สารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย”

detail

สารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” สารคดีที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจของบุคคล ชุมชน และสังคมที่อยู่นอกเหนือจากกรอบสังคมที่คุ้นเคย ผ่านแนวคิด “Pluralism” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม

สารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” เป็นสารคดี จำนวน 45 ตอน ที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจของบุคคล ชุมชน และสังคมที่อยู่นอกเหนือจากกรอบสังคมที่คุ้นเคย ผ่านแนวคิด “สังคมพหุนิยม” หรือ Pluralism ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม ให้ความสำคัญแก่ “ความแตกต่างหลากหลาย”  รวมถึงบทบาทที่ถูก “ละเลย” และ “ละเมิด” ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม เพื่อสร้างการรับรู้ เคารพ และยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ด้วยขันติธรรม  และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดกว้างทางความคิดที่จะนำไปสู่สังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน  โดยใช้กระบวนการจากฐานคิด “ร่วมกันสร้าง” (Co-creation) ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและองค์กรเอกชน รวม 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท สื่อดลใจ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรายการ สารคดี และสื่อประเภทอื่น ๆ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านพหุวัฒนธรรม พหุภาษา ซึ่งมีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการศึกษา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และ บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด มืออาชีพด้าน Content Creation และ Story Telling รวมทั้งบุคคลจากกลุ่มทางวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สารช่อง MCOT HD 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์  เวลา 9.30-10.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 – 13 พฤษภาคม 2566 และเผยแพร่ผ่านช่องทางโชเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook Fanpage และ Youtube Channel ภายใต้ชื่อ “SOME ONE หนึ่งในหลาย” มีคำบรรยายภาษาอังกฤษ (English Subtitle) รวมทั้งบริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description: AD) และบริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption: CC) สำหรับกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษ เพื่อตอบสนองความสนใจของผู้ชมหลากหลายกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับสารคดีและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควบคู่กันไปกับการออกอากาศ รวม 4 ครั้ง เพื่อเปิดตัวสารคดีและประชาสัมพันธ์ภาพรวมของสารคดีทั้ง 45 ตอน ไปพร้อมกับการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องกับสารคดีมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และสะท้อนความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนสังคมพหุลักษณ์ไทยร่วมกัน โดยกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการเปิดตัวสารคดีเพื่อสื่อสาร สร้างความเข้าใจถึงคุณค่าความสำคัญของพหุสังคมพหุวัฒนธรรม ระหว่างนักวิชาการ ผู้กำกับสารคดี ศิลปินผู้สร้างสรรค์ Graphic Recording รวมทั้งบุคคลจากกลุ่มทางวัฒนธรรมต่าง ๆ นับได้ว่าเป็นการสร้างมิติการทำงานสารคดีสู่สังคมไทยในกระบวนการที่ไม่เคยมีมาก่อนของทุกฝ่าย

กิจกรรมเวทีสาธารณะครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้ชื่อตอน “กรุงเทพเมืองพหุลักษณ์” โดยนำสารคดีตอน “กรุงเทพเมืองพหุลักษณ์ : มหานครยามราตรี” มาเป็นแนวความคิดหลักในการจัดงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมของทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) และประชาชนทั่วไปว่า พหุสังคมและพหุวัฒนธรรมจะช่วยให้เมืองน่าอยู่แบบ Inclusivity และเป็น Soft Power ของสังคมไทยได้อย่างไร

กิจกรรมเวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 3 จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 เวลา 09:00-16:30 น. ณ ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) ในประเด็น “พลเมืองข้ามพรมแดน : ไทยในเทศ-เทศในไทย และความท้าทายของสังคมพหุวัฒนธรรม” สำหรับภาพรวมของเวทีสาธารณะครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่สร้างความร่วมมือกับประชาสังคมและผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

กิจกรรมเวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 4 จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) ในหัวข้อ “แลหลายไปข้างหน้า : พหุสังคมไทย” เพื่อถ่ายทอดความคิด ทัศนคติ ในกระแสของการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งไม่ผูกติดกับสัญชาติหรือเชื้อชาติ รวมถึงการเรียนรู้และปรับตัวในการทำงานของคนรุ่นใหม่ และความเท่าทันสังคมกับการปรับตัวเองให้เป็น Global Citizen และมีกิจกรรม “Intercultural Education” เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมไทย-อาเซียน ด้วยและเน้นการรับฟังอย่างตั้งใจเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม

Partners/Stakeholders

พาร์ทเนอร์

แหล่งทุน

  • กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

พาร์ทเนอร์

  • วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • diversityinthailand.org
ผู้ดำเนินการหลัก
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
บริษัท สื่อดลใจ จำกัด และ บริษัท พลีอาดีส บางกอก จำกัด
ส่วนงานร่วม