โรงเรียนบ้านคลองโตนด
  4. โรงเรียนบ้านหลังสอด
  5. โรงเรียนชุมชนบ้านศาลาด่าน
  6. โรงเรียนบ้านพระแอะ
  7. โรงเรียนบ้านคลองหิน
  8. โรงเรียนบ้านคลองนิน
  9. โรงเรียนบ้านทุ่งหยีเพ็ง
  10. โรงเรียนบ้านเจ๊ะหลี
  11. โรงเรียนวัดเกาะลันตา
  12. โรงเรียนบ้านเกาะปอ
  13. โรงเรียนบ้านสังกาอู้
  14. โรงเรียนลันตาราชประชาอุทิศ
ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
มูลนิธิ Pestalozzi Children Foundation (PCF)