พื้นที่สีเขียว

ผังแม่บทมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2551 มีแนวคิดในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้าง “มหาวิทยาลัยเมืองในฝัน” ส่งเสริมการอยู่อาศัยและการเรียนรู้ควบคู่ไปกับธรรมชาติ (“A promise place to Live and Learn with Nature”) โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการศึกษา มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีลักษณะทางกายภาพที่ตอบสนองสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเป็นบ้านที่สอง และเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวมหิดลทั้งมวล โดยปัจจัยสำคัญของการพัฒนาดังกล่าวมีปัจจัยหลัก 3 ปัจจัย คือ ด้านสังคม ด้านกายภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม

แนวคิดหลักที่สำคัญในการสร้างมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ควบคู่ไปกับธรรมชาติ คือ มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเป็นสวนพฤกษศาสตร์ (Arboretum) อันเป็นแนวทางหลักของการพัฒนาทางกายภาพของมหาวิทยาลัย ที่จะดำเนินไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่บูรณาการสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ส่งเสริมสุขภาวะ สะอาด ปราศจากมลพิษ มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า มีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย กลมกลืนกับธรรมชาติ มีพื้นที่โล่ง พื้นที่สีเขียว เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเอื้อต่อกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังส่งเสริมการลดการใช้พลังงาน สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้นักศึกษาและประชาคมชาวมหิดล สามารถอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น การพัฒนาดังกล่าว ยังมุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นผู้นำแก่ชุมชนข้างเคียงด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอีกด้วย

มหาวิทยาลัยได้ขยายกรอบความคิดจากมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ในการพัฒนาทางกายภาพไปสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวคือ การส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยดำเนินการปรับนโยบายเพื่อมุ่งสู่การเป็น มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน (Sustainable University) โดยดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Mahidol University Sustainability Action) ตาม 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : 17 SDGs) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกำหนดแผน “9 to Zero” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี หรือ ภายในปี ค.ศ.2030 ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในอาคาร รอบนอกอาคาร เพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

มหาวิทยาลัยได้ขยายกรอบความคิดจากมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ในการพัฒนาทางกายภาพไปสู่มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวคือ การส่งเสริมความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยดำเนินการปรับนโยบายเพื่อมุ่งสู่การเป็น มหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน (Sustainable University) โดยดำเนินการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Mahidol University Sustainability Action) ตาม 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : 17 SDGs) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกำหนดแผน “9 to Zero” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี หรือ ภายในปี ค.ศ.2030 ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในอาคาร รอบนอกอาคาร เพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีทรัพยากรพันธุ์ไม้และแหล่งน้ำอยู่มาก การพัฒนาต้องก่อเกิดดุลยภาพระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา จึงมีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พัฒนาอย่างชัดเจน โดยคงรักษาพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวตามผังแม่บทมหาวิทยาลัยไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อสร้างเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นที่สีเขียว และเก็บรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ รวมทั้ง การรักษาระบบนิเวศของพื้นที่แต่ละส่วนให้มีสภาพเป็นธรรมชาติเดิมให้มากที่สุด และจัดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ใหม่ให้มากขึ้น โดยการเพิ่มปริมาณต้นไม้ในมหาวิทยาลัย พัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างหรือไม่มีการใช้ประโยชน์ พื้นที่รอบอาคาร ระเบียง ดาดฟ้า และโถงภายในอาคาร ให้เป็นพื้นที่สีเขียวแนวราบหรือสวนแนวตั้ง ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของมหาวิทยาลัย ที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านกายภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ (Natural Habitats) ถือเป็นหนึ่งในการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากบรรยากาศโดยกระบวนการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ในชั้นบรรยากาศที่มีผลประโยชน์ร่วม (Co - benefits) กับการใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น การฟื้นฟูธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาระบบนิเวศและการลดลงของชนิดพันธุ์ นอกจากนี้ พื้นที่สีเขียวช่วยลดอุณหภูมิความร้อน เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ดูดซับและกรองฝุ่น ควัน และมลพิษต่าง ๆ ในอากาศ ช่วยสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนประชาคมชาวมหิดลได้ตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็น Landmark ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดลมีพื้นที่ป่าไม้/พื้นที่สีเขียวมากกว่า 7,281 ไร่ (ข้อมูลภายใต้โครงการสำรวจพื้นที่สีเขียว มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2565) ประกอบด้วย วิทยาเขตกาญจนบุรี จำนวน 6,000 ไร่ โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous forest) ลักษณะพื้นที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและกำลังเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนพื้นที่เสื่อมโทรม วิทยาเขตนครสวรรค์ จำนวน 381 ไร่ ลักษณะพื้นที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยสภาพพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าเบญจพรรณและมีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นภูเขาหินปูน พื้นที่โดยส่วนใหญ่ยังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ วิทยาเขตอำนาจเจริญ จำนวน 338 ไร่ โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทรายและมีหินทราย สภาพพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าเต็งรัง และพื้นที่ศาลายาจำนวน 562 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 106,597 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


วิทยาเขตกาญจนบุรี

วิทยาเขตนครสวรรค์

วิทยาเขตอำนาจเจริญ

ตัวอย่างพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัยมหิดล

  • อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มีพื้นที่ 37 ไร่ เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเพื่อการศึกษาและวิจัย โดยรวบรวมพืชสมุนไพรไว้ประมาณ 600 ชนิด
  • Mahidol Eco Park อยู่บริเวณพื้นที่ลานหน้าหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล มีพื้นที่โดยประมาณ 6 ไร่ (9,600 ตารางเมตร) เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน สร้างทางเลือกใหม่สำหรับการเรียนการสอนนอกห้องเรียนเพื่อให้เกิด Activity and Learning ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งพักอาศัยท่ามกลางธรรมชาติอย่างบูรณาการ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางพื้นที่โซนการศึกษา
  • สวนเจ้าฟ้า มีพื้นที่สวนประมาณ 11,800 ตารางเมตร อยู่ระหว่างศูนย์การเรียนรู้มหิดลและมหิดลสิทธาคาร
  • ลานมหิดล มีพื้นที่โดยประมาณ 4,500 ตารางเมตร อยู่ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • ลานหน้าสำนักงานอธิการบดี มีพื้นที่โดยประมาณ 5,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างสำนักงานอธิการบดีและวิทยาลัยนานาชาติ
  • ลานเป็ดขาว มีพื้นที่โดยประมาณ 4,000 ตารางเมตร อยู่ด้านหน้าคณะกายภาพบำบัด
  • บริเวณโดยรอบอาคาร เช่น พื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

Mahidol Eco Park

สวนเจ้าฟ้า

ลานมหิดล

บริเวณโดยรอบอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล

บริเวณกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม

สวนแนวตั้งในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สามารถพบเห็นสวนแนวตั้งได้หลายแห่งและหลายรูปแบบ ทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนงานมหาวิทยาลัย เป็น Landmark ของมหาวิทยาลัยและที่จดจำของผู้พบเห็น ช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

1. อาคารมหิดลอดุลยเดช-พระศรีนครินทร คณะพยาบาลศาสตร์ ลักษณะเป็นรางคอนกรีตบนโครงสร้างโดยรอบอาคารที่ถูกออกแบบเฉพาะ บรรจุดินและวัสดุยึดราก ปลูกต้นปีบ

2. อาคารจอดรถสิทธาคาร ลักษณะเป็นรางคอนกรีตบริเวณระเบียงกันตกโดยรอบอาคาร ออกแบบก่อสร้างมาพร้อมอาคาร บรรจุดินปลูกต้นสร้อยอินทนิล

3. อาคาร 3-4 คณะวิทยาศาสตร์ (บริเวณด้านหน้าอาคาร) ลักษณะเป็นรางคอนกรีตบริเวณกันสาดรอบอาคาร ออกแบบก่อสร้างมาพร้อมอาคาร บรรจุดินปลูกพืชพันธุ์หลากหลาย

4. อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านสัตวศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ลักษณะเป็นกระถางปลูกต้นไม้ขนาดเล็กวางบริเวณกันสาด คอร์ทกลางอาคาร ปลูกพืชพันธุ์หลากหลาย

5. หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (บริเวณด้านหน้าอาคาร) เป็นสวนแนวตั้งผนังตะแกรงเหล็ก ปลูกไม้เลื้อยและวางกระถางต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น พลูด่าง

6. สวนแนวตั้งบริเวณด้านหน้าเรือนเพาะชำ ตรงข้ามลานจอดรถ 3 กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ลักษณะเป็นสวนแนวตั้งผนังผ้ายึดติดโครงผนังเหล็กในแนวรั้วเดิมของ MU Garden ขนาดสวนแนวตั้ง สูง 2.4 เมตร ยาว 37.0 เมตร พันธุ์ไม้ตกแต่งลวดลาย ได้แก่ สับปะรดสี บุษบาฮาวายด่าง พุดศุภโชค แดงชาลี และหนวดปลาหมึกเขียว พร้อมระบบรดน้ำอัตโนมัติ

7. สวนแนวตั้งลานเป็ดขาวและสวนแนวตั้งวงเวียนถนนวิถีปัญญา ใกล้กับลานจอดรถ 4 มีแนวคิดในการออกแบบเหมือนกันคือ ใช้ความแตกต่างของสีสัน และ ความหลากหลายของพรรณพืช เช่น ต้นแดงชาลี ต้นศุภโชค ต้นหัวใจเศรษฐี ต้นบุษบาฮาวาย ต้นเทียนทอง ต้นหนวดปลาหมึกสร้างสรรค์ โดยสวนแนวตั้งทั้งสองจุดจะยึดติดกับโครงเหล็ก ความสูง 3.30 เมตร ความยาว 21.98 เมตร พร้อมมีระบบรดน้ำอัตโนมัติ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมการนำพื้นที่ว่างหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวปัจจุบันมาพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการศึกษา กีฬา นันทนาการ และเป็นองค์ประกอบอาคารอย่างสมดุล โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่กิจกรรม ทางเดินต่างๆ และการปรับปรุงพื้นที่แหล่งน้ำ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับธรรมชาติและเกิดปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมของประชาคมชาวมหิดลมากขึ้น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและบรรยากาศที่ดีและปลอดภัยในการทำงาน มีการสร้างภูมิทัศน์ สวนสาธารณะ ที่มีความหลากหลายของพืชพรรณต่างๆ ทั้งพืชพรรณไม้พื้นถิ่น พืชสมุนไพร และพืชพรรณเพื่อการศึกษาวิจัย รวมไปถึงการสร้างเอกลักษณ์และเหมาะสมของพื้นที่ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมของมหิดล ก่อให้เกิดการใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนและสังคม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 11 (SDG11: Sustainable Cities and Communities), เป้าหมายที่ 13 (SDG13: Climate Action) และเป้าหมายที่ 15 (SDG15: Life on Land)