การเข้าถึงการสื่อสารวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของผู้พิการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายการไม่ได้คำนึงถึง หรืออาจจะคำนึงเป็นกลุ่มสุดท้าย อาจเป็นเพราะสื่อกระจายเสียงของไทยดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผู้ชมทั่วไป มุ่งผลิตรายการตอบสนองคนทั่วไป เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจที่แปรผันตามจำนวนผู้ชมรายการ ทำให้ผู้พิการที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบเชิงปริมาณกับคนทั่วไปถูกละเลยและถูกละเมิดมาโดยตลอด
ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 (13) กำหนดให้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิ ในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคล ในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาค
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ของไทย โดยการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ให้เกิดประโยชน์กับคนไทยทุกคน รวมทั้งผู้พิการทุกประเภทในฐานะประชาชนไทยด้วย ได้ศึกษาวิจัยการเข้าถึงสื่อของผู้พิการ พบว่า มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามกรอบอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กฎหมาย และแผนแม่บท เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการให้ผู้พิการได้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อกระจายเสียงอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้พิการประเภทต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้พิการเป็นผู้ผลิตรายการหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตรายการโทรทัศน์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งในรายการที่เผยแพร่ไปยังคนทั่วไป และในรายการที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะ เพื่อเป็นสื่อทางเลือกให้ผู้พิการ โดยรายการจะนำเสนอเนื้อหาและรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนผู้พิการของตน โดย กสทช.ต้องสนับสนุนองค์ความรู้ ทั้งในระบบและนอกระบบสถาบันการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี รวมทั้งจัดสรรคลื่นความถี่ หรือช่วงเวลาในสื่อที่เหมาะสมกับความพิการและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนผู้พิการประเภทนั้น และจัดอบรมการเข้าถึงสื่อและการรู้เท่าทันสื่อให้แกนนำผู้พิการประเภทต่าง ๆ ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่ Inclusive Society หรือสังคมแห่งการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในที่สุดต่อไป
ในขณะที่สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ถือเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมากมาย หากผู้บริโภคสื่อซึ่งรวมถึงผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ ขาดการวิเคราะห์ความถูกต้องหรือความเหมาะสมจากสื่อวิทยุ-โทรทัศน์หรือมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม สื่อเหล่านี้ก็จะให้โทษอย่างมากมายเช่นกัน ซึ่งหากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างรู้เท่าทันแล้ว ก็อาจจะส่งผลกระทบหรือผลร้ายตามมา เช่น อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ลอกเลียนแบบ ใช้คำพูดไม่สุภาพ ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้นในยุคแห่งการสื่อสาร ประชาชนสามารถรับสื่อได้หลากหลายช่องทาง การรู้เท่าทันสื่อ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณให้ประชาชน ผู้พิการมีความสามารถในการเลือกรับและใช้ประโยชน์ของข้อมูล ข่าวสาร ด้วยกระบวนการคิดวิเคราะห์และการใช้เหตุผล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้รู้เท่าทันสื่อ ตลอดจนมีความตระหนักในสิทธิหน้าที่ในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในสังคม
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและแผนแม่บท และขยายแนวคิดในเรื่องการรู้เท่าสื่อและร่วมกันสร้างสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความแตกต่าง การนับถือกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ สำนักพัฒนาองค์กรวิชาชีพและส่งเสริมการบริการอย่างทั่วถึง (ชส.) จึงเห็นความสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนาชุดการเรียนรู้สำหรับผู้พิการเพื่อสร้างเสริมความตระหนักในเทคโนโลยีการเข้าถึง หรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีความรู้ ความเข้าใจ ในสิทธิและประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวมตลอดถึงการใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างรู้เท่าทัน และเพื่อให้ผู้พิการตระหนักในสิทธิของตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ผ่านกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียมต่อไป