สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (สสมส.) มีวิสัยทัศน์ “จากชุมชนสู่นโยบาย” ที่เป็นการนำเสียงความต้องการของชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย มียุทธศาสตร์พันธกิจสังคมกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ ซึ่งในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย (Party A) กับผู้เห็นต่าง (Party B) ขณะเดียวกัน ก็ให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนหรือภาคประชาสังคม (Party C) พร้อมกันด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มีบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จนปัจจุบัน และมีศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ ตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี มีบุคลากรประจำ 2 คน เพื่อเกื้อหนุนการทำงานอย่างแข็งขันในระดับพื้นที่ กลยุทธ์การทำงาน คือ การผสานพลัง (Synergy) เพื่อพัฒนาทีม มุ่งไปสู่วิสัยทัศน์และตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยมองเห็นช่องว่างของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังขาดการแสดงบทบาทของชาวพุทธ จึงได้กำหนดเป้าหมาย 2 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ และการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพุทธ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่
ด้วยยุทธศาสตร์พันธกิจสังคมดังกล่าว ทีมงานได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องกับบุคลากรที่สนใจปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และแสวงหาเครือข่ายชาวพุทธผู้กระตือรือร้น ทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และหลังดำเนินโครงการเสร็จสิ้นในแต่ละปี ตลอดระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2564 ด้วยกลยุทธ์ผสานพลังในทีมงานที่แข็งขัน 2 ส่วน ได้แก่ บุคลากรสสมส. และเครือข่ายชาวพุทธ
บุคลากรสสมส. หมายถึง บุคลากรที่ร่วมกันบริหารจัดการโครงการและมีงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำหน้าที่เป็นตัวประสานกลางหรือผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นเวทีอันชาญฉลาด (Smart platform) เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และร่วมกันเสริมสร้างพลัง (Empowerment) ให้ชาวพุทธมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
เครือข่ายชาวพุทธ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลชาวพุทธที่แสดงความต้องการเข้ามามีส่วนร่วม หรือเครือข่ายชาวพุทธที่มีความผูกพันและมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วม สื่อสารกับสังคม ประสานงานเครือข่าย และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินโครงการย่อยหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ร่วมกันออกแบบ
การพัฒนาทีมงานของกลุ่มถักทอสันติภาพนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการสานเสวนากลุ่มสะท้อนความคิด (Reflection groups) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปีแรกที่เป็นช่วงเวลาของการใคร่ครวญหลักการ แนวทางปฏิบัติ บทเรียนและประสบการณ์ของชาวพุทธต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้ เพื่อค้นหาแนวทางส่งเสริมบทบาทของชาวพุทธในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงและเสริมสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ทำให้เกิดองค์ความรู้พื้นฐานที่จะทำงานต่อไป ในปลายปี พ.ศ. 2558 นี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของความจำเป็นในการรวมกลุ่มของชาวพุทธซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และยังอ่อนแอในหลายด้าน จึงขาดพลังที่จะส่งเสียงความรู้สึก ความต้องการของกลุ่มชาวพุทธให้เป็นที่ยอมรับได้
หลังจากตระหนักถึงความจำเป็นดังกล่าว จึงมีความเห็นสอดคล้องที่จะจัดตั้งกลุ่มชาวพุทธที่หลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย โดยให้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.)” หรือ “Weaving Peace Together (WPT)” ซึ่งทำให้การดำเนินกิจกรรมในปีต่อ ๆ มาเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในความเป็นกลุ่ม ผ่านการสานเสวนาภายในกลุ่ม (Intra dialogue) อย่างเข้มข้น จนพัฒนาเป็นวัฒนธรรมกลุ่มถักทอสันติภาพที่มีลักษณะเป็นชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practices: CoPs) หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สมาชิกต่างร่วมกันแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง ผ่านการบ่มเพาะความคิดจนสังเคราะห์ได้แนวเรื่องหลัก 4 ประการ ที่มีความสำคัญต่อชุมชนพุทธและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่
- ชุมชนพุทธเข้มแข็ง (Buddhists’ Cohesion)
- ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธ-มุสลิม (Buddhist-Muslim Relation)
- การส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ (Participation in Peacebuilding)
- การสื่อสารและการเชื่อมต่อทางสังคม (Social communication)
การดำเนินงานของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง สามารถอธิบายให้เห็นผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2564 ตามลำดับ ดังนี้
- การดำเนินงานในปีพ.ศ. 2558 มุ่งเน้นการทบทวนหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ทำให้ชาวพุทธสามารถมีบทบาทและเกิดความเข้มแข็งได้ในสถานการณ์อันเปราะบางและมีความท้าทายต่อชาวพุทธ โดยในปีแรกของการดำเนินการนั้นพบว่าได้สร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดในการทำงานในช่วง 5 ปีหลัง ซึ่งในปีแรกนี้ทำให้เกิดผลผลิตสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
- องค์ความรู้พื้นฐาน เกิดขึ้นทั้งจากกระบวนการสานเสวนา การสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวชาวพุทธ (Activist) นักวิชาการศาสนา ทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถนำไปออกแบบกระบวนการทำงาน การจัดเวทีสานเสวนา และการกำหนดประเด็นในการพูดคุย
- การเกิดกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ที่เป็นการรวมกลุ่มของชาวพุทธทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีจุดยืน แนวทางแตกต่างกันและสอดคล้องกัน ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการนำมาร่วมพูดคุยและหนุนเสริมให้ทำงานร่วมกันได้
- การดำเนินงานในปีพ.ศ. 2559 กทส. เริ่มปรากฏตัวผ่านโซเชียลมีเดียและสถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคมในจชต. และเริ่มสื่อสารความต้องการ ความกลัว ข้อกังวล โดยเข้าพบกับหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า จึงทำให้เสียงของชาวพุทธเป็นที่ได้ยินจากหน่วยงานระดับนโยบาย
- การดำเนินการในปีพ.ศ. 2560 กทส.ยังคงสื่อสารความต้องการและข้อกังวลเพิ่มขึ้นแก่หน่วยงานระดับนโยบาย เช่น ศอ.บต. กอ.รมน. และจัดเวทีสาธารณะ 2 ครั้ง ผ่านสื่อโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เสียงของชาวพุทธสื่อสารออกไปสู่สังคมวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น กทส.ได้(ร่าง)ข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ต่อสถานการณ์ชาวพุทธในชายแดนภาคใต้ ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการ
- การดำเนินการในปีพ.ศ. 2561 ได้สร้างการมีส่วนร่วมของกทส.มากยิ่งขึ้น ในระดับบุคคลนั้นพบว่า กทส.มีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น ในระดับกลุ่ม กทส.ได้ฝึกขันติธรรมอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันได้อย่างเหมาะสม มีการแสดงออกอย่างแตกต่างทั้งพระและฆราวาส และมีความเข้าใจตัวตนของกทส. มากขึ้น ขณะที่ในระดับนโยบายนั้น มีการเปิดพื้นที่สื่อสารระหว่างชาวพุทธกับคณะพูดคุยสันติสุข โดยนำข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ต่อสถานการณ์ชาวพุทธในชายแดนภาคใต้ นำเสนอต่อคณะพูดคุยฝ่ายรัฐ (Party A) และคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่าง (Party B) โดยพิมพ์เป็นหนังสือภาษาไทย อังกฤษ และมลายู ในระดับนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเปิดพื้นที่สื่อสารระหว่างชาวพุทธในพื้นที่กับนอกพื้นที่ และกับหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกทส.กับการปกครองฝ่ายสงฆ์ ระดับจังหวัด ระดับภาค ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารทางตรงกับผู้มีบทบาทระดับสูงในการกำหนดนโยบาย
- การดำเนินการในปีพ.ศ. 2562 กทส. ได้ทบทวนและบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจใน 4 แนวเรื่อง ได้แก่ 1) ชุมชนพุทธเข้มแข็ง (Buddhists’ Cohesion) 2) ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธ-มุสลิม (Buddhist-Muslim Relation) 3) การส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ (Participation in Peacebuilding) 4) การสื่อสารและการเชื่อมต่อทางสังคม (Social communication)
- การดำเนินงานในปีพ.ศ. 2563-2564 เป็นการทำงานภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กทส.ได้เรียนรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกลายเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญที่จะเชื่อมประสานการทำงานร่วมกันต่อไปได้แม้ยังคงต้องมีวิถีชีวิตท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19