STEM & ROBOTICS CAMP เพราะเราเชื่อว่า ใคร ใคร ก็โค้ดได้
STEM & ROBOTICS CAMP เพราะเราเชื่อว่า ใคร ใคร ก็โค้ดได้
ที่มา จุดมุ่งหมายและลักษณะการทำงานในมิติต่าง ๆ
สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่าง “รู้จริง รู้นาน สร้างสรรค์ และสื่อสารได้” ดังนั้น พันธกิจหนึ่งที่สำคัญของสถาบันฯ จึงคือ การสร้างความเป็นเลิศทางด้านการบริการวิชาการ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในทุกระดับ โดยมีการจัดฝึกอบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ให้กับบุคลากรทางการศึกษาทั้งนักเรียนและอาจารย์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนจุดมุ่งหมายดังกล่าวและปฏิบัติตามพันธกิจของสถาบันฯ กิจกรรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ STEM & ROBOTICS CAMP” จึงได้ถูกรังสรรค์ขึ้น เพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะของครูและผู้เรียนแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ด้านการโค้ดดิ้ง (Coding) โดยมุ่งเน้นตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายของสถาบันฯ ซึ่งในที่นี้ คือ กลุ่มนักเรียนและคุณครูผู้สอน ได้แก่
1. การแก้ปัญหาด้านสื่อการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งที่ในปัจจุบันมีราคาสูง ทำให้ผู้เรียนน้อยคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนโค้ดดิ้งได้ ทำให้ปัจจุบันการสอนโค้ดดิ้งในระดับชั้นเรียนจึงเป็นเพียงการสอนแบบ Simulation คือ แสดงผลการทำงานในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทำให้ผู้เรียนขาดทักษะในการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และชิ้นงาน และ
2. การพัฒนาด้านกระบวนการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน และกลุ่มบุคลากรด้านการโค้ดดิ้งระดับโรงเรียนยังมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่
ดังนั้น กิจกรรม “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ STEM & ROBOTICS CAMP” ที่พัฒนาจึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาทักษะของครูผู้สอนและผู้เรียนแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ด้านการโค้ดดิ้ง (Coding) ผ่านกระบวนการทำงานใน 3 มิติ ได้แก่
• มิติการอบรมเชิงปฏิบัติการโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนและครูผู้สอน
• มิติการวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน และ
• มิติการวิจัยและพัฒนาสื่อการสอนโค้ดดิ้ง
โดยแนวคิดและหลักการทำงานของ STEM & ROBOTICS CAMP นั้นได้มุ่งเน้นไปที่
1. สื่อการสอนที่ใช้ในการจัดกิจกรรมต้องมีราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย
เพื่อให้ครูและผู้เรียนในระดับโรงเรียนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงกิจกรรมได้โดยง่าย เราจึงใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนง่าย ๆ ที่สามารถหาได้เองตามท้องตลาดทั่วไป มีราคาไม่แพง เช่น กระดาษลัง ให้ผู้เรียนได้นำมาใช้เป็นสื่อในการสร้างหุ่นยนต์หรือชิ้นงาน
2. กระบวนการเรียนการสอนต้องเข้าถึงผู้เรียน คือ เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ
ด้านกระบวนการอบรม คณะทำงานใช้รูปแบบการสอนแบบ STEM Education ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ชิ้นงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมทีม เพื่อส่งเสริมทักษะการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการทำงานเป็นทีม ผ่านโจทย์ที่มีความท้ายทายเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำการแก้ไขปัญหาผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในรูปแบบ Mission เป็นด่าน ๆ ตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Gamed-based Learning ทำให้ผู้เรียนได้ทั้งความรู้และความสนุกไปพร้อม ๆ กัน
3. ความทั่วถึงของผู้เรียน
โดยที่ผ่านมากิจกรรม STEM & Robotics Camp ได้ดำเนินจัดอบรมให้กับคุณครูและนักเรียน ทั้งที่อยู่ในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน (Home school) มาแล้วทั่วประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาจังหวัดที่เราไปจัดกิจกรรมมาแล้วมี อาทิเช่น กรุงเทพฯ ภาคกลางและปริมณฑล ภาคเหนือ-จังหวัดแพร่ ภาคอีสาน-จังหวัด สุรินทร์ ยโสธร อุบลราชธานี ฯลฯ ภาคตะวันออก - ระยอง ภาคใต้-จังหวัดยะลา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น เพื่อกระจายองค์ความรู้ด้านการโค้ดดิ้งให้เข้าถึงทุกโรงเรียนและทุกภาคของประเทศไทย (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 แสดงจังหวัดของโรงเรียนที่ STEM AND ROBOTICS CAMP เคยจัดกิจกรรมให้
4. การพัฒนาครูผู้สอนอย่างยั่งยืน
เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการพัฒนาทักษะการโค้ดดิ้งสำหรับผู้เรียนของประเทศไทย STEM & ROBOTICS Camp ยังได้ขยายขอบข่ายของการดำเนินงานออกไปในส่วนของภาคการสอน คือ ร่วมกับโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา และองค์กรเอกชนในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาครูผู้สอนวิชาโค้ดดิ้ง เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนโค้ดดิ้งใหม่ ๆ ให้กับคุณครู และดำเนินการส่งเสริมให้คุณครูนำรูปแบบกิจกรรมวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ได้รับจากการอบรม ไปประยุกต์ใช้และถ่ายทอดให้กับผู้เรียนในชั้นเรียนต่อไปผ่านวิธีการโค้ชชิ่ง (coaching) โดยมีโรงเรียนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ โรงเรียนปลูกจิต กทม. โรงเรียนพัฒนาวิทยา จังหวัดปทุมธานี โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 35 โรงเรียน และโรงเรียนลาดปลาเค้า กทม. เป็นต้น โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ STEM & Robotics Camp ได้ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรโค้ดดิ้งปีการศึกษา 2567 สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้กับโรงเรียนลาดปลาเค้า กทม. ด้วย
5. การขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการพัฒนาความสามารถทางด้านการโค้ดดิ้งทั่วทั้งประเทศ ล่าสุด ในปี 2566 ทางส่วนงานยังได้ทำความร่วมมือกับ INT หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (อพวช.) และองค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ในการจัดการแข่งขัน “MU War of STEM 2023 สมรภูมิทักษะประดิษฐ์หุ่นยนต์สะเต็มศึกษา” เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมให้ผู้เรียนทั่วประเทศไทยได้มีโอกาสในการเรียนรู้โค้ดดิ้งและแสดงความสามารถ ระเบิดพลังความคิดสร้างสรรค์ และสร้างเครือข่ายการแข่งขันหุ่นยนต์ทั่วประเทศ มุ่งสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืนในอนาคตกับภาคีต่าง ๆ ต่อไปอีกด้วย (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 MU War of STEM 2023 สมรภูมิทักษะประดิษฐ์หุ่นยนต์สะเต็มศึกษา
มากกว่านั้น เพื่อลดต้นทุนด้านการผลิตสื่อการสอน โดยลดการนำเข้าบอร์ดวงจรเสริมจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้โค้ดดิ้งได้เป็นวงกว้างมากขึ้น ในอีกมิติหนึ่งคณะทำงานยังได้มีโครงการในส่วนของการออกแบบและพัฒนาบอร์ดวงจรชนิดใหม่ (รูปที่ 3) โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพัฒนาจากสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) เพื่อในอนาคตเราจะได้มีสินค้าสำหรับการเรียนการสอนโค้ดดิ้งของเราเองภายใต้แบรนด์มหิดล ที่มีราคาถูก คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และสามารถเผยแพร่ไปสู่ทั่วทั้งประเทศได้มากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและช่วยพัฒนาบุคคลการ STEM ของประเทศได้อย่างมากขึ้นในอนาคตด้วย
รูปที่ 3 บอร์ดวงจรชนิดใหม่ที่พัฒนา
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการทำงานเพื่อพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านโค้ดดิ้งผ่านการทำงานทั้ง 3 มิติ ข้างต้นดังที่กล่าวมาแล้วนั้น STEM & ROBOTICS CAMP ยังได้มีการทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และการทำงานให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ ทางช่องทาง Page STEM & ROBOTICS CAMP (รูปที่ 4) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ (รูปที่ 5) ด้วย
รูปที่ 4 เพจ STEM AND ROBOTICS CAMP
รูปที่ 5 ตัวอย่างเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
แหล่งที่มา https://www.nstda.or.th/sci2pub/stem-homeschool/
ตัวอย่างรูปแบบการจัดกิจกรรม / การทำงานในมิติต่าง ๆ
1. ตัวอย่าง การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา ผ่านการดำเนินกิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 2 วัน โดยวันแรกเป็นกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ การโค้ดดิ้งเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้บริบท SMART Health and City และวันที่สองเป็นกิจกรรมแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ Robot war แบบ Game-based Learning (รูปที่ 6)
รูปที่ 6 กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดยะลา
2. ตัวอย่าง การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ร่วมกับองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โครงการ Thai Science Camp ครั้งที่ 14 ภายใต้บริบทพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนพิการและทุพพลภาพ (รูปที่ 7)
รูปที่ 7 กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ร่วมกับองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โครงการ Thai Science Camp ครั้งที่ 14
3. ตัวอย่าง การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนโฮมสคูล กิจกรรมแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ Robot war (รูปที่ 8)
รูปที่ 8 กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักเรียน แก่นักเรียนโฮมสคูล กิจกรรมแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ Robot war แบบ Game-based Learning
4. ตัวอย่าง การวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน แก่คณะครูโรงเรียนปลูกจิต กทม. ภายใต้บริบท SMART Garden ผ่านการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยกิจกรรม 3 ฐาน ปัญหาฐานดิน ปัญหาฐานน้ำ และปัญหาฐานอากาศ โดยการทำกิจกรรมอบรมจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่หนึ่ง คือ การอบรมครูผู้สอนด้านกระบวนการสอนโค้ดดิ้ง (รูปที่ 9) ระยะที่สอง คือ การโค้ชชิ่งครูผู้สอนให้นำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์ ในระยะนี้ครูผู้สอนต้องดำเนินการสร้างแผนการสอนโค้ดดิ้งเองสำหรับนักเรียนในระดับชั้นของตน และระยะที่สาม คือ การที่ครูผู้สอนนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากระยะที่หนึ่งและระยะที่สองไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการจัดค่ายถ่ายทอดวิชาโค้ดดิ้งสู่ผู้เรียน (รูปที่ 10)
รูปที่ 9 กิจกรรมการวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน แก่คณะครูโรงเรียนปลูกจิต กทม. ภายใต้บริบท SMART Garden ระยะที่หนึ่ง - การอบรมครูผู้สอนด้านกระบวนการสอนโค้ดดิ้ง
รูปที่ 10 กิจกรรมการวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน แก่คณะครูโรงเรียนปลูกจิต กทม. ภายใต้บริบท SMART Garden ระยะที่สาม - ครูผู้สอนนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากระยะที่หนึ่งและระยะที่สองไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการจัดค่ายถ่ายทอดวิชาโค้ดดิ้งสู่ผู้เรียน
5. ตัวอย่าง การวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี แก่คณะครูโรงเรียนจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 35 โรงเรียน ระยะที่หนึ่ง - การอบรมครูผู้สอนด้านกระบวนการสอนโค้ดดิ้ง โดยวันแรกเป็นกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ การโค้ดดิ้งเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้บริบท SMART City และวันที่สองเป็นกิจกรรมแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ Robot war แบบ Game-based Learning (รูปที่ 11) ซึ่งการดำเนินงานในระยะที่สอง-การโค้ชชิ่งครูผู้สอนให้นำเอาองค์ความรู้ไปประยุกต์สร้างแผนการสอนโค้ดดิ้งเองสำหรับนักเรียนในระดับชั้นของตน และระยะที่สาม-การที่ครูผู้สอนนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากระยะที่หนึ่งและระยะที่สองไปประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการจัดค่ายถ่ายทอดวิชาโค้ดดิ้งสู่ผู้เรียน มีแผนดำเนินการในไตรมาสที่สามของ ปี พ.ศ. 2566 ต่อไป
รูปที่ 11 กิจกรรมการวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดสุพรรณบุรี แก่คณะครูโรงเรียนจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 35 โรงเรียน ระยะที่หนึ่ง – การอบรมครูผู้สอนด้านกระบวนการสอนโค้ดดิ้ง
6. ตัวอย่าง การอบรมสำหรับครูผู้สอน ร่วมกับบริษัทเอมพันธ์ หัวข้อ “สอนสะเต็มโค้ดดิ้งอย่างไรให้สนุก” (รูปที่ 12) แก่ครูและผู้สนใจงานทางด้านสะเต็มโค้ดดิ้งทั่วประเทศ
รูปที่ 12 ร่วมกับบริษัทเอมพันธ์ live หัวข้อ “สอนสะเต็มโค้ดดิ้งอย่างไรให้สนุก” แก่ครูและผู้สนใจงานทางด้านสะเต็มโค้ดดิ้งทั่วประเทศ
7. ตัวอย่าง การอบรมสำหรับบุคคลทั่วไป ร่วมกับบริษัท Cytrons Thailand หัวข้อ “mico:bit training” (รูปที่ 13) แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจงานทางด้านสะเต็มโค้ดดิ้งทั่วประเทศ
รูปที่ 13 ร่วมกับบริษัท Cytrons Thailand live หัวข้อ “mico:bit training” ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจงานทางด้านสะเต็มโค้ดดิ้งทั่วประเทศ
ตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ของ STEM & ROBOTICS CAMP ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2564 ถึงปัจจุบัน
รูปที่ 14 ตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ของ STEM & ROBOTICS CAMP ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2564 ถึงปัจจุบัน
ผลการดำเนินโครงการ*
รูปที่ 15 ทักษะของผู้เข้าอบรมที่ได้รับการพัฒนาด้วยกิจกรรม STEM & ROBOTICS CAMP
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมที่มีต่อรูปแบบกิจกรรมของ STEM & ROBOTICS CAMP (N = 918) พบว่า กิจกรรมที่พัฒนาสามารถช่วยส่งเสริมทักษะ 3 อันดับแรกของผู้เข้าอบรม ได้แก่ D5: ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และภาวะความเป็นผู้นำ (Collaboration, Teamwork & Leadership) (M = 4.59, SD = 1.23) D3: ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity & Innovation) (M = 4.52, SD = 1.23) และ D6: ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing & ICT literacy) (M = 4.52, SD = 1.23) ตามลำดับ (รูปที่ 15, ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมต่อระดับทักษะของตนเองที่ได้รับการพัฒนาด้วยกิจกรรม STEM & ROBOTICS CAMP
รูปที่ 16 ระดับความรู้และความมั่นใจของผู้เข้าอบรมก่อน-หลังทำกิจกรรม
ตารางที่ 2 ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมต่อระดับความรู้ของตนเองเกี่ยวกับบอร์ดไมโครบิตและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ไขปัญหา
**ที่นัยสำคัญ 0.05
ตารางที่ 3 ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมต่อระดับความมั่นใจของตนเองต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา
**ที่นัยสำคัญ 0.05
ตารางที่ 4 ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมต่อระดับความมั่นใจของตนเองในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
**ที่นัยสำคัญ 0.05
ตารางที่ 5 ความคิดเห็นของผู้เข้าอบรมต่อระดับความมั่นใจของตนเองต่อความสามารถในการสร้างชิ้นงานโดยใช้บอร์ดไมโครบิต
**ที่นัยสำคัญ 0.05
จากรูปที่ 16 และตารางที่ 2-5 พบว่าผู้เข้าอบรมมีความรู้เกี่ยวกับบอร์ดไมโครบิตและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ไขปัญหา (L1) ก่อนอบรมอยู่ที่ระดับ 3.77±0.02 และหลังอบรมอยู่ที่ 4.01±0.06 มีความมั่นใจต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาของตนเอง (L2) ก่อนอบรมอยู่ที่ระดับ 3.94±0.03 และหลังอบรมอยู่ที่ 4.12±0.05 มีความมั่นใจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (L3) ก่อนอบรมอยู่ที่ระดับ และ3.81±0.05 หลังอบรมอยู่ที่ 3.98±0.06 และมีความมั่นใจต่อความสามารถของตนเองในการสร้างชิ้นงานโดยใช้บอร์ดไมโครบิต (L4) ก่อนอบรมอยู่ที่ระดับ 3.86±0.03 และหลังอบรมอยู่ที่ 4.07±006 ตามลำดับ
แสดงให้เห็นว่า กิจกรรม STEM&ROBOTICS CAMP สามารถช่วยพัฒนาระดับความรู้ของของผู้เข้าอบรมเกี่ยวกับบอร์ดไมโครบิตและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ไขปัญหา (L1) ระดับความมั่นใจของผู้เข้าอบรมต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหา (L2) ระดับความมั่นใจของผู้เข้าอบรมในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (L3) และระดับความมั่นใจของผู้เข้าอบรมต่อความสามารถในการสร้างชิ้นงานโดยใช้บอร์ดไมโครบิต (L4) ได้อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05.
*หมายเหตุ ค่าที่ได้เป็นข้อมูลเฉพาะบางกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น
Stakeholders ได้แก่ โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับมัธยมศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี
Partners ได้แก่ Cytrons Thailand และ Ignite by On Demand