พื้นที่ชุ่มน้ำ

พื้นที่โดยทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ เดิมเป็นนาข้าวและนาบัว ปัจจุบันภายในพื้นที่ศาลายายังคงมีลักษณะของพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติดั้งเดิมหลงเหลืออยู่จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณตอนเหนือของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และตอนใต้ของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นพื้นที่น้ำท่วมในฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้งสลับกันไปตามฤดูกาลธรรมชาติเป็นวัฏจักร มีความหลากหลายทางระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ขึ้นปกคลุมหนาแน่น บริเวณภายในพื้นที่มี หนองน้ำและที่ลุ่มชื้นแฉะ สามารถพบเห็นพรรณไม้น้ำได้หลากหลายชนิด

นอกจากพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มี "ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ" ที่สร้างขึ้นมาใหม่ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อการรระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในการสร้างและออกแบบจะคำนึงถึงการอนุรักษ์ดั้งเดิม ให้ความสำคัญในการปรับปรุงรักษาสภาพแวดล้อม จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของทั้งพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์

ตัวอย่างของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งที่เป็นธรรมชาติและสร้างขึ้นใหม่ ได้แก่

  • บึงน้ำขนาดใหญ่ มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 20 - 100 เมตร ความลึกประมาณ 3 เมตร มีทางระบายน้ำเชื่อมต่อกับร่องน้ำรอบมหาวิทยาลัย เช่น บึงน้ำอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรี รุกขชาติ บึงน้ำหลังเรือนไทย บริเวณพื้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
  • สระน้ำ ขนาดเล็กกว่าบึง มีทางเชื่อมต่อกับร่องน้ำใหญ่ของมหาวิทยาลัย เช่น สระน้ำบริเวณป้ายอาคารภูมิพลสังคีต
  • บ่อน้ำ สร้างใหม่เพื่อปรับภูมิทัศน์ หรือรองรับน้ำจากบริเวณโดยรอบ บางแห่งมีทางระบายน้ำเชื่อมต่อกับคลองหรือร่องน้ำ เช่น บ่อน้ำหน้าตึกบัณฑิตวิทยาลัย บ่อน้ำข้างสนามฟุตบอล
  • บ่อรับน้ำเสีย มีขนาดความกว้างมากกว่า 10 เมตร ความลึกมากกว่า 2 เมตร สร้างขึ้นเพื่อรองรับน้ำจากอาคารชุดพักอาศัย อาคารใกล้เคียง เพื่อระบายไปสู่บ่อบำบัด เช่น บ่อน้ำ บริเวณประตู 5 อาคารชุดพักอาศัย
  • ร่องน้ำใหญ่ที่ขุดขึ้น มีความกว้าง 10-17 เมตร ความลึก 2-4 เมตร เพื่อรองรับน้ำ ระบายน้ำไปสู่บ่อบำบัด และเป็นเส้นทางระบายน้ำภายในมหาวิทยาลัย เช่น ร่องน้ำบริเวณคณะเทคนิคการแพทย์
  • คูน้ำ มีความกว้างประมาณ 2 เมตร ความลึกประมาณ 1 เมตร สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามของภูมิทัศน์และเป็นทางระบายน้ำเชื่อมโยงกับร่องน้ำและบ่อน้ำหรือบ่อบำบัด เช่น คูน้ำ บริเวณสวนเจ้าฟ้า คูน้ำบริเวณหน้าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน


บึงน้ำหลังเรือนไทย

สระน้ำบริเวณอาคารภูมิพลสังคีต

ร่องน้ำบริเวณถนนดำรงวิจัย

บึงน้ำอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

คูน้ำบริเวณสวนเจ้าฟ้า

บ่อน้ำข้างสนามฟุตบอล


พื้นที่ชุ่มน้ำภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงจัดเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อการศึกษา วิจัย พรรณไม้ที่พบมีมากกว่า 54 ชนิด แบ่งเป็นประเภทดังนี้

  • พรรณไม้ชายน้ำ (Marginal Plants) ขึ้นอยู่ริมตลิ่งหรือชายฝั่งน้ำในบริเวณน้ำตื้น มีรากเจริญอยู่ในดิน ชูส่วนลำต้น ใบ ดอก ขึ้นมาเหนือน้ำ เช่น กก ธูปฤาษี โสน
  • พรรณไม้โผล่เหนือน้ำ / พรรณไม้ยืนน้ำ (Emergents) เจริญเติบโตอยู่ในน้ำบางส่วน รากและลำต้นเจริญเติบโตใต้น้ำ รากยึดติดกับพื้นดินใต้น้ำได้ดี เช่น แว่นแก้ว บัวผัน บัวหลวง บัวสาย
  • พรรณไม้ลอยน้ำ (Floating Plants) เจริญเติบโตและลอยอยู่ที่ผิวน้ำ รากเจริญอยู่ใต้น้ำ ต้น ดอก ใบ ชูขึ้นเหนือระดับน้ำหรือเจริญอยู่ที่ระดับน้ำ เช่น ไข่น้ำแหนเป็ด ผักตบชวา ผักบุ้ง จอกหนู แหนแดง
  • พรรณไม้ใต้น้ำ (Submergents) เจริญเติบโตอยู่ใต้น้ำทั้งหมด ราก ลำต้น ใบ จมอยู่ใต้น้ำ อาจยึดเกาะกับพื้นดินใต้น้ำหรือไม่ก็ได้ โครงสร้างภายในลำต้นและใบมีช่องว่างเพื่อใช้สะสมก๊าซและช่วยพยุงตัวให้ลอยได้ เช่น สาหร่ายบัว สาหร่ายหางกระรอก
ecosystem
นอกจากความหลากหลายของพรรณไม้ ยังเอื้อต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์หลายชนิด เช่น นกน้ำ นกทุ่ง ผีเสื้อ กระรอก กบ เต่า ตัวเงินตัวทอง สัตว์น้ำ แมลงปอ หนอนและแมลงต่าง ๆ โดยเฉพาะเป็นแหล่งอพยพลี้ภัยของนกสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในเมืองหลายชนิด อาทิ เป็ดแดง นกเป็ดผีเล็ก นกกะปูดใหญ่ นกชายเลนบึง นกอีโก้ง นกนางนวลธรรมดา นกนางนวลแกลบเคราขาว นกกาน้ำเล็ก นกกระสาแดง นกยางโทนใหญ่ นกยางควาย นกยางเขียว นกปากห่าง นกกาแวน นกแซงแซวหงอนขน นกกระจาบทอง นกกระเต็นอกขาว นกบั้งรอกใหญ่ นกอีแพรดแถบอกดำ เป็นต้น พืชและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในแง่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การศึกษาพฤติกรรมของนก และห้องเรียนธรรมชาติสำหรับการศึกษาภาคปฏิบัติของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยจำนวนหลายแห่ง อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ เป็นต้น ใช้เป็นสื่อการสอนเกี่ยวกับระบบนิเวศธรรมชาติ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พฤกษศาสตร์ สัตววิทยา เป็นต้น นอกจากนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ยังเอื้อต่อการศึกษาวิจัยของนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ตลอดจนอาจารย์และบุคลากรอีกด้วย


มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่ชุ่มน้ำ ผังแม่บทมหาวิทยาลัยฉบับ ปี พ.ศ.2551 จึงได้กำหนดเป็น “พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ” เพื่อกิจกรรมการเรียนรู้ การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นระบบนิเวศดั้งเดิม และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยห้ามการใช้ประโยชน์ที่ดินในกิจกรรมอื่น ๆ และกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) เป้าหมายที่ 6 (SDG6: Clean Water and Sanitation), เป้าหมายที่ 13 (SDG13: Climate Action) และเป้าหมายที่ 15 (SDG15: Life on Land)