9 To Zero

9 To Zero
“การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายในปี พ.ศ.2573”
“9 to Zero” หรือ “ก้าวสู่ศูนย์” จึงเป็นแผนของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยสุทธิเป็นศูนย์ภายใน 9 ปี หรือ ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ที่จะสนับสนุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเทียบกับการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรณีปกติ (Business As Usual) เป็น 3 ระยะ คือ
ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 65 % ภายใน พ.ศ.2567 (ค.ศ.2024)
ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 85 % ภายใน พ.ศ.2570 (ค.ศ.2027)
ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 100 % ภายใน พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)

มหาวิทยาลัยมหิดลมีการดำเนินการติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยได้รวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรทั้ง 3 ขอบเขต เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • image
    ขอบเขตที่
    1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง
    (Direct Emission)

    ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้อยู่กับที่ (Stationary Combustion) เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่องค์กรเป็นเจ้าของ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เคลื่อนที่ (Mobile Combustion) เช่น การใช้ยานพาหนะขององค์กร การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่เคลื่อนที่ได้ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการรั่วไหลอื่น ๆ (Fugitive Combustion) เช่น การรั่วไหลของสารทำความเย็น การใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ย การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

  • image
    ขอบเขตที่
    2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emission)

    กล่าวคือ ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในองค์กร

  • image
    ขอบเขตที่
    3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Other indirect Emission)

    ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลบางส่วน เช่น การใช้น้ำประปา การใช้กระดาษ ปริมาณการเกิดขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเดินทางไปราชการ (Business Travel) การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเดินทางของพนักงานด้วยยานพาหนะส่วนตัว (Employee Commuting) เป็นต้น

“ก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วย 9 หลักการ”
  • image
    ก้าวที่ 1 การใช้พลังงานทดแทน
    การส่งเสริมการเพิ่มพลังงานทดแทนภายในมหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อ เพลิงฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในระหว่างการผลิต ซึ่งพลังงานทดแทนที่มาใช้ภายในมหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ ลักษณะอาคาร ลักษณะภูมิอากาศ เช่น การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในหลายอาคาร ไม่ว่าจะเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ อาคารสำนักงานระบบบำบัดน้ำเสียรวม สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภายใน มหาวิทยาลัยมากที่สุด
  • image
    ก้าวที่ 2 การใช้ทรัพยากรอย่าง มีประสิทธิภาพ
    การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เข้าถึงทุกส่วนงาน รวมถึงการสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับมหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรในระบบ และมีการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเริ่มได้ที่ตัวเราหรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรได้ เช่น การสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการที่ทำงานที่มีการรณรงค์การใช้กระดาษสองหน้า การรณรงค์เรื่องการใช้น้ำและไฟฟ้า การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำกลับมาใช้งานเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำประปา (https://op.mahidol.ac.th/pe/2021/10246/) กิจกรรม Circular economy ที่เกิดจาก “ปรับ” เพื่อ “เปลี่ยน” การส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคม และ Upcycling ที่สามารถลดขยะ และได้ผลิตภัณฑ์ใหม่
  • image
    ก้าวที่ 3 การคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    การส่งเสริมการคมนาคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และสนับสนุนให้ทุกส่วนงานร่วมมือกันปรับปรุง ปรับเปลี่ยนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกโดยภาพรวมแล้ว ยังสามารถลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เช่น การใช้พลังงานสะอาดในการคมนาคมโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้ระบบไฮบริด การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ โดยการกำหนดการบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างเหมาะสม การสนับสนุนรูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้รถราง การใช้จักรยาน การเดิน การใช้รถบัสมหาวิทยาลัย การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทางเดียวกันไปด้วยกัน
  • image
    ก้าวที่ 4 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดกลับก๊าซเรือนกระจก
    การส่งเสริมการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในอาคาร รอบนอกอาคาร รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางให้กับทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย อย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณพื้นที่รกร้าง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวแนวตั้ง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนอาคาร การสำรวจและวัดการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการและขยายพื้นที่สู่ทุกวิทยาเขต เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวในการทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย โดยพื้นที่สีเขียวที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ นอกจากการดูแลและเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้หน่วยงานให้ความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านรูปแบบโครงการหรือกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง เสริมสร้างองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนและเกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น
  • image
    ก้าวที่ 5 การจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
    การส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับทุกส่วนงาน และเพิ่มร้อยละของรายการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการแบบเดียวกัน และยังเป็นกลไกกระตุ้นให้ผู้ผลิตหรือผู้บริการพัฒนาวิธีการผลิตเพื่อตอบสนองการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้
    มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการกำหนด แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนบปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมการผลิตในประเทศ โดยให้ดำเนินการตรวจสอบ รายชื่อและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ จาก 37 รายการ ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสารหรืองานพิมพ์ทั่วไป กระดาษถ่ายเอกสารหรืองานพิมพ์ทั่วไป ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด หลอดฟลูออเรสเซนซ์ เครื่องเรือน กระดาษชำระ แบตเตอรี่ปฐมภูมิ ปากกาไวต์บอร์ด เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ ตลับหมึก สีทาอาคาร ซองเอกสาร แฟ้มเอกสาร กล่องใส่เอกสาร รถยนต์ น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเชื้อเพลิง บริการทำความสะอาด บริการเช่าเครื่องถ่ายเอกสาร บริการโรงแรม
  • image
    ก้าวที่ 6 งานวิจัยและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลดหรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
    มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถสนับสนุนการลดหรือดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษา นักวิชาการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
  • image
    ก้าวที่ 7 การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน
    มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี จึงได้สนับสนุนและส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชเป็นพื้นฐาน โดยสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาหันมาเลือกบริโภคอาหารประเภท Plant-Based โดยเน้นการบริโภคพืช ผัก ผลไม้ แทนเนื้อสัตว์เป็นหลัก ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้ใน วันสิ่งแวดล้อมโลกในหัวข้อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งการรับประทานอาหาร Plant-Based จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มทางเลือกการบริโภคด้วยการเพิ่มเมนูอาหารประเภท Plant-Based ของทุกร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย
  • image
    ก้าวที่ 8 ขยะสู่แหล่งฝังกลบเป็น ศูนย์
    มหาวิทยาลัยมหิดลส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse Recycle) และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าของขยะที่เกิดขึ้น เพื่อลดการเกิดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น
    - การเพิ่มมูลค่าขยะโดยการเปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการ Upcycling
  • image
    ก้าวที่ 9 การพัฒนารูปแบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก
    มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการติดตามการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และชดเชยคาร์บอนให้แก่ส่วนงาน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาโปรแกรมอัจฉริยะหรือ MU ECODATA (https://ecodata.mahidol.ac.th/) เพื่อเป็นให้ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนส่งเสริม การพัฒนาอุปกรณ์และระบบการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจก อย่างมีประสิทธิภาพ