เน็ตป๊าม้า (Net PAMA)

detail

            การพัฒนาและขยายผลห้องเรียนเน็ตป๊าม้า เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่าน www.netpama.com แต่จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้เรียนหลายคนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งด้านความเสถียรของสัญญาณและค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก จึงได้มีแผนขยายผลโครงการผ่านการอบรมกระบวนกรเน็ตป๊าม้าให้กับบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งในหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ให้มีทักษะและองค์ความรู้ในการนำโปรแกรมเน็ตป๊าม้าไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองในชุมชนให้สามารถเข้าถึงบริการจากภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และทักษะในการเลี้ยงดูลูกที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต สัมพันธภาพอันดี และลดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในครอบครัวได้

            เน็ตป๊าม้า (Net PAMA)   เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อพัฒนาและออกแบบเนื้อหาหลักสูตรการเลี้ยงลูกเชิงบวกให้เป็นการเรียนรู้แบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองมีเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างถูกต้อง ส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว และฝึกให้ผู้ปกครองมีทักษะในการรับมือกับปัญหาพฤติกรรมของลูก โดยมี ศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ รวมถึงนักจิตวิทยาอีกหลายท่าน ในการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง

 

          ก่อนที่จะมาเป็นหลักสูตรออนไลน์นั้น Net PAMA มีจุดเริ่มต้นมาจากสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นสถาบันแรกที่มีการสอนหลักสูตรวิธีการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก Parent Management Training (PMT) ให้กับพ่อแม่มานานกว่า 20 ปี โดยการอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมแบบออนไซต์ จำนวน 8 ครั้ง สามารถเปิดรับผู้ปกครองได้เพียงครั้งละ 30 คนเท่านั้น แต่เนื่องจากผู้ปกครองไม่สะดวกในการเดินทาง หรือมาเข้าอบรมได้ไม่ครบทุกครั้ง ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองทั่วประเทศได้เรียนรู้จิตวิทยาการเลี้ยงลูกเชิงบวก จึงได้พัฒนาหลักสูตรเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่รุ่นใหม่ ให้สามารถเข้าเรียนได้จากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เพียงแค่ลงทะเบียนและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่ www.netpama.com โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

มีคอร์สเรียนให้เลือก 2 คอร์ส ได้แก่

  • คอร์สเร่งรัด : เหมาะสำหรับผู้ปกครองที่มีเวลาน้อย และต้องการแนวทางในการปรับพฤติกรรมลูกที่ตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เพียงแค่คลิกเลือกพฤติกรรมของลูกจากตัวเลือกที่มีให้ ระบบจะคำนวณว่าคลิปวิดีโอใดเหมาะกับพฤติกรรมของลูกท่านมากที่สุด แล้วเริ่มเรียนเลย ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อคลิป
  • คอร์สจัดเต็ม : มีทั้งหมด 6 บทเรียน ครอบคลุมทุกเทคนิคในการปรับพฤติกรรมลูก ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรม การสื่อสาร การชม การให้รางวัล การลงโทษ และเทคนิคการทำตารางคะแนน ในแต่ละบทเรียนประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้โดยจิตแพทย์เด็ก การดูกรณีศึกษา การเล่นเกม การทำแบบฝึกหัดและการบ้าน ที่จะช่วยให้ผู้ปกครองได้ฝึกฝนทักษะจนมั่นใจ แต่ละบทจะใช้เวลาเรียนประมาณ 1.30 ชั่วโมง เมื่อเรียนจบและทำการบ้านครบทั้ง 6 บทเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรด้วย

 

        หลังจากเปิดเว็บไซต์ให้สามารถเข้าเรียนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา มีผู้ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 12,000 คน ซึ่งมีผู้เรียนจบคอร์สจัดเต็มทั้ง 6 บทเรียน จำนวนทั้งสิ้น 1,895 คน เฉลี่ยปีละประมาณ 600 คน เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับการจัดอบรมแบบเดิมในรูปแบบออนไซต์ (150 คนต่อปี) และมีผู้เรียนคอร์สเร่งรัดรวมทุกบทเรียน จำนวน 3,826 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567)

           

          แต่จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาการใช้งานพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน จึงมีแนวคิดที่จะขยายโอกาสการเรียนรู้ไปยังผู้ปกครองกลุ่มขาดโอกาสดังกล่าวผ่านการจัดตั้ง “ห้องเรียนเน็ตป๊าม้า” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินการจัดตั้งห้องเรียนเน็ตป๊าม้า และจัดอบรมกระบวนกร (facilitators) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวก (positive parenting) โดยใช้โปรแกรมเน็ตป๊าม้าเป็นสื่อการเรียนรู้ ให้แก่พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่ต้องการเรียนรู้วิธีการจัดการกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กด้วยเทคนิคเชิงบวก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีกระบวนกรที่ผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพแล้วจำนวน 281 คน จัดตั้งห้องเรียนเน็ตป๊าม้าเสร็จสิ้นแล้ว 41 ห้องเรียน กระจายอยู่ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ปกครองที่เรียนจบจากห้องเรียนเน็ตป๊าม้าแล้วจำนวน 452 คน ซึ่งจากผลการประเมินทักษะการเลี้ยงดูเชิงบวกเปรียบเทียบก่อน-หลังเรียน พบว่าผู้ปกครองมีคะแนนเฉลี่ยของแบบประเมินการเลี้ยงดูเชิงบวกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ก่อนเรียน 39.63 คะแนน, หลังเรียน 41.48 คะแนน, P<0.001)

 

กิจกรรมและสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ดังนี้

1. “คุยเรื่องความรัก ในวันที่ลูกมีแฟน” วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 20.00 น.
      9,100 people reached 3,400 views 364 reactions, comments & shares

2. “ลูกโดนบูลลี่ พ่อแม่รับมือยังไง: ชวนคุยการบูลลี่จากซีรีส์ The Glory” วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2566  เวลา 20.00 น.          13,100 people reached 4,400 views 492 reactions, comments & shares

3. “สอนลูกให้เห็นคุณค่าและมีความมั่นใจในตัวเอง” วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 20.00 น.
      27,400 people reached 8,400 views 963 reactions, comments & shares

4. “Net PAMA x Healthy Gamer เกมสมดุล ชีวิตสมดุล” วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2566เวลา 20.00 น.

      4,859 people reached 1,202 views 47 reactions, comments & shares

5. “พูดอย่างไรให้ลูกฟัง ฟังอย่างไรให้ลูกพูด” วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 20.00 น.
      7,046 people reached 2,130 views 80 reactions, comments & shares

6. “PAMA's Club Live: อัพสกิลเลี้ยงลูกเชิงบวก” วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 20.00 น.
      9,544 people reached 3,067 views 167 reactions, comments & shares

7. “PAMA's Club Live: อัพสกิลเลี้ยงลูกเชิงบวกและรู้เท่าทันอารมณ์” วันที่ 23 มิถุนายน 2566เวลา 20.00 น.

      6,159 people reached 1,865 views 93 reactions, comments & shares

8. “Good Enough Mothers: การเป็นพ่อแม่ที่ดีพอแบบพอดีเป็นอย่างไร?”  วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เวลา 20.00 น.

      17,256 people reached 5,635 views 432 reactions, comments & shares

9. “คุยกับลูกอย่างไรเมื่อตัดสินใจแยกทาง” วันที่ 11 มีนาคม 2566 เวลา 20.00 น.

      38,426 people reached 11,230 views 347 reactions, comments & shares

10. สอนลูกอย่างไรให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 20.00 น. 

      32,125 people reached 10,370 views 762 reactions, comments & shares

11. “Q&A: ทำอย่างไรเมื่อลูกมีน้องคนเล็ก” วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 เวลา 20.00 น.

      21,536 people reached 8,112 views 449 reactions, comments & shares

12. “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่ปรี๊ดแตก” วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เวลา 20.00 น. 

      13,939 people reached 5,285 views reactions, comments & shares

13. “สอนลูกอย่างไรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ กล้าปกป้องสิทธิของตัวเอง” วันที่ 18 มกราคม 2567 เวลา 20.00 น.
      11,406 people reached 4,988 views 466 reactions, comments & shares      

 

        ทั้งนี้ มีการเผยแพร่บทเรียนเสริม Net PAMA 3 บทเรียนในรูปแบบมินิซีรีย์ 3 ตอน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และอยู่ระหว่างการนำขึ้นระบบเว็บไซต์ในคอร์สเร่งรัด

 

         โปรแกรมเน็ตป๊าม้า (Net PAMA) เปิดให้พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้สนใจทั่วไป สามารถเข้าเรียนได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.netpama.com และสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ได้จาก fanpage Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า https://www.facebook.com/netpama.101/

 

รางวัลของโครงการเน็ตป๊าม้า (Net PAMA)

  • รางวัลเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2565 (Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
  • รางวัลบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดี ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566
  • รางวัล Team Good Practice Award จากงาน Mahidol Quality Fair 2023 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
Partners/Stakeholders

   1. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

   2. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม

   3. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

   4. ภาคีเครือข่าย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (NGOs หน่วยงานรัฐและเอกชน)

ผู้ดำเนินการหลัก
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 4. ภาคีเครือข่าย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (NGOs หน่วยงานรัฐและเอกชน)