การจัดการน้ำผิวดิน

มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีระบบจัดการน้ำผิวดินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำฝนและน้ำรีไซเคิลที่ผ่านการบำบัดจากระบบบบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง น้ำผิวดินที่สะสมในคูคลองและแหล่งน้ำต่างๆ จะนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้น้ำที่มากเกินไปและบริหารจัดการให้มีน้ำใช้เพียงพอในฤดูแล้ง อีกทั้งเน้น การปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้ทนแล้ง เพื่อลดการใช้น้ำและทำให้การดูแลรักษาง่ายขึ้น
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีธรรมชาติเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วม ด้วยสภาพพื้นที่เดิมเป็นนาข้าวและนาบัว การพัฒนาพื้นที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2517 ภายหลังที่ได้รับที่ดินเป็นของมหาวิทยาลัย มีการวางพื้นฐานระบบจัดการน้ำผิวดินโดยผังแม่บทมหาวิทยาลัยปี พ.ศ. 2517 (ฉบับแรก) และผังแม่บทมหาวิทยาลัยปี พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ 2) ได้จัดวางระบบคูคลองหลักซึ่งเป็นคูคลองขนาดใหญ่บริเวณรอบนอกตามแนวขอบพื้นที่มหาวิทยาลัยและบริเวณรอบในพื้นที่ พร้อมวางระบบระบายน้ำย่อย มีแนวคูระบายน้ำเชื่อมต่อกันครบวงจร นับว่าเป็นระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ทั้งพื้นที่มหาวิทยาลัย
การพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยในระยะเวลาที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบคูคลองไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในลำคลอง ที่เพิ่มการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่บริเวณสนามเปตอง และขุดคลองเพิ่มบริเวณด้านทิศใต้ของโซนพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมต่อคูคลองหลักเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการไหลเวียนน้ำเชื่อมต่อกันเป็นระบบ ขุดลอกคูคลองหลักเพื่อการระบายน้ำที่ดีและลดการเน่าเสียของน้ำ ตลอดจนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำย่อยบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน สร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัยเพื่อรวบรวมและบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่คูคลอง ลดปัญหาน้ำเน่าเสียในคูคลองและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
ecosystem
ecosystem
ecosystem
ผังแม่บทมหาวิทยาลัย ปีพ.ศ. 2551 เป็นผังแม่บทที่ปรับปรุงการใช้พื้นที่ซึ่งให้ความสำคัญกับสุขภาวะของคนและสภาพแวดล้อม ผังแม่บทดังกล่าวได้รับรางวัล IFLA AAPME Awards 2020 (International Federation of Landscape Architects Africa Asia Pacific Middle East) ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่คำนึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการกำหนดชนิดพรรณไม้ที่มีความเหมาะสมและทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำในความดูแลให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับการจัดการระบบระบายน้ำฝนและน้ำผิวดิน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ใช้การระบายด้วย บึงน้ำใหญ่ บ่อน้ำ คูระบายน้ำ ระบบรางเปิด และท่อระบายน้ำ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ระบายลงสู่คูคลองหลักโดยรอบมหาวิทยาลัยและภายในพื้นที่ รวบรวมน้ำฝนและน้ำผิวดินไปยังสถานีสูบน้ำออก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อาคารชลศาสตร์ 1 บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารชลศาสตร์ 2 มุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังใช้สถานีสูบน้ำดังกล่าวในการควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่ต้องการเพื่อให้ภูมิทัศน์และทัศนียภาพริมคูคลอง บ่อน้ำต่าง ๆ สวยงามอยู่เสมอ และพร่องน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมขัง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้วางระบบรดน้ำต้นไม้ สูบน้ำจาก คูคลองต่าง ๆ รวมทั้งน้ำจากการบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการบำรุงรักษาต้นไม้ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด

  • การจัดการน้ำผิวดินของมหาวิทยาลัยมหิดลข้างต้นมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันน้ำท่วมและเป็นการบริหารการใช้น้ำภายในพื้นที่ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ลุ่มน้ำตามธรรมชาติ และสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามยังสามารถใช้เป็นแหล่งนันทนาการและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมหิดลได้อีกด้วย โดยการพัฒนาดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) เป้าหมายที่ 6 (SDG6: Clean Water and Sanitation) และเป้าหมายที่ 15 (SDG15: Life on Land)