การดำเนินกิจกรรมที่สืบเนื่องและความต่อเนื่องของโครงการที่ดำเนินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางโครงการจัดตั้งสถาบันฯ ได้จัดสานเสวนาระหว่างนักการเมือง การให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพให้กับองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร โดยที่เครือข่ายภาคประชาสังคมมีข้อเสนอที่ยื่นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบ้างแล้ว แต่ไม่เคยมีการประสานความร่วมมือกับนักการเมือง ทั้งนี้ กระบวนการผลักดันในกลไกรัฐสภาก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถเป็นช่องทาง Platform ในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มิอาจแก้ไขปัญหาโดยแยกส่วน
ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งเสร็จและทราบผลการเลือกตั้ง โครงการจัดตั้งสถาบันฯ ในฐานะหน่วยทำหน้าที่อำนวยการและประสานงาน ได้เชิญกลุ่มเป้าหมายนักการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันรวบรวมและสังเคราะห์ข้อเสนอทั้งหมด ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงสันติภาพร่วมกันในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 แต่กระบวนการยังไม่สิ้นสุด เพราะจะต้องมีกลไกการทำงานและการติดตาม ต่อมาในเดือนมกราคม 2563 ส.ส.ในพื้นที่ได้มีการเสนอญัตติเพื่อแต่งตั้งกรรมาธิการศึกษากระบวนการูดคุยสันติภาพ แต่ญัตติดังกล่าวอยู่ในลำดับท้ายและรัฐสภาไม่ได้มีการประชุมเพราะสถานการณ์โควิดที่ระบาด เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลายผู้รับผิดชอบโครงการนี้ของโครงการจัดตั้งสถาบันฯ ร่วมด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ลงพื้นที่พบปะกับ ส.ส.ทุกพรรคเพื่อติดตามและหารือในการผลักดันประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปว่า หากจะให้ญัตติที่เสนอไว้ถูกบรรจุในวาระในลำดับต้น ๆ นั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือตัวแทนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางไปที่รัฐสภาเข้าพบกับประธานรัฐสภา ประธานวิปรัฐบาลและประธานวิปฝ่ายค้านเพื่อให้เลื่อนญัตตินี้ให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งแถลงข่าวร่วมกันกับ ส.ส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากกระบวนการเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ก็จะสามารถมีกรรมาธิการชุดหนึ่งเพื่อศึกษาและตรวจสอบ ถ่วงดุลกระบวนการทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขและกระบวนการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ กระบวนการพูดคุยจะมีความยั่งยืนและมีหลักประกันในความต่อเนื่องในแสวงหาทางออกของปัญหาโดยหลักสันติวิธี
โครงการการศึกษานโยบายสันติภาพชายแดนใต้ของภาคประชาสังคมและนักการเมือง ได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่มเป้าหมายภาคประชาสังคมและนักการเมืองระหว่างปี 2565 - 2566 พบว่า มีประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการก่อน 4 ประการ ได้แก่
- กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
- กระบวนการพูดคุยสันติสุข
- การสื่อสารกับสังคม
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ จากการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายชายแดนใต้ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคประชาสังคมชายแดนใต้และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ต่างมีบทบาทหน้าที่ของตนเอง และพยายามทำงานภายใต้พันธกิจขององค์กรของตนเองอย่างเห็นได้ชัด ข้อเสนอในทุกมิติของแต่ละองค์กรมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันจำนวนมาก แต่ละองค์กรพยายามยกชูประเด็นของตนเองให้เด่นชัด และแสดงถึงความเป็นเจ้าของในข้อเสนอเชิงนโยบายว่าเป็นนโยบายที่ควรให้ความสำคัญ ลักษณะคล้ายคลึงกันนั้นปรากฏมาตั้งแต่การก่อตัวระลอกใหม่ของความรุนแรงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้ทำกรอบการแก้ไขปัญหาไว้ และภาคประชาสังคมต่างก็มีข้อเสนอของตนเอง
จากการทำงานที่มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โครงการศึกษานโยบายสันติภาพชายแดนใต้ของภาคประชาสังคมและนักการเมือง ได้นำผลการศึกษาแมาวิเคราะห์และสามารถจัดทำเป็นข้อเสนอ 3 ประการ ได้แก่
1. บทบาทของภาคประชาสังคมและนักการเมือง
1.1 บทบาทภาคประชาสังคม ได้แก่ การรับฟังเสียงประชาชน การจัดทำและผลักดันข้อเสนอ การให้ความรู้ การประสานงานระดับพื้นที่ และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
1.2 บทบาทนักการเมือง ได้แก่ เป็นเสียงตัวแทนประชาชน ทำตามนโยบายของพรรค การให้ความรู้ การแก้ไขเชิงประเด็น
2. ข้อเสนอเชิงนโยบาย จากการสอบถามกลุ่มเป้าหมายภาคประชาสังคมและนักการเมืองระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 พบว่า มีประเด็นเร่งด่วนที่ควรดาเนินการ 4 ประการ ได้แก่ กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กระบวนการพูดคุยสันติสุข การสื่อสารกับสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
3. แนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและนักการเมือง การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมกับนักการเมืองนั้นยังไม่เห็นรูปธรรมที่มีกลไกความร่วมมืออย่างชัดเจน ภาคประชาสังคมมักจะใช้ช่องทางความเป็นปัจเจกมากกว่าองค์กร และการสร้างร่วมมือในบางประเด็น อย่างไรก็ตาม พอจะมีแนวทางการทางานร่วมกันได้
ซึ่งมีการนำข้อเสนอทั้ง 3 ประการ ดังกล่าว ไปนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 : ตลาดนัดสันติภาพ พื้นที่กลางใหม่ (Pa(t)tani Peace Assembly 2023 : Peace Market Place) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ในปี 2567 โครงการมีแผนงาผลิตเอกสารเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการผลักดันงานศึกษาวิจัยให้เป็นสู่กระบวนการจัดทำเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy brief) ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเอกสารชุดนี้รวบรวมจากการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการศึกษานโยบายสันติภาพชายแดนใต้ของภาคประชาสังคมและนักการเมือง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่
1) ศึกษาบทบาทนักการเมืองกับภาคประชาสังคมในการจัดทำนโยบายสันติภาพชายแดนใต้
2) ผลิตข้อเสนอเชิงนโยบายสันติภาพชายแดนใต้
3) สร้างความร่วมมือกับนักการเมืองและภาคประชาสังคม
กลุ่มเป้าหมายที่ให้สัมภาษณ์เป็นภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จำนวน 15 คน แบ่งเป็นชาย 11 คน และหญิง 4 คน โครงการฯดำเนินการลงพื้นที่สัมภาษณ์ในระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2567 และจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 20 คน แบ่งเป็น ชาย 10 คน และหญิง 10 คน จากองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เด็ก สตรี กลุ่มเปราะบาง ทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมาย เสริมศักยภาพชุมชน สิทธิชุมชน วิสาหกิจชุมชน สิทธิมนุษยชน พหุวัฒนธรรม การทำงานเครือข่าย และการติดตามกระบวนการสันติภาพ เป็นจำนวน 5 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 และวันที่ 1 สิงหาคม 2567 จากนั้น ได้มีการจัดนำเสนอเอกสารการศึกษาร่างแรกในวันที่ 4 สิงหาคม 2567 และร่างที่ 2 ในวันที่ 4 กันยายน 2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ในการปรับปรุงเอกสารเพิ่มเติมและการสังเคราะห์ข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย
คณะผู้ศึกษาได้ดำเนินการประมวลผลข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และสามารถกลั่นกรองออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเพื่อส่งไปยังคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกด้วย มีรายละเอียด ดังนี้
- รัฐควรจัดทำนโยบายสันติภาพชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานที่สอดประสานตามกลไกต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับกำกับนโยบายและระดับปฏิบัติตามนโยบาย อีกทั้งเพื่อเป็นหลักประกันความต่อเนื่องในการบริหารงานและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม
- รัฐควรที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกลไกกระบวนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ขอให้รัฐมีการทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษ การลดด่านตรวจ และการถอนทหารออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้มีกระบวนการขั้นตอนและมีมาตรการอื่นมารองรับเพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่
- คณะพูดคุยเพื่อสันติภาพทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการควรที่จะสื่อสารให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ได้พูดคุยเป็นระยะๆ รวมถึงอาจจะสื่อสารถึงทิศทางหรือโรดแมปที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันติดตามและมีส่วนร่วมต่อไป
- ควรที่จะมีช่องทางสื่อสารที่หลากหลายและเข้าถึงง่ายในการแสดงความคิดเห็นและยื่นข้อเสนอต่างๆ จากประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมต่อคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย