โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตำบลโนนหนามแท่ง

detail

มหิดลปัญญาของแผ่นดิน ช่วยยกถิ่นเศรษฐกิจแดนอีสาน คิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนปฏิบัติการ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาผ้าขิดไทย”

จังหวัดอำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่มีประชากรที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดในปี พ.ศ.2561 ติดลำดับ 9 ใน 10 อันดับจังหวัดที่มีความยากจนที่สุดของประเทศไทย โดยสัดส่วนคนจนหรือสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ร้อยละ 23.55 มีคนจนประมาณ 2,494 คน ประชากรส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 59.0 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพส่วนตัวและช่วยธุรกิจครัวเรือน ร้อยละ 74.4 นอกจากนั้น อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 1 ของ ปี พ.ศ. 2563 จากร้อยละ 0.9 เป็น 1.4 ในไตรมาสที่ 2 และลดลงเป็น ร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่ 3 โดยมีผู้ว่างงาน จำนวน 1,361 คน (สำนักงานสถิติจังหวัดอำนาจเจริญ, 2563) จากการศึกษาสำรวจข้อมูลตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีจำนวน 14 หมู่บ้าน มีครัวเรือนทั้งหมด จำนวน 2,471 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด จำนวน 11,620 คน  ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย และเกษตรกรรม ซึ่งวัยทำงานไปทำงานต่างถิ่น และมีพื้นที่เขตนิคมอำนาจเจริญ ที่ถูกตีตราทางสังคมในการควบคุมโรคเรื้อนจึงทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการศึกษาต่อและไม่มีงานทำส่งผลให้มีฐานะยากจนมากยิ่งขึ้นส่วนใหญ่จบต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ขาดความรู้และทักษะในการพัฒนาอาชีพ และต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวทั้งเด็กปฐมวัย ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

อ.ไพรินทร์ ยอดสุบัน และคณะ จึงได้ร่วมกัน SWOT Analysis จังหวัดอำนาจเจริญ โดยคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน คือตำบลโนนหนามแท่งซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ และใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของจังหวัดอำนาจเจริญ คือภูมิปัญญาผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ หมายถึง การเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ซึ่งเป็นลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดอำนาจเจริญที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดที่ศูนย์ศิลปชีพบางไทร เมื่อ 30  ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผ้าประจำจังหวัดที่นโยบายจังหวัดอำนาจเจริญรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐสวม ผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังมีกำลังการผลิตต่ำเนื่องจากเป็นงานที่มีความประณีตสูง ทอยาก เป็นผ้าขิดทอมือ 12 ตะกรอ ผู้ที่สามารถทอได้เป็นเพียงชุมชนขนาดเล็กในตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดอำนาจเจริญในการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการส่งเสริมอาชีพการทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้ออำนาจเจริญสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ อาศัยฐานคิดการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ระดับตำบล อำเภอ จังหวัดร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มีความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพอย่างเป็นระบบของแรงงานนอกระบบ และก่อให้เกิดรายได้ในการดูและครอบครัวให้มีการพัฒนายกระดับการบรรจุภัณฑ์ แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการส่งเสริมการขายแบบออนไลน์ และมีการพัฒนาชุดความรู้ชุมชนให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ การดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ คือเป็นองค์กรชั้นนำวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาชนบทแบบบูรณาการในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยมีพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งด้านการวิจัย จึงมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community)  และเป็นพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม  (University Social Engagement) และสอดคสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการท่องเที่ยว แผนแม่บทย่อยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมได้รับการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น และสอดดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ SDG 1,3,4,11 และ 17

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพในการทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
  2. เพื่อพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อและยกระดับให้เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับชุมชน
  3. เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทรัพย์

แผนการดำเนินงาน

แผนงานที่ 1 เตรียมความพร้อมคณะทำงานและผู้ร่วมเรียนรู้ ได้แก่ 1.1 ประชุมกำหนดทิศทางและจัดทำแผนการดำเนินงาน และ 1.2 ประชุมเชิงปฏิบัติการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมทั้งผู้ร่วมเรียนรู้ คณะทำงานในชุมชน และภาคีเครือข่าย

แผนงานที่ 2 การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างโอกาสการเรียนรู้ของผู้ร่วมเรียนรู้ ได้แก่  2.1ประชุมพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ 2.2 ประชุมเชิงปฏิบัติการในการวิพากษ์หลักสูตรทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อจากผู้ทรงคุณวุฒิ 2.3 การอบรมเชิงปฏิบัติการ การปลูกฝ้าย การผลิตเส้นด้ายจากฝ้ายธรรมชาติ การย้อมฝ้าย และการผลิตสีจากธรรมชาติ 2.4 การการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทอผ้าขอเอื้อ 2.5 การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปผ้าขอเอื้อ 2.6 การอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านการตลาด

แผนงานที่ 3 ติดตามและเสริมสร้างพลังการเรียนรู้ร่วมของผู้ร่วมเรียนรู้ ชุมชนและภาคีเครือข่าย ได้แก่ 3.1 ติดตามเยี่ยมเสริมพลังในการประกอบอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อ 3.2 ประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนและวิเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ 3.3 ประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการ

ผลผลิตของโครงการ

  1. มีคณะทำงานในการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ระดับตำบล
  2. เกิดทักษะสร้างอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่สอดคล้องกับบริบท
  3. ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือนและสามารถวิเคราะห์ความจำเป็นของรายจ่ายครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้
  4. เกิดชุดความรู้ การส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  5. เกิดศูนย์เรียนรู้การส่งเสริมอาชีพทอผ้าและเเปรรูปผ้าขอเอื้อ
  6. เกิดกลุ่มอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อ จำนวน 10 กลุ่ม
  7. ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,000-5,000 บาท/เดือน
  8. มีกองทุนส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขิดลายตะขอสลับเอื้อ ตำบลโนนหนามแท่ง มีเงินทุน จำนวน 15,200 บาท
  9. มีร้านจำหน่ายสินค้า ชื่อร้าน “ฮักขอเอื้อ”
  10. มีการคิดค้นลวดลายผ้าอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นมาใหม่โดยมีชื่อว่า “ผ้าไหมมัดหมี่ลายดอกกันภัย” เป็นลายผ้ามัดหมี่เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการยื่นขอรับ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ได้รับเลขที่คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 2402000257
Partners/Stakeholders

องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ

สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ

สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอำนาจเจริญ

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอำนาจเจริญ

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง

คณะกรรมการพัฒนาสตรี จังหวัดอำนาจเจริญ

สภาวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ

สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดอำนาจเจริญ

องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง

นิคมอำนาจเจริญ

วิสาหกิจชุมชนตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

วิสาหกิจชุมชนทอผ้าขิดบ้านกุดซวย ม.10 ต.คำพระ  อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

วิสาหกิจชุมชนสันติกระเป๋าผ้าขิด ต.คำพระ  อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ

ศูนย์เรียนรู้เกษตรหม่อนไหมภูเขาขาม

ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง

ศูนย์แพทย์โนนหนามแท่ง โรงพยาบาลอำนาจเจริญ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อย

โรงเรียนบ้านโสกโดน

กำนันตำบลโนนหนามแท่ง

อสม. ตำบลโนนหนามแท่ง

ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
1. นางสมศิริ โพธารินทร์ 2. ดร.อรรถพงษ์ ฤทธิทิศ 3. ดร.หนึ่งฤทัย เสนาราษฎร์ 4. ดร.ทวีศักดิ์ วิยะชัย 5. ดร.เรืองอุไร อมรไชย 6. นายอานนท์ ยอดหอ 7. นายสุชาติ พลชัย 8. นางสาวแสงสุรีย์ ศรีสะอาด 9. นางสาวอภิญญา ชัยน้อย 10. นางนลินี กินาวงศ์ 11. นางสาวนิตยา บัวสาย