การประกอบอาชีพเป็นการเพิ่มพูนทักษะความสามารถ สร้างคุณค่าให้คนพิการ พึ่งพาตนเองจากการมีรายได้และดำรงชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ ขับเคลื่อนสู่สังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
การประกอบอาชีพเป็นการเพิ่มพูนทักษะความสามารถ สร้างคุณค่าให้คนพิการ พึ่งพาตนเองจากการมีรายได้และดำรงชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ ขับเคลื่อนสู่สังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
ความท้าทายเรื่องการจ้างงานคนพิการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ แต่หน่วยงานต่าง ๆ ก็ยังคงเลือกวิธีการ มาตรา 34 (การจ่ายเงินเข้ากองทุนแทนการจ้างงานคนพิการ) ในสถานประกอบการภาคเอกชน และการไม่สามารถจ้างงานได้ครบตามกฏหมายกำหนดในหน่วยงานภาครัฐ ด้วยเหตุผลที่เหมือนกันคือ ไม่เข้าใจลักษณะความพิการ ไม่มีแนวทางในการสื่อสาร และการช่วยเหลือ มีความกังวลกับการทำงานร่วมกับคนพิการบางประเภทเนื่องจากการรับรู้จากมุมมองทางสังคมว่าน่ากลัว อันตราย ความสงสาร ความรู้สึกเป็นภาระ เพราะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนพิการ จากช่องว่างที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถึงแม้สถานประกอบการมีความพยายามหาคนพิการเข้ามาทำงาน แต่ก็ยังคงไม่สามารถหาได้ ขณะเดียวกันคนพิการจำนวนมากต้องการเข้าถึงโอกาสในการงานแต่กลับไม่สามารถได้รับโอกาส เนื่องด้วยปัจจัยทางการศึกษาที่สถานประกอบการต้องการคนพิการในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 2 ของจำนวนคนพิการทั้งประเทศ และปัจจัยการย้ายออกถิ่นฐานซึ่งเชื่อมโยงกับความห่วงความกังวลของครอบครัวคนพิการที่นำไปสู่การไม่ได้รับการจ้างงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดผู้ขับเคลื่อนสังคมสู่การทำความเข้าใจและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อการยอมรับคนพิการ จึงเกิดแนวคิดสร้างกลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับทุนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ประจำปีงบประมาณ 2566 ของมหาวิทยาลัยมหิดล
ประเด็นปัญหาที่ต้องการขับเคลื่อนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายชี้นาสังคม ดังนี้
1. ประเด็นข้อท้าทายด้านคนพิการ
- การขาดการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การทำงานที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง นำไปสู่การขาดความมั่นใจและกังวลในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- การไม่เข้าใจกระบวนการจ้างงานที่เชื่อมโยงกับระเบียบการจ้างงานตามที่กฎหมายกำหนด หรือระเบียบของสถานประกอบการ ซึ่งจะต้องมีระบบที่ชัดเจน เช่น การมอบหมาย การติดตามงาน และการประเมินผลที่เป็นขั้นตอน เมื่อพบกับกระบวนการที่หลากหลายขั้นตอน อาจรู้สึกถึงความยุ่งยากวุ่นวาย ซึ่งนำไปสู่การปฏิเสธการจ้างงาน
- การปรับตัวต่อความพิการ โดยมองตนเองว่ามีความแตกต่างจากเพื่อนที่ทำงานร่วมกันในองค์กร นำไปสู่การเปิดรับฟังความคิดหรือมุมมองซึ่งกันและกันน้อยลง
2. ประเด็นความท้าทายด้านสถานประกอบการ
- การไม่เข้าใจข้อจำกัดของความพิการของแต่ละประเภท ส่งผลต่อการเกิดปัญหาในการทำงานร่วมกัน
- การขาดความเข้าใจเรื่องมุมมองของครอบครัวคนพิการที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ และการสนับสนุนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ครอบครัวของคนพิการบางประเภทมีบทบาทหลักในการสร้างรายได้และดูแลคนพิการไปพร้อมกัน จึงมีความจำเป็นที่เน้นการทำงานในพื้นที่มากกว่าในองค์กร
- สถานประกอบการไม่รู้รูปแบบการทำงานร่วมกับคนพิการในกลุ่มจิตสังคม สติปัญญา และออทิสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการสื่อสาร การสอนงาน การมอบหมายงาน และการประเมินผลงาน
3. ประเด็นด้านองค์กรตัวกลางส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ
หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรตัวกลางในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ขาดการให้ความสำคัญในบทบาทการเป็นตัวกลางสนับสนุน เนื่องด้วยการมีบทบาทเป็นองค์กรทางด้านความพิการ หรือเป็นองค์กรที่เป็นสถานประกอบการ ซึ่งการให้ความสำคัญในบทบาทการเป็นตัวกลางสนับสนุน จะช่วยให้สถานประกอบการเรียนรู้เข้าใจ ยอมรับ ให้โอกาส และสนับสนุนคนพิการให้มีความสามารถในการทำงานส่งผลลัพธ์ให้องค์กรได้จริงจากความท้าทายดังกล่าว
รูปแบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม จึงเป็นรูปแบบการทำงานของคนพิการ เพื่อลดช่องว่างและตอบโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งสอดคล้องต่อบริบทของการสนับสนุนจากสถานประกอบการ และการทำงานของคนพิการ ซึ่งการจ้างงานเชิงสังคม เป็นรูปแบบในการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานเชิงสังคมในพื้นที่ และการสนับสนุนอาชีพคนพิการ ด้วยการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเชื่อมประสานสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการสนับสนุนการจ้างงานและการมีอาชีพของคนพิการ (ตามมาตรา 33 และมาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) รูปแบบการทำงานดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นให้คนพิการเกิดความสนใจและตื่นตัวในการทำงานและประกอบอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีเกียรติศักดิ์ศรีทัดเทียมกับผู้อื่น และเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคมด้วย โดยลักษณะงานเป็นการเน้นคนพิการที่มีความพร้อม เดินทางไปปฏิบัติงานในหน่วยงานในพื้นที่เป็นประจำสม่ำเสมอ อาจเป็นในหน่วยงานของรัฐหรือโดยเป้าหมายของโครงการ เพื่อสร้างระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมในพื้นที่ โดยเน้นไปที่การขับเคลื่อนองค์กรตัวกลาง เพื่อนำไปสู่การให้สถานประกอบการได้จ้างงานคนพิการด้วยความเข้าใจและเต็มใจ และคนพิการสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลระบบดังกล่าวไปสู่การจ้างงานในรูปแบบอื่นต่อไป
โดยมีหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ
1. โรงพยาบาลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นองค์กรต้นแบบด้านการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมที่ให้พื้นที่ในการศึกษาองค์กร
2. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ร่วมวิเคราห์ระบบและเสนอประเด็นในการเริ่มต้นการทำโครงการ
3. สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม เป็นองค์กรตัวกลางต้นแบบด้านการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมที่ร่วม ดำเนินโครงการ
4. มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เป็นภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาการสร้าง Disability Awareness ให้กับสถานประกอบการ
5. สถานประกอบการภาคเอกชน เป็นหน่วยงานที่สนใจร่วมเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับคนพิการ
และจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ
1. การสัมภาษณ์เพื่อสร้างองค์ความรู้ 28 คน
2. การพัฒนาตนเองผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร Disability Awareness ให้กับสถานประกอบการ 40 คน
สมาคมมูลนิธิองค์กรด้านคนพิการ (องค์กรตัวกลาง)