Mobile Stroke Unit Stroke One Stop (MSU-SOS) เชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสําหรับทุกคน

detail

MSU-SOS ถือเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาระบบปรึกษาทางไกล เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันโดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ติดตั้งไว้บนรถ ซึ่งสามารถสแกนสมองผู้ป่วยร่วมกับใช้ระบบปรึกษาทางไกลผ่านโครงข่ายไร้สายความเร็วสูง 4G/5G เพื่อสื่อสารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจให้ยาสลายลิ่มเลือดบนรถได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถฉีดสารทึบแสงบนรถในการประเมินหลอดเลือดสมอง เพื่อลดระยะเวลาและให้การวินิจฉัยที่แม่นยำ รวมถึงลดขั้นตอนการส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลให้สั้นลง ส่งผลให้ลดอัตราความพิการและการเสียชีวิต ลดความสูญเสียต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายของกองทุนสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยที่พิการระยะยาวได้

MSU-SOS (Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop)

        โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสําคัญทั่วโลก การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันทําได้โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดําภายใน 4.5 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการใส่สายสวนเพื่อทําการเปิดหลอดเลือด ปัจจัยที่สําคัญที่สุดในการรักษา คือ ยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลดี แต่ในประเทศไทยการรักษานี้ยังมีข้อจํากัดอยู่ มากในด้านของผู้เชี่ยวชาญในการทําหัตถการ ทีมสนับสนุนและอุปกรณ์ที่มีราคาแพง จึงสามารถทําได้เพียงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์บางแห่งหรือโรงพยาบาลเอกชน ขนาดใหญ่เท่านั้น

 

      การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเป็นการทำงานแข่งกับเวลาที่คร่าชีวิตคนไทยและชาวโลกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังทำให้พิการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้ความพิการและการเสียชีวิตลดลง อยู่ที่ ‘มาตรฐานเวลา’ ภายใน 270 นาที หากพบอาการเร็วและได้รับการวินิจฉัยเร็ว โอกาสที่จะหายก็มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคโนโลยี Mobile Stroke Unit ให้เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพแก่บุคลากรการแพทย์

 

          ในการนี้ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทําโครงการโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสําหรับทุกคน (Mobile Stroke Unit, TeleConsultation and Patient Transfer; A One-Stop Service for All) หรือเรียกสั้นๆ ว่า MSU-SOS (Mobile Stroke Unit, Stroke One Stop) ขึ้น โดยปัจจุบันมีรถ Mobile Stroke Unit 6 คัน ซึ่งรถต้นแบบนี้จะมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล และ บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จํากัด

           รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ Mobile Stroke Unit Stroke One Stop (MSU-SOS) เป็นรถรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ สำหรับให้การรักษาเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่นำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชั้นสูง ควบคู่กับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และระบบการสื่อสารแบบ 5G ที่สามารถปฏิบัติการอย่างมีเสถียรภาพมาติดตั้งในรถ โดยรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่จะประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองสำหรับการวินิจฉัย ตัวรถได้รับการรับรองความปลอดภัยทางรังสี ความปลอดภัยด้านการขนส่ง และความปลอดภัยด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับการทดสอบทางวิศวกรรมที่สูงกว่ามาตรฐาน และทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ได้รับการอบรมการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค ให้การปฏิบัติการภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ตัวรถมีความปลอดภัยพร้อมใช้ การปฏิบัติได้มาตรฐานการรักษา และสามารถให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว โดยการปฏิบัติการ ณ ปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ยที่ 28 นาที 

          MSU-SOS เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ถึงปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยไปแล้วจํานวน 1,900 ราย จากพื้นที่ให้บริการในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยพบว่า สามารถลดระยะเวลาเข้าถึงการรักษาได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความพิการลงได้ นอกจากนี้ ยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาเร่งด่วน โดยสามารถให้บริการกับผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาเพื่อรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันได้เปิดให้บริการในพื้นที่ต่างๆ โดยมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆดังนี้

  • พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • พื้นที่จังหวัดชลบุรี  ร่วมกับ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาและโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดชลบุรี (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันออก)
  • พื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จยุพราชจอมบึง โรงพยาบาลโพธาราม และโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดราชบุรี (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันตก)
  • พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม โรงพยาบาลศูนย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลสงขลานครินทน์ (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคใต้)
  • พื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ และ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคเหนือ)
  • พื้นที่จังหวัดนครพนม ร่วมกับ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และโรงพยาบาลนครพนม (เพื่อเป็นต้นแบบให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • พื้นที่จังหวัดกระบี่ ร่วมกับ โรงพยาบาลคลองท่อม
  • พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ โรงพยาบาลชะอวด

           โดยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ได้เปิดตัวนวัตกรรม “รถรักษาโรคหลอดเลือดสมอง รุ่น MSU-SOS 2023” ให้บริการได้ตั้งแต่ “สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว” สร้างสถิติเวลาในการรักษาผู้ป่วยแข่งกับมฤตยู จากประตูรถถึงเข็มฉีดยา (Door to Needle) เร็วที่สุดภายใน 15 นาที นับเป็นคันแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นคันที่ 2 ของโลก โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตันเฉียบพลัน (Stroke) จำนวนกว่า 13.7 ล้านคน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 328 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 10 และพิการถึงร้อยละ 60 ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากขึ้น

ความโดดเด่นของเทคโนโลยีอันก้าวหน้าและ Telemedicine ของ MSU-SOS 2023 เป็นผลผลิตจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

  • การออกแบบโครงสร้างตัวรถใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สามารถรองรับ 16-Slice CT Scanner ที่ได้รับการจดทะเบียนรับรองให้ติดตั้งในรถ
  • การออกแบบทางวิศวกรรมความปลอดภัยสูงสุดจากการชนและอุบัติเหตุทางถนน
  • การออกแบบระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ไม่ต่ำกว่า 3 ชม. โดยปราศจากเครื่องยนต์และแหล่งพลังงานภายนอก
  • วางระบบสื่อสารใหม่รองรับการสื่อสารแบบ 5G Multiple Bands ทำ QoS ช่องสัญญาณแบบ Real-Time นำ Edge Computing มาประมวลผลข้อมูลก่อนนำสู่ Cloud เพื่อทำ AI ภาพหลอดเลือดสมองร่วมกับฐานข้อมูลผู้ป่วย
  • การออกแบบระบบเพื่อลดภาระงานในสภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยแบบ Door-to-needle ใช้เวลาน้อยกว่า 15 นาทีตามเป้าหมาย

และจดทะเบียนภายใต้แบรนด์ “MSU-SOS” นับเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่สร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติให้ปลอดภัยจากการเสียชีวิตและพิการจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ช่วยยกระดับให้ไทยเป็นประเทศที่สุขภาพดี Healthy Thailand และก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT)  (02-8496050)

           สำหรับบทบาทของโรงพยาบาลศิริราช ในการเป็น หน่วยปฏิบัติการอำนวยการระดับที่ปรึกษาโรคหลอดเลือดสมอง ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ปฏิบัติงานอำนวยการที่ปรึกษาให้กับหน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับเฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมองทั่วประเทศ

ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการประชาชนอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่

  • กรุงเทพและปริมณฑล รพ.ศิริราช
  • ภาคตะวันตก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี
  • ภาคใต้ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี
  • ภาคเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม

          จะเห็นได้ว่าภายในปี 2565 สามารถสร้างต้นแบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบเบ็ดเสร็จ (Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop) ให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ ซึ่งจะสามารถแก้ใขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือ และปัญหาความล่าช้าของการส่งต่อผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ห่างไกล ซึ่งปฏิบัติการทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมกันทำให้เกิดบริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีในระดับโลก และถือเป็นต้นแบบของการบริการใน

          เมื่อ เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ดำเนินการมอบรถโมบายสโตรคยูนิตร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล และการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงวงจร "Mobile Stroke Unit - Stroke One Stop (MSU-SOS)" รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบในคันเดียว เพื่อใช้ปฏิบัติการแก่ โรงพยาบาลคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

.       โดยการมอบรถ MSU-5 คันนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในจังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะ 3 พื้นที่ อันได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอคลองท่อม และอำเภอลำทับ ที่มียอดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปี 2565 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดกระบี่ ได้เข้าถึงการรับบริการการรักษาได้อย่างทันท่วงที ด้วยเครื่อง CT-Scan ภายในรถ MSU-SOS ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการวินิจฉัยโรค และสามารถรักษาโรคได้อย่างตรงจุด ทำให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น และอัตราการพิการลดลง

          เมื่อ เดือนมิถุนายน 2566 คณะกรรมการ Service Plan โรคหลอดเลือดสมอง เขตสุขภาพที่ 11 ได้กำหนดให้พื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพ อ.ชะอวด เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลชะอวด จึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ในการรับมอบรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง ลดระยะเวลารักษาและการส่งต่อ รวมทั้งลดอัตราความพิการและอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ณ อำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

การยกระดับรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช สู่รางวัลระดับโลก! งาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG)

           เมื่อวันที่ 4 – 6 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรหลอดเลือดสมองศิริราช โรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วย ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะทีมศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ได้มีโอกาสร่วมแสดงผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ในงาน “WorldInvent Singapore 22+23” (WoSG)  ณ D’ Marquee, Downtown East สาธารณรัฐสิงคโปร์ ตามที่ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทย  เพื่อร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช หรือ “Siriraj Mobile Stroke Unit – Stroke One Stop” ได้เข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงภายในนิทรรศการดังกล่าว

.         นอกจากนี้ ผลงานรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ ยังได้รับรางวัลจากการประกวดในงาน 2 รางวัลด้วยเช่นกัน อันประกอบไปด้วย

  •  รางวัล “Gold Medal Award” หรือ รางวัลเหรียญทอง ด้านผลงานสิ่งประดิษฐ์และ   นวัตกรรม
  •  รางวัล “World Champion Innovation” หรือ รางวัลนวัตกรรมชนะเลิศระดับโลก

           ปัจจุบันศิริราชได้พัฒนารถ Mobile Stroke Unit รุ่นใหม่ล่าสุดเป็นคันที่ 6 ในรุ่น MSU-SOS 2023 ที่ได้ชื่อว่าเป็น Mobile Stroke Unit -Stroke One Stop ที่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ ‘สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว’ มีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีของเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่สามารถติดตั้งบนรถที่เคลื่อนที่ได้ รองรับเครื่อง CT Scan 16-Slice ที่ให้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่มีความคมชัด ทำการตรวจได้เร็วขึ้น เมื่อรวมกับระบบปรึกษาทางไกลและการประมวลผลแบบ Edge Computing และ AI on Cloud ในสัญญาณ 5G ทำให้กระบวนการรักษาดูแลผู้ป่วยได้อย่างเร็วที่สุดภายใน 15 นาที นอกจากนั้นยังมีโครงสร้างทางวิศวกรรมมีความปลอดภัยสูงสุดจากการชนและอุบัติเหตุ ด้วยความโดดเด่นของนวัตกรรมและการออกแบบทางวิศวกรรมที่นำสมัย ทำให้รถ Mobile Stroke Unit รุ่น MSU-SOS 2023 เป็นคันแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ติดตั้ง 16-slice CT scanner และเป็นคันที่ 2 ของโลก โดยให้บริการแบบ One Stop และเป็นต้นแบบการพัฒนารถ Mobile Stroke Unit และพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในประเทศไทย

           ทั้งนี้ การให้บริการด้วยรถโมบายสโตรคยูนิต สแกน รักษา ส่งต่อ ครบจบที่เดียว ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้แบรนด์ MSU-SOS นับเป็นนวัตกรรมของคนไทยที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนทรัพยากร ช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสอง นอกจากนั้น ยังได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรไทย ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ภายใต้ชื่อ “ยานพาหนะสำหรับตรวจวินิจฉัยทางรังสี” เลขที่ 2101003983 เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2564 และคำขอรับสิทธิบัตรองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Patent Cooperative Treaty) ซึ่งได้ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรแล้ว เลขที่ WO2023/277828A2 สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณายื่นเข้าสู่ประเทศปลาย (National phase) ที่จะใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป

            ผลของการให้บริการด้วยรถโมบายสโตรคยูนิตพบว่า การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันผ่านการให้บริการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ Mobile Stroke Unit Stroke One Stop (MSU-SOS) สามารถลดระยะเวลาการรักษาได้ถึงร้อยละ 50 เพิ่มอัตราผู้ป่วยได้รับยาสลายลิ่มเลือดหรือเปิดหลอดเลือดโดยใช้สายสวนเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเพิ่มอัตราผู้ป่วยหายจากความพิการเพิ่มขึ้น 2 เท่า นอกจากการให้บริการโดยรถโมบายสโตรคยูนิตแล้ว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกำลังดำเนินการพัฒนา “เรือรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Siriraj Catamaran Mobile Stroke Unit. SiCAT MSU)” เพื่อยกระดับการให้บริการการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกับประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีแผนเปิดให้บริการในปลายปี 2566 ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการให้บริการในภูมิภาคอื่นของประเทศต่อไป

แผนการดำเนินงานในอนาคต

  • เพิ่มพื้นที่ให้บริการที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  และจังหวัดน่าน
  • การออกแบบและสร้าง MSU ทางเรือ (Si-CAT MSU-1) การตรวจเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์สมองบนเรือรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ มีกำหนดทดสอบในแม่น้ำเจ้าพระยา
  • และในปี พ.ศ.2567 - 2569 ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะมีการ​ขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติมไปยังพื้นที่ห่างไกลโดยรอบของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และทั่วทั้งประเทศไทย รวม 21 จังหวัด

Note: สังเกตอาการ F.A.S.T สัญญาณเตือนโรค Stroke

Face: หน้าหรือปากเบี้ยว

Arm: แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง

Speech: พูดไม่ชัด หรือไม่รู้เรื่อง ในบางคนพูดไม่ได้เลย รวมถึงไม่เข้าใจคำสั่ง หรือคำพูด

Time: หากเกิดอาการข้างต้น ต้องรีบมาส่งโรงพยาบาลให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากท่านหรือคนในครอบครัวมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ขอให้ท่านตั้ง ‘สติ’ รีบโทรแจ้ง ‘1669’ ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่จะทำให้ท่านได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร
ส่วนงานร่วม