โครงการ “การพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน สำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา”

detail

เพศวิถีศึกษา..เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการป้องกันการติดเชื้อเอสไอวีแบบรอบด้านสำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา

โครงการ “การพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านสำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา”  เป็นโครงการที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สำนัก 2)  ซึ่งได้กำหนดจุดเน้นของการดำเนินงานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ใน 2 ประเด็นหลัก คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการป้องกันการติดเชื้อเอสไอวี  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้พิการมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลความรู้เพศวิถีศึกษาและการอนามัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากความหลากหลายและระดับของความพิการ และสถานบริการของรัฐยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงของคนพิการไม่เพียงพอ รวมทั้งทัศนคติที่ว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนพิการ  ตลอดจนข้อจำกัดด้านสื่อและตัวช่วยในการเรียนรู้ของคนพิการที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของคนพิการ  จึงมีผลต่อวิถีชีวิต การเรียนรู้เพศวิถีศึกษา และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของคนพิการอย่างมาก  นอกจากนี้ จากความตระหนักในปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมาจึงเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านและการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ์ด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ของเยาวชนพิการ ของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) มูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยราชสุดา  โดยได้ทบทวนวรรณกรรมและข้อเท็จจริงร่วมกัน ซึ่งชี้ให้เห็นช่องว่างในการนำนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพิการไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่  การขาดความเข้าใจและความตระหนักในปัญหาและสิทธิของเด็กและเยาวชนพิการ ทั้งในกลุ่มผู้ปกครอง ครู / ผู้สอน และสังคมโดยรวม การขาดความรู้ที่จำเป็นเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนพิการ ในด้านการอนามัยเจริญพันธุ์  การขาดความรู้และทักษะการสร้างการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในกลุ่มผู้สอน  การขาดสื่อการเรียนการสอนที่ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการเรียนรู้ของเยาวชนพิการ  และการขาดหลักสูตร คู่มือหรือแนวทางปฏิบัติที่ครอบคลุมทั้งเนื้อที่จำเป็น การเลือกเนื้อหา/ กิจกรรม และการออกแบบการเยนรู้ในโรงเรียนที่จะใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถผู้สอน   ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน คือการพัฒนาหลักสูตรและการสร้างสมรรถนะครูผู้สอน และเยาวชนที่จะทำหน้าที่เป็น peer educator ที่จะสร้างการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งอย่างเชื่อมโยงกับการทำงานของครูผู้สอนทั้งในและนอกสถานศึกษา

ดังนั้น เพื่อนำแนวทางการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ  วิทยาลัยราชสุดา จึงเริ่มนำร่องดำเนินงานในกลุ่มเยาวชนที่มีความพิการทางการได้ยิน  โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายข้างต้น และเครือข่ายโรงเรียนการศึกษาพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษา  สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ  ในการสร้างความรู้และพัฒนาโรงเรียนการศึกษาพิเศษนำร่องในการจัดการเรียนรู้ โดยบูรณาการการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาและสิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับเยาวชนพิการเข้าไปในระบบการศึกษาของเยาวชนที่มีความพิการทางการได้ยิน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปขยายผลสู่การสร้างระบบการศึกษาของเยาวชนในภาพรวม ที่สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน และเข้าถึงบริการที่เหมาะสมในการเรียนรู้สำหรับเยาวชนพิการต่อไป (SDG 17, SDG 4, SDG 10, SDG 3)

การดำเนินงานโครงการ มีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ที่เหมาะสมกับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษาอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งสื่อสารเพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงาน/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงความสำคัญของการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผลในกลุ่มเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน  โดยมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ดังนี้

  • ปี 2563
  • ได้ทำการทบทวนวรรณกรรมด้านแนวคิด นโยบายการสอนเพศศึกษาฯ ในต่างประเทศ และที่เป็นสากล รวมทั้งประสิทธิผลของการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค ข้อถกเถียงทิศทางการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน (โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน) และสถานการณ์และการดำเนินงานในภาพรวม นอกจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้เห็นปัญหา ปัจจัย แนวคิด ทฤษฎี และทิศทางนโยบายที่มีประสิทธิผลมากที่สุดของการดำเนินงานในระดับสากล เพื่อใช้จัดทำแบบสำรวจ แนวคำถามในการศึกษาข้อมูลเชิงบริบทและสถานการณ์ในประเทศไทย ในโรงเรียนโสตฯ ศึกษาทั่วประเทศ  
  • ปี 2564
  1. ร่วมกับสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน พัฒนาหลักสูตรเพศวิถีศึกษา (เบื้องต้น) สำหรับผู้สอน
  2. จัดการอบรมตามหลักสูตร เมื่อวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2563  โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมรวมจำนวนทั้งสิ้น 48 คน   ซึ่งมาจากโรงเรียนโสตศึกษา จำนวน 14 แห่ง  และโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ สถาบันการศึกษา และชมรมเยาวชนพิการ ทั้งหมดจากพื้นที่ 22 จังหวัด ในจำนวนผู้เข้าอบรม เป็นคนหูหนวก 19 คน คนหูดี 29 คน ทำงานเป็นครู/ ครูผู้ช่วย (ในโรงเรียน)  31 คน  ครูสอนภาษามือ (ในมหาวิทยาลัย) 6 คน เป็นล่ามอาชีพ 6 คน  โดยผู้รับการอบรมได้ให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับสิ่งทีได้เรียนรู้จากการอบรมว่า “…เป็นการจัดอบรมที่มีเนื้อหา/ รูปแบบ เทคนิคการสอน ที่สามารถทำให้เข้าใจเนื้อหาเรื่องเพศวิถีศึกษามากยิ่งขึ้น  เพศวิถีศึกษา เป็นเรื่องของชีวิต ไม่ใช่แค่เนื่องสุขศึกษา หรือการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น..” “…การใช้กิจกรรม บทบาทสมมติ ร่วมกับสื่อหลากหลายรูปแบบ เช่น VDO   สื่อเสมือนจริง ทำให้คนหูหนวกสนใจและเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับวัฒนธรรม และการเรียนรู้ของคนหูหนวก)   รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตร ว่า “…ควรเพิ่มระยะเวลาการอบรมเป็น 5 วัน โดยเป็นการอบรมเชิงลึก  และควรมีการจัดทำเป็นชุดสื่อ/ คู่มือการสอน…”
  3. จากข้อมูลย้อนกลับของผู้เข้ารับการอบรมรมในหลักสูตรเบื้องต้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาภาพรวมของเพศวิถีศึกษา (Overview Content) และเทคนิคการสอนเบื้องต้น   โครงการจึงมีแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมเพศวิถีศึกษาในโรงเรียนโสตศึกษา : Workshop 2 ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่มีเนื้อหาเชิงลึก (Advance Content) ที่มาจากความสนใจ/ ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ในโรงเรียน ของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมซึ่งเป็นผู้ผ่านการอบรม Workshop 1 มาแล้ว  ตลอดจนการสร้างกระบวนการการออกแบบการเรียนรู้ ที่ผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และการเป็นเครือข่ายการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
  4. ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรม wokshop2 ร่วมกับทีมวิทยากร  และร่วมสำรวจพื้นที่จัดกิจกรรม โดยกำหนดจัดการอบรมระหว่างวันที่ 5-10 พฤษภาคม 2564 ณ ซีแอนด์ซี เขาใหญ่ รีสอร์ท  อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา  แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID -19 โครงการ ได้คำนึงถึงผลกระทบของการจัดกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของทุกท่าน  ประกอบกับครูโรงเรียนโสตศึกษาที่เป็นเครือข่ายการอบรม อยู่ระหว่างการจัดการความเสี่ยงการบริหารจัดการในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โครงการฯ จึงมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมย่อยในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้กิจกรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
  5. จัดกิจกรรม “การอบรมหลักสูตรเพศวิถีศึกษา…พัฒนาเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพแกนนำในโรงเรียนโสตศึกษา (รูปแบบออนไลน์)” ขึ้น ระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564  โดยออกแบบหลักสูตรการอบรมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมออนไลน์ 4 กิจกรรมหลัก  รวมจำนวน 12 ครั้ง  ได้แก่
  • กิจกรรมที่ 1 : สาระจากปัญหา..เพศศึกษาในโรงเรียน : เปิดจอ เปิดใจ เล่าเรื่องเพศ

เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าอบรมได้สร้างความคุ้นเคย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเข้าใจ ปัญหา มุมมองทางเพศ

  • กิจกรรมที่ 2 :  แบ่งปันความรู้…ครูสอนเรื่องเพศวิถี

เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา ในเนื้อหาเชิงลึก ในรูปแบบการบรรยาย กิจกรรมกลุ่ม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

  • กิจกรรมที่ 3 :  พัฒนาทักษะเพิ่มเติม…เสริมศักยภาพการทำงาน  (ด้าน Creative thinking)

เพื่อสร้างพื้นที่ในการเพิ่ม/ เสริมทักษะ/เสริมศักยภาพในการทำงานสำหรับครูหรือผู้สอนเพศวิถีศึกษาเพื่อสามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ในการออกแบบกิจกรรม/ สื่อประกอบการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาได้

  • กิจกรรมที่ 4 :  สานพลัง…สร้างสรรค์ชุดความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา

เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ออกแบบกิจกรรม และสื่อการสอนที่เหมาะสมสำหรับคนหูหนวก รวมทั้งสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมและสื่อการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา เพื่อให้เครือข่ายสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน

  1.  การพัฒนาชุดคำศัพท์ภาษามือไทยเพศวิถีศึกษา  ที่ได้รวบรวมจากการอบรมหลักสูตรฯ ในเบื้องต้นมี จำนวน  79 คำ

 

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ได้หลักสูตรการอบรมเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านสำหรับผู้สอน  (ซึ่งเป็นหลักสูตรกลาง ที่ได้ทดลองดำเนินการแล้ว โดยพัฒนาเนื้อหา รูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งเครือข่ายสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาสำหรับเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้   รวมทั้งมีครูแกนนำ ที่เป็นผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรกลางจำนวน  48 คน ที่สามารถทำหน้าที่ในบทบาทการให้ข้อมูล หรือให้ความรู้แก่เยาวชนฯ ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสของเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ในการเข้าถึงข้อมูลได้เรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน รู้ปัญหา จนเข้าใจและเข้าถึงบริการที่เหมาะสม

 

  • แผนดำเนินงานในปี 2565 - 2566
  1. การทดลองใช้หลักสูตร/รูปแบบการเรียนการสอนฯในโรงเรียนนำร่อง เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่เกิดกับกลุ่มเป้าหมาย และนำผลการประเมินมาปรับปรุงหลักสูตร/รูปแบบการเรียนการสอน คู่มือ เครื่องมือ และกระบวนการต่างๆ
  2. สื่อสารเพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักให้กับหน่วยงาน/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถึงความสำคัญของการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิผลในกลุ่มเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

 

 

 

Partners/Stakeholders
  1. เครือข่ายโรงเรียนการศึกษาพิเศษ
  2. โรงเรียนโสตศึกษา 
  3. สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
  4. มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ 
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผู้ดำเนินการหลัก
นางสาวธิดารัตน์ นงค์ทอง และ แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
เครือข่ายโรงเรียนการศึกษาพิเศษ โรงเรียนโสตศึกษา สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 2