การพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านสำหรับเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น

detail

การเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาไม่ควรถูกจำกัดเนื่องจากความพิการทางร่างกาย แต่เรียนรู้เพื่อเตรียมเยาวชนให้มีทัศนคติและการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง พัฒนาสัมพันธภาพทางสังคมและความสัมพันธ์ทางเพศที่เคารพซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม เพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดชีวิต

เพศวิถีศึกษาเป็นองค์ความรู้หนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเพศใด วัยใด มีความพิการหรือไม่ สำหรับเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น ข้อจำกัดทางการมองเห็นส่งผลให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ผ่านการมองเห็นและการสังเกต ความท้าทายบางอย่างที่ประสบ อาทิ เยาวชนอาจไม่สามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างสรีระของเพศชายและหญิง การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีการเห็นปกติ การระมัดระวังไม่ล่วงละเมิดทางเพศและป้องกันการถูกล่วงละเมิด เนื่องจากเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็นเรียนรู้ผ่านการสัมผัสค่อนข้างมาก ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สื่อต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน เป็นต้น เยาวชนพิการทางการเห็นจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่จำเป็น จึงได้พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านสำหรับเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยได้ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของเยาวชนฯ ตลอดจนสื่อที่ผู้สอนจะสามารถเลือกมาใช้ให้เหมาะกับเนื้อหาและหัวข้อที่จะสอน และเยาวชนฯ สามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้ไม่แตกต่างจากเพื่อนที่มีการเห็นปกติ โดยจัดทำเป็นชุดความรู้ประกอบกับหลักสูตรเพศวิถีสำหรับเยาวชนที่มีความพิการทางการเห็น และจัดสร้าง Facebook Fan Page “Love is not blind รัก...(ไม่) ทำให้เราตาบอด” เพื่อเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเพศวิถีที่เยาวชนฯ จะสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้

 

นอกจากนี้ได้จัดทำวีดิทัศน์ชุด “คำถามว้าวุ่น วัยรุ่นตาบอด" ผ่านทางช่อง YouTube เพื่อให้เยาวชนผู้พิการทางสายตาได้สอบถามเกี่ยวกับเพศวิถีที่อยากรู้ กับผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย

รวมถึงจัดทำวีดิทัศน์ที่สื่อสารออกสู่สังคมถึงการทับซ้อน (intersectionality) ของความพิการทางการเห็นกับเพศที่หลากหลาย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนตาบอดกับคนที่มีการเห็นปกติ การให้ความช่วยเหลือในการนำทางโดยไม่ล่วงละเมิดและไม่ถูกล่วงละเมิด และการใช้สื่อออนไลน์ในการหาคู่ โครงการฯ ได้จัดค่ายเยาวชนจำนวน 2 ค่าย เพื่อให้น้องๆ เยาวชนฯ ได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีฯ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ จากวิทยากรของสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ โดยมีการนำหุ่นจำลองและอุปกรณ์จริงให้ได้สัมผัส การแสดงบทบาทสมมติ การใช้ช่องทางออนไลน์ (Line) ในการถามคำถามที่อยากรู้แต่ไม่กล้าถาม การเรียนรู้เรื่องความหลากหลายผ่านการร้อยลูกปัด เป็นต้น

โดยค่ายที่ 1 มีเยาวชนฯ จากชมรมเยาวชนตาบอดไทยจำนวน 40 คน เข้าร่วมเรียนรู้ เพื่อสามารถนำองค์ความรู้มาปรับใช้กับตนเองและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อให้เพื่อนเยาวชนฯ คนอื่นได้ และค่ายที่ 2 เป็นการคัดแกนนำเยาวชนจากค่ายแรกจำนวน 20 คน เพื่อเรียนรู้วิธีการที่จะสามารถให้คำปรึกษาและแนะนำเบื้องต้นเรื่องเพศวิถีให้กับเพื่อนเยาวชนผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ได้

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
อาจารย์ ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย / ชมรมเยาวชนตาบอดไทย