Waste

การบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนด นโยบายบริหารการจัดการขยะ และ แนวทางการบริหารจัดการขยะ โดยกำหนดขอบเขตการจัดการขยะ ออกเป็น 5 ประเภท คือ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะย่อยสลาย ขยะอันตรายชุมชน และขยะมูลฝอยติดเชื้อ ให้ครอบคลุมทั้งในพื้นที่ของส่วนกลางและพื้นที่ของส่วนงาน เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกิดระบบการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและมีสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อมุ่งสู่การเป็น มหาวิทยาลัยสีเขียวและสอดคล้องตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ต่อไป

ปริมาณกากของเสียที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
waste-pie-chart-th
ปริมาณกากของเสียที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
ประเภท ปริมาณกากของเสีย (ตัน)
ปี 2567
ขยะทั่วไป 3,341.72
ขยะรีไซเคิล 1,030.46
• เศษใบไม้/กิ่งไม้ 473.14
• เศษอาหาร 354.71
• บรรจุภัณฑ์และอื่นๆ 202.61
ขยะติดเชื้อ 707.25
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2.53
ขยะอันตราย 13.57
ขยะอื่น ๆ 1.81
รวม 5,097.35
1. ขยะทั่วไป

เป็นขยะที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ยาก นำไปรีไซเคิลไม่ได้ หรือไม่คุ้มทุนต่อการนำไปรีไซเคิล ต้องนำไปกำจัด เช่น ซองขนม ถุงพลาสติก กล่องโฟม หลอดกาแฟ เป็นต้น ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจัดให้มีจุดทิ้งขยะตั้งอยู่โดยรอบ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย และจัดให้มีจุดพักขยะในพื้นที่ส่วนกลาง จำนวน 6 จุด เพื่อเป็นจุดรวบรวมขยะจากอาคารหรือส่วนงาน ไม่ให้เกิดการสะสมของปริมาณขยะมากเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำชะขยะหรือสัตว์นำโรค มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมทุกวันในช่วงเช้ามืด โดยเทศบาลศาลายาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขนย้ายไปยังบ่อฝังกลบขยะหรือจุดกำจัดต่อไป

2. ขยะรีไซเคิล

ขยะรีไซเคิล เป็นวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก กล่องเครื่องดื่ม กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนด นโยบายการส่งเสริมการลดใช้พลาสติกและงดใช้โฟม ตลอดจนส่งเสริมการคัดแยกขยะซึ่งจะสามารถนำไปสู่การจัดการขยะอย่างเป็นระบบของมหาวิทยาลัยได้ ผ่านการรับซื้อขยะภายใต้โครงการ ธนาคารขยะรีไซเคิล โดยนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอก สามารถเข้าร่วมโครงการได้

3. ขยะอินทรีย์ หรือขยะย่อยสลาย

เป็นของเสียที่สามารถย่อยสลายได้โดยง่าย เช่น เศษกิ่งไม้ เศษใบไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ขยะย่อยสลายที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนั้น จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิต วัตถุอินทรีย์บำรุงดิน หรือ “ฮิวมัส ศาลายา”



โดยการผลิตวัตถุอินทรีย์บำรุงดินจะใช้วิธีการบดย่อยวัตถุดิบแล้วนำเข้าสู่กระบวนการหมักประมาณ 1 เดือน จากนั้นนำออกมาตากแดดให้แห้งก่อนนำมาบดละเอียด พักทิ้งไว้ 3 วันแล้วจึงนำไปใช้งานหรือบรรจุถุงต่อไป การจัดการขยะอินทรีย์เองภายในมหาวิทยาลัยนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะและลดการเผาทำลายแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างมูลค่าจากของเสียที่เกิดขึ้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำให้ลดต้นทุนการบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียว และสร้างรายได้เข้ามหาวิทยาลัย



สำหรับขยะเศษอาหารจากโรงอาหารและจากถังขยะรับเศษอาหารภายในอาคาร จะมีการรวบรวมเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปเลี้ยงสุกรหรือปลา เป็นการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงปศุสัตว์และช่วยลดขยะไปหลุมฝังกลบ

4. ขยะอันตรายชุมชน

เป็นวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ หรือขยะที่ปนเปื้อนที่มีองค์ประกอบของวัตถุหรือสารอันตราย ที่มีลักษณะเป็นสารพิษ สารไวไฟ สารเคมีที่กัดกร่อนได้ สารกัมมันตรังสี และสารที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยมีของเสียอันตรายจากชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่โทรศัพท์ หลอดฟลูออเรสเซนต์ กระป๋องสี กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในระหว่างขั้นตอนการจัดเก็บ การขนส่ง และการกำจัด โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป และได้ส่งกำจัดของเสียอันตรายจากชุมชนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป


5. ขยะมูลฝอยติดเชื้อ

เป็นมูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณหรือความเข้มข้นซึ่งหากมีการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับมูลฝอยนั้นแล้วสามารถทำให้เกิดโรคได้ โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาได้กำหนดแนวทางการทิ้งขยะติดเชื้อ รายละเอียดแสดงดังภาพ