Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มเข้ามาทดแทนเศรษฐกิจที่เป็นเส้นตรงที่เดิมจะเป็นการนำทรัพยากรมาผลิต เป็นผลิตภัณฑ์และเกิดเป็นขยะของเสียในภายหลัง (Take Make Dispose) โดยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเปลี่ยนแนวความคิดให้คล้ายกับธรรมชาติที่จะคำนึงถึงการผลิต การใช้ และการนำกลับมาผลิตใหม่ (Make Use Return) เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) ที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิต เปลี่ยนแปลงการบริโภคสินค้าและทรัพยากรให้ใช้ทรัพยากรรรมชาติร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำจัดขยะที่เป็นมลพิษ ส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดขยะมูลฝอยได้ และเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดล ตะหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะช่วยลดปัญหาขยะของเสียที่จะเกิดขึ้นได้ จึงเริ่มการบริหารจัดการจากขยะที่เกิดภายในมหาวิทยาลัยมหิดลที่เกิดจากการบริโภค การทำกิจกรรรม การเรียนการสอน โดยเริ่มนำองค์ความรู้มาปรับแก้ไขปัญหาและดำเนินการไปทีละส่วนอย่างต่อเนื่อง ส่วนแรกคือ การ “ปรับ” เพื่อ “เปลี่ยน” ภายในมหาวิทยาลัย ที่เริ่มจากการนำความรู้มาบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มมองขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพื่อปรับให้เกิดการนำมาใช้ใหม่มากยิ่งขึ้น อย่างขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ที่นำเข้าธนาคารขยะรีไซเคิล เศษใบไม้กิ่งไม้โดยรอบมหาวิทยาลัยนำเข้าสู่การผลิตปุ๋ยหมัก และการนำขยะอินทรีย์ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ ส่วนต่อมา คือ การส่งต่อ “องค์ความรู้” สู่สังคม ซึ่งมีการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ การสร้างเครือข่ายการจัดการขยะจากระดับครัวเรือนสู่ระดับจังหวัด และส่วนต่อมา คือ Upcycling โดยการนำขยะรีไซเคิลเข้ากระบวนการผลิตได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมดำเนินการ “ต้นแบบอย่างพอเพียง Sufficiency Model” ที่นำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัย โดนสื่อสารผ่านรูปแบบของนิทรรศการที่ใช้อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นที่ตั้งของนิทรรศการ
ธนาคารขยะรีไซเคิล เริ่มขึ้นในปี 2552 เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงาน นักศึกษา บุคลากร ปรับแนวคิดเกี่ยวกับขยะและเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการคัดแยกขยะมากขึ้นเพื่อนำเข้าธนาคารขยะรีไซเคิล โดยธนาคารนี้มีการทำงานคล้ายคลึงกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ที่มีการฝาก-ถอน แต่ต่างกันที่เราฝากขยะรีไซเคิลและถอนเป็นเงินสด ซึ่งจะมีซอฟต์แวร์ (Software) เก็บข้อมูลสมาชิกจึงมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบได้
การเป็นสมาชิกธนาคารขยะรีไซเคิลสามารถสามารถเป็นได้ทุกคนทั้งนักศึกษา บุคลากรและบุคคลภายนอก ซึ่งมีขั้นตอนการสมัครไม่ซับซ้อนเพียงนำบัตรประชาชนพร้อมใบสมัครมาบันทึกเข้าระบบก็จะได้รับสมุดคู่ฝาก จากนั้นสมาชิกสามารถนำขยะรีไซเคิลที่คัดแยกมาจำหน่าย และสามารถถอนเงินหรือฝากสะสมไว้กับธนาคารก็ได้ โดยราคารับซื้อขยะรีไซเคิลจะมีการประกาศอย่างชัดเจนและปรับราคาตามท้องตลาดทุกสามเดือน
การดำเนินโครงการ ตั้งแต่ ปี 2552–2564 มีสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 2,000 คน และสมาชิกทั่วไปอีกจำนวน 5,000 คน ซึ่งมียอดรวมปริมาณขยะรีไซเคิลมากกว่า 2,000 ตัน คิดเป็นยอดรวมการรับซื้อขยะรีไซเคิลมากกว่า 11 ล้านบาท โดยผลกำไร 10% จากการจำหน่ายขยะรี ไซเคิลจะนำฝากเข้ากองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล
การดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี ช่วยให้สามารถนำขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ มากกว่า 2,000 ตัน ทำให้ขยะรีไซเคิลไม่ปะปนไปกับขยะอื่นๆ ทำให้ลดภาระการบริหารจัดการขยะของภาครัฐ
การผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืช เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยนำเศษกิ่งไม้ ใบไม้ จากหน่วยงาน และพื้นที่ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการเผาทำลาย ลดต้นทุนการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม จึงเกิดการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชด้วยระบบกองเติมอากาศ
การผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชด้วยระบบกองเติมอากาศ จะเริ่มต้นจากการบดย่อยเศษกิ่งไม้ ใบไม้ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการหมักซึ่งใช้ระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ จากนั้นนำออกตากแดดให้แห้งก่อนนำมาบดอีกครั้ง ทิ้งให้จุลินทรีย์สงบประมาณ 3 วัน แล้วจึงนำไปใช้หรือจำหน่าย สำหรับปุ๋ยหมักที่ผลิตได้นั้นได้ส่งตัวอย่างทดสอบและได้มาตรฐานกรมวิชาการเกษตร ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมจนถึงปัจจุบัน (ปี 2551 - 2563) สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้มากกว่า 300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.8 ล้านบาท และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
การผลิตน้ำหมักชีวภาพ” เริ่มขึ้น ในปี 2552 ณ อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการสนับสนุนเครื่องมือและองค์ความรู้ ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงาน นักศึกษา บุคลากร มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ที่เกิดจากเศษอาหาร เพื่อลดการปนเปื้อนขยะทั่วไป และนำขยะอินทรีย์ที่ผ่านการคัดแยกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำมาหมักร่วมกับกากน้ำตาลและนำไปใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่นเหม็นจากขยะมูลฝอย และใช้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่รกร้างโดยการใช้จุลลินทรีย์ในการเร่งการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินเพื่อให้ดินมีสภาพดี
ปัจจุบันการได้มีปรับรูปแบบการผลิตน้ำหมักชีวภาพเนื่องจากอุปสรรคในการขนย้ายเศษอาหารและการนำมาหมัก จึงได้จำหน่ายเศษอาหารให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสุกรหรือปลาแทน โดยผ่านการประมูลและนำรายได้เข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนการผลิตน้ำหมักชีวภาพจึงปรับเป็นการนำหัวเชื้อบริสุทธิ์ EM (Effective Microorganisms) มาผสมกับกากน้ำตาลแล้วหมักไว้ 3 วัน เพื่อให้ได้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งสามารถรับน้ำหมักชีวภาพฟรี ในวันและเวลาราชการ คนละ 5 ลิตรต่อวัน และ ถ้าเกินกำหนด จะคิดเพิ่มในอัตราลิตรละ 5 บาท โดยนำรายได้เข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยได้มีแนวคิดในการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินการต่างๆ มาให้บริการแก่ชุมชน เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โดยในเบื้องต้นนำร่อง ด้วยการนำองค์ความรู้ในการจัดตั้งและการบริหารจัดการธนาคารขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัย พร้อมกับการสาธิตและแนะแนวทางการดำเนินโครงการ ตลอดจนการให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินโครงการโดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจให้นักเรียน/ครูและผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และเกิดรายได้จากขยะที่ผ่านการคัดแยก เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ร่วมสร้างชุมชนคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดพันธกิจสัมพันธ์ชุมชนโดยเริ่มจากโรงเรียน ครอบครัว และกระจายสู่สังคม ภายใต้โครงการ “พันธกิจสัมพันธ์ Eco Town มหิดลกับชุมชน”
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการสื่อสารองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมงานเปิดตัวเปิดตัวโครงการ “GC Think Cyecle Bank” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการต่อยอดโครงการ ส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยระบบธนาคารขยะรีไซเคิล ออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ต้นทาง ปลูกจิตสำนึกการคัดแยกขยะและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลัก Circular Economy พร้อมสร้างเครือข่ายการจัดการขยะจากระดับครัวเรือนสู่ระดับจังหวัด โดยได้เปิดตัว 12 โรงเรียนนำร่อง พร้อมกับชุมชนในระยอง เพื่อการดำเนินโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ณ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สำนักงานระยอง จังหวัดระยอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดอบรมการใช้โปรแกรมโครงการ Think Cycle Bank “ทิ้งแบบหมุนเวียน...เพื่อเปลี่ยนโลก” เพื่อเป็นการรณรงค์ ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการบริหารจัดการขยะ ทั้งการจัดเก็บ การแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชุมชนของตน และมีรายได้จากการนำขยะรีไซเคิลที่รวบรวมมาขายที่ธนาคารขยะเป็นผลพลอยได้อีกด้วย โดยมีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วม 10 โรงเรียน ณ ร้านอาหารหาดแสงจันทร์ซีฟู้ด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีจำนวนโรงเรียนในจังหวัดระยองเข้าร่วม จำนวน 22 โรงเรียน และมหาวิทยาลัยมหิดลยังได้ดำเนินการลงพื้นที่ในการตรวจเยี่ยม แก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 โครงการ Think Cycle Bank มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อ 8 Decent Work and Economic Growth เป็นกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการจ้างงานที่เท่าเทียมหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม ลดการว่างงาน สภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และข้อ 12 Responsible Consumption and Production เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า การจัดการขยะ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคมผ่านการจัดงานเสวนา จากสององค์กรต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างมหาวิทยาลัยมหิดลและบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “GC x Mahidol Webinar: Circular Economy & Sustainability for Higher Education” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 เพื่อนำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาเทคโนโลยีที่คำนึงถึงการผลิต การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การนำกลับมาผลิตใหม่ทำให้เกิดการเติบโตอย่าง ยั่งยืนบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่
1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายในหัวข้อ “ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนด้าน Circular Economy ของมหาวิทยาลัยมหิดล”
2. ดร.ชญาณ์ จันทวสุ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “Circular economy & Collaboration: Adaptability and Opportunity in Resilience Development”
3. Ms. Mari Nishimura UNEP บรรยายในหัวข้อ “Behavior Change on Campus”
4. รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนด้าน Sustainability และ Circular Economy ของมหาวิทยาลัยมหิดล”
โดยมีการเสวนาร่วมกันในหัวข้อ “การบูรณาการ YOU เทิร์น Platform by GC ในมหาวิทยาลัยมหิดล” ของผู้แทนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล โดยกิจกรรมนี้นำเสนอในรูปแบบ Online Oral Presentation ผ่านโปรแกรม Webex Events และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : Mahidol University Sustainability มีผู้ร่วมรับชมจำนวน 261 คน โดยผู้รับชมได้รับแรงบันดาล ใจในการนำความรู้ นำประโยชน์ที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ความยั่งยืน
การนำขยะรีไซเคิลเข้ากระบวนการผลิตได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านกิจกรรม “We turn” คืนขวดพลาสติก พัฒนาการแพทย์” เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการขวดพลาสติกใสผลิตเป็นเสื้อโปโล เพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยได้ตั้งเป้าหมายยอดบริจาคขวดพลาสติกใสไว้ที่ 8,000 ใบ เพื่อผลิตเป็นเสื้อโปโลจำนวน 400 ตัว จำหน่ายเนื่องใน “วันมหิดล” 24 กันยายน 2564 จึงนับเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรม Circular Living ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชนที่ส่งเสริมการใช้นำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ทำให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดโลกร้อน และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ป่วย COVID-19 ได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลติดตั้งถังรับบริจาคขวดน้ำพลาสติก จำนวน 5 จุด เพื่อรับบริจาคขวดพลาสติกจากนักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไป ในระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2564 ซึ่งจากความร่วมมือของทุกคนในการคัดแยกขยะและนำขวดพลาสติก มาบริจาคทำให้ได้ยอดบริจาคขวดพลาสติกเกินเป้าหมาย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 จึงสามารถส่งมอบขวดพลาสติกใสจำนวน 19,500 ขวด ให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปเข้าโรงงานในการทำความสะอาดและปันเป็นเศษ พลาสติกเพื่อผลิตเป็นด้ายสำหรับทอเป็นผ้าใช้ในการตัดเย็บเป็นเสื้อต่อไป ซึ่งจะแล้วเสร็จเป็นเสื้อโปโลและจำหน่ายได้ในวันมหิดล 24 กันยายน 2564
ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการได้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับว่าเป็นความร่วมมือเพื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามข้อ 12 Responsible Consumption and Production เป็นกิจกรรมหรือโครงการด้านการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและจัดการขยะ รวมทั้งยังส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล และข้อ 13 Climate action เป็นกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ช่วยลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย มหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563–2566 เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมจึงได้ทำโครงการ ต้นแบบอย่างพอเพียง (Sufficiency Model) เพื่อสื่อถึงองค์ความรู้ในรูปแบบของนิทรรศการ คือ การนำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัย โดยใช้อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นที่ตั้งของนิทรรศการ
ซึ่งโดยรอบอาคารจะเป็นพื้นที่สาธิตในการดำเนินการต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก ธนาคารขยะรีไซเคิล แปลงผัก พลังงานจากกังหัน เป็นต้น ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยภายในอาคารเป็นส่วนของนิทรรศการแยกออกเป็น 3 Zone คือ
Zone 1 : ความพอประมาณ บอกเล่าเรื่องราวแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำโคก หนอง นา โมเดล
Zone 2 : มีเหตุผล บอกเล่าเรื่องราวการประยุกต์ใช้หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยยั่งยืน
(SDGs in Cam[us) ผ่านสื่อวีดีทัศน์ เช่นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พลังงานสะอาด การจัดการพื้นที่สีเขียว
Zone 3 : มีภูมิคุ้มกันที่ดี คือการสร้างความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังความรู้ให้กับเด็กนักเรียนผ่านสื่อ Interactive ที่สามารถสัมผัส
และดึงดูดการเรียนรู้ได้ง่าย เช่น การคัดแยกขยะ และ 5R รวมถึงการเป็นพื้นที่โชว์ผลงานหรือผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานอื่นๆ ได้
มหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการ 2.1 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 120 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2564 และจะเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ประมาณต้นปี 2565 สิ่งที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ คือ องค์ความรู้ของแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับบริบทของมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เยี่ยมชมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา บุคลากร บุคคลทั่วไป จะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น (SDGs) เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามข้อ 4 Quality Education เป็นกิจกรรมหรือโครงการที่ส่งเสริมการศึกษา การให้ความรู้/อบรมให้คนภายนอก การบริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียนการสอน และข้อ 11 Sustainable Cities and Communities เป็นกิจกรรมหรือโครงการที่ส่งเสริมมรดกทางธรรมชาติ อนุสรณ์สถาน หรือภูมิทัศน์ หรือการจัดแสดงนิทรรศการ ศิลปะท้องถิ่น และพิพิธภัณฑ์