เส้นใยใบสับปะรดสำหรับสิ่งทอและอุตสาหกรรม

detail

TEAnity Team มุ่งมั่นในการนำวัสดุเหลือทิ้งจากแปลงสับปะรดกลับมาสร้างประโยชน์ในการผลิตเส้นใยใบสับปะรดสำหรับงานอุตสาหกรรมต่างๆ

TEAnity Team

เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมกลุ่มเพื่อเข้าแข่งขันในการประกวดนวัตกรรมด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย โดยการส่งหัวข้องานวิจัยเกี่ยวกับตัวดูดซับจากเส้นใยใบสับปะรด ซึ่งเป็นงานวิจัยของนันทินี เทศกาล (CEO ของ TEAnity) ภายใต้ที่ปรึกษา รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย (CTO ของ TEAnity) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเส้นใยธรรมชาติและวัสดุ Composite ที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ให้คำแนะนำและดูแลทีมอย่างใกล้ชิด และหลังจากประสบความสำเร็จในการแข่งขันภายในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดแรงบรรดาลใจที่จะต่อยอดผลงาน เพื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตร พัฒนาให้เป็นสินค้าที่เหมาะสมต่อความต้องการของตลาด และสร้างเสริมโอกาสในการเข้าถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกับคนไทยทุกคน

การเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปอย่างปิโตรเลียม และถ่านหินค่อนข้างมาก และเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาปัญหานี้อาจทำได้โดยลดการใช้พลังงาน ลดการใช้สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละคน หรือถ้าหากทำได้ก็เป็นเพียงการชะลออัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น การหาทางเลือกอื่นๆ จึงมีความสำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดการใช้ปิโตรเลียม แต่ก็มีชีวมวลปริมาณมหาศาลที่เกิดจากอุตสาหกรรมการเกษตร ดังนั้นการนำชีวมวลที่เป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์จะสามารถบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาได้อย่างยั่งยืน และหากใช้ในการผลิตสินค้าที่มีความคงทนถาวร ก็จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้เช่นเดียวกับการใช้ไม้

สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมพื้นที่ประมาณ 450,000 ไร่ หลังการเก็บเกี่ยวผลสับปะรด จะมีใบและลำต้นสับปะรดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัมต่อไร่ ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์น้อยมาก ใบสับปะรดเหล่านี้เป็นภาระให้เกษตรกรต้องจัดการก่อนการปลูกรอบต่อไป ซึ่งปริมาณรวมของชีวมวลเหล่านี้ทั่วประเทศอาจเทียบเท่ากับได้กับคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงประมาณ 1 ล้านตันต่อปี

TEAnity Team จึงได้เล็งเห็นประโยชน์ของการนำชีวมวลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นทั้งการนำของเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชน ขณะเดียวกันก็ช่วยตรึงคาร์บอนไว้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มจากการคิดค้นกระบวนการในการแยกเส้นใยจากใบสับปะรดที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ในปริมาณเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งศึกษาการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้งานได้จริง เช่น การใช้เพื่อเสริมแรงพลาสติกและยางให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถขยายขอบเขตการใช้งานของพลาสติกได้มากขึ้น สามารถทนอุณหภูมิได้สูงขึ้น การใช้เป็นวัสดุรองรับตัวดูดซับโลหะหนักในน้ำเสีย หรือตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงสำหรับการกำจัดสารอินทรีย์ในน้ำ เพื่อให้ง่ายต่อการแยกหรือนำกลับมาใช้ใหม่

จากงานวิจัยในกลุ่มนักศึกษา ก้าวสู่การแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยและระดับประเทศ จนปัจจุบันได้ขยายผลสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ผ่านบริษัทสตาร์ทอัพ โดย TEAnity Team ได้สำรวจและลงพื้นที่เพื่อรวบรวมวัสดุหลักจากแปลงสับปะรด สำหรับการผลิตและจัดตั้งโรงงานผลิตเส้นใยใบสับปะรด (PALF) รวมไปถึงวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากใบสับปะรดที่หลากหลายและมีราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งทางการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปริมาณการใช้พลาสติกสังเคราะห์เพื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุจากธรรมชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

  •  PALF ขนาดต่างๆ ที่มีสมบัติเชิงกลที่สูง โดยขนาดสั้นสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและ composite และขนาดยาวสำหรับอุสาหกรรมสิ่งทอ
  •  PALMF เส้นใยขนาดไมโคร สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
  •  NFM สามารถนำไปใช้เป็นสามารถเป็นวัสดุทดแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต


Team TEAnity

“Startup ของเราเกิดจากความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีของเรามีจุดเด่นและข้อดีมากมายที่สามารถจะถูกผลักดันออกสู่ตลาด มีผู้ใช้งานจริง และสามารถเติบโตไปได้ รวมถึง passion ของทีมที่พร้อมจะแข่งขัน และท้าทายโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ และจุดที่เรารู้สึกว่ามันท้าทายสำหรับเรามากที่สุดก็คือการที่เราต้องออกไปสำรวจความต้องการของผู้ใช้งาน สำรวจว่ามีคนอยากจะใช้เทคโนโลยีของเรามากน้อยแค่ไหน การเรียนรู้ Business Model การวางแผนธุรกิจ การออกไปสำรวจตลาด เป็นสิ่งใหม่ที่เราได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ให้ได้มองเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น”


โครงการการสร้างวัสดุมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทั้งในแปลงสับปะรดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในโครงการวิจัยที่ทำการวิจัยวิจัยลำต้นสับปะรด ซึ่งเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตร โดยโครงการดังกล่าวได้มีงานวิจัยและเกิดเป็นผลงานทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ กระบวนการแยกเส้นใยสับปะรด และผลิตภัณฑ์จากกระบวนการดังกล่าว อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หนังเทียมจากเส้นใยใบสับปะรดและกรรมวิธีการผลิต, กรรมวิธีการผลิตแป้งเทอร์โมพลาสติกจากสับปะรด, กรรมวิธีการผลิตวัสดุทนน้ำและย่อยสลายได้จากแป้งสับปะรดและการใช้ประโยชน์ของวัสดุดังกล่าว และมีผลงานวิจัยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เส้นใยใบสับปะรดเชิงอุตสาหกรรม โดยดำเนินการผ่าน Startup, การใช้แป้งและเอนไซม์เป็นสารตั้งต้นสำหรับการสังเคราะห์สารอุตสาหกรรมอื่นๆ การผลิตอาหารฟังก์ชันจากแป้งจากเหง้าสับปะรด จะเห็นได้ว่าโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นงานวิจัยที่เกิดจากการเห็นคุณค่าของทุกสิ่งอย่างแท้จริง การนำวัสดุที่คนส่วนใหญ่มองข้าม มองว่าเป็นของเหลือทิ้งแต่กลับสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้สร้างอาชีพให้กับประชากรไทยได้อีกทางหนึ่ง

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย, นันทินี เทศกาล, กนกวรรณ กล้าหาญ, ธนิษฐา ผ่องสกุล
ส่วนงานหลัก
ส่วนงานร่วม