Ecosystem

ecosystem
Ecosystems and Biodiversity in Mahidol University
ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ตามผังแม่บทมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ 3 ระยะเวลา 15 ปี : พ.ศ. 2551 – 2566) ซึ่งมีแนวคิดมุ่งเน้นการพัฒนาทางกายภาพให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “เมืองมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ” หรือ “A promised place to live and learn with nature” เพื่อสร้างพื้นที่กิจกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยแนวทางการพัฒนาระบบภูมิทัศน์ โดยอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและระบบนิเวศของพื้นที่แต่ละส่วนให้มีสภาพเป็นธรรมชาติเดิมให้มากที่สุด และให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ที่จะดำเนินไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่บูรณาการสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ปราศจากมลพิษ มีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ส่งเสริมสุขภาวะ และกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อให้เอื้อต่อการพักผ่อนหย่อนใจ เอื้อต่อกิจกรรมการเรียนรู้ และมหาวิทยาลัยก็ยังคงมุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และธรรมชาติของพื้นที่เดิมไว้ เพื่อให้การอยู่อาศัยและการเรียนรู้เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับระบบนิเวศที่ยั่งยืน ตามแนวทางการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 15: Life on Land ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยยังพยายามฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายของพืชพันธุ์และสัตว์ประจำถิ่น และที่สำคัญยังมุ่งเน้นการเป็นผู้นำให้แก่ชุมชนข้างเคียงในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ และการต่อต้านการทำลายสัตว์หรือพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมายตาม นโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ พ.ศ. 2564 อีกด้วย
  • โดยได้พัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิมในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไว้จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณตอนเหนือของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และตอนใต้ของ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ พืชน้ำ สัตว์บกและสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งอพยพลี้ภัยของสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าในแง่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และห้องเรียนธรรมชาติสำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติอีกด้วย