มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนความเท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ โดยให้โอกาสในการศึกษาและทำงานอย่างเท่าเทียม นักศึกษาสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศสภาวะ ที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ในเวลาที่มีการเรียนการสอน รวมถึงในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพิธีรับอนุปริญญาบัตร ได้ตาม " ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยเรื่องเครื่องแต่งกายนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2564 " มหาวิทยาลัยไม่จำกัดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติ หรือผู้ที่มิได้ถือสัญชาติไทยสามารถเข้ามาศึกษาต่อได้ตาม “ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้มิได้มีสัญชาติไทย พ.ศ. 2560 ” รวมถึง ไร้สัญชาติ ที่ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาไร้สัญชาติ จำนวน 9 ราย และผู้พิการทางกายภาพก็สามารถเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนนักศึกษาผู้พิการทางกายภาพให้สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้เท่าเทียมกับนักศึกษาทั่วไป เช่น หลักสูตรของวิทยาลัยราชสุดา ซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางกายภาพในประชาคมอาเซียน มีหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอกสำหรับผู้พิการทางกายภาพมีงานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพและบริการนักศึกษาผู้พิการทางกายภาพ เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างโอกาสทางการประกอบอาชีพสู่การเป็นผู้ประกอบการต่อไป มหาวิทยาลัยยังมีหน่วยบริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาผู้พิการทางกายภาพ ที่มีหน้าที่จัดรูปแบบการเรียนการสอน อำนวยความสะดวกในการสอบ รวมทั้งจัดหาบริการสื่อด้านการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น บริการผลิตสื่ออักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตา รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ทดแทนเมาส์ โปรแกรมขยายจอภาพ ทางลาดพกพา ทางมหาวิทยาลัยยังจัดสรรสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น แผนที่แสดงจุดจอดรถผู้พิการ ลิฟท์บันไดสำหรับรถเข็นวีลแชร์ หอพักผู้พิการ เตียงนอนผู้พิการรวมถึงทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาผู้พิการทางกายภาพอย่างไม่จำกัดจำนวน มหาวิทยาลัยยังได้สร้างจิตสำนึกตามหลักธรรมภิบาล ในทุกระบบการบริหารให้เป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ และปลูกฝังเรื่องจรรยาบรรณตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัย สำหรับการตัดสินใจในเรื่องสำคัญหรือนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จะต้องดำเนินการผ่านเวทีการประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญ กับสิทธิในการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลายของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน