โครงการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงร่วมกับภาครัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน

detail

การบริการวิชาการที่ร่วมงานกับภาครัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน

สืบเนื่องจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จะดำเนินการประกาศกฎกระทรวงเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการผลิต จำหน่าย และใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 

โครงการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน (Center for Energy Research and Testing Laboratory; CERT Lab) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยการติดฉลาก เพื่อส่งเสริมการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงด้วยการติดฉลาก และส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้มีความแพร่หลายในประเทศไทย อีกทั้งยังพัฒนาข้อมูล คู่มือ ข้อกำหนด และกระบวนการดำเนินงาน นำไปสู่การประกาศกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 โดยนำร่องผลิตภัณฑ์แรก คือ เตาแก๊สหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว และใช้การติด “ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง” เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจการประหยัดพลังงาน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น

    


ช่วงระยะเวลาดำเนินงาน

ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2548)                                                                                                                                                                                                                                                                                                           

  • ศึกษาองค์ประกอบและลักษณะของเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง ขนาดของรูแก๊ส ขนาดท่อแก๊ส และลักษณะทางกายภาพอื่นๆ
  • สุ่มทดสอบเตาแก๊สในท้องตลาด (ทดสอบโดยการต้มน้ำให้เดือด โดยดูปริมาณก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้ไปเพื่อทำให้น้ำเดือด) และนำผลการทดสอบมาเรียงลำดับตามการใช้พลังงานน้อยที่สุดไปมากที่สุด และจัดกลุ่มเตาแก๊สที่ใช้พลังงานน้อยสุดในกลุ่มร้อยละ 20 แรกเป็นเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง และใช้ค่าพลังงานของกลุ่มนี้เป็นค่าอ้างอิงในการระบุและทดสอบต่อไป โดย “เตาแก๊สประสิทธิภาพสูง” คือเตาที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพื่อทำให้น้ำเดือดไม่เกินค่าอ้างอิง

ระยะที่ 2                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                     

  • ศึกษาองค์ประกอบและพัฒนาผลการทดสอบในอุปกรณ์อื่นๆ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น
  • จัดทำแผนแม่บทอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงของประเทศไทย ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 2 ฉบับ

ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2555-2556)                                                                                                                                                                                                                                                                                              

  • พัฒนาและจัดทำฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 โดยหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนในการทำงาน และส่งเสริมการประหยัดพลังงานในประเทศให้ครอบคลุมไปพร้อมๆ กัน
  • โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะดูแลการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ภายในครัวเรือนที่ไม่ใช้ไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์ภายในครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. โดยการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5
  • มหาวิทยาลัยมหิดลจัดประกวดออกแบบฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 
  • ดำเนินการทดสอบและติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 ครั้งแรก สำหรับเตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว และมอเตอร์ไฟฟ้า

 

       

ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2557-2561)                                                                                                                                                                                                                                                                                            

ศึกษาองค์ประกอบและพัฒนาผลการทดสอบในอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ให้ครอบคลุมประเภทอุปกรณ์ให้มากขึ้น และเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการรณรงค์การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ทำให้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2550-2561 มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง จำนวน 19 ผลิตภัณฑ์

 

 

ระยะที่ 5 (พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน)                                                                                                                                                                                                                                                                                        

จัดทำข้อเสนอสำหรับสีทาหลังคา เนื่องจากชั้นที่อยู่สูงที่สุดของแต่ละอาคารมีความร้อนสะสมมากที่สุดเพราะรับรังสีความร้อนโดยตรง ทำให้ต้องใช้พลังงานในการระบายความร้อนค่อนข้างสูง จึงได้ร่วมวิจัยกับภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทสีในภาคเอกชน เพื่อพัฒนาสีทาหลังคาที่สามารถสะท้อนความร้อนออกจากตัวอาคารให้ได้มากที่สุด เกิดความร้อนสะสมให้น้อยที่สุด เพื่อทำให้อาคารลดการใช้พลังงานในการระบายความร้อน ดังนั้น หากข้อเสนอดังกล่าวนำไปสู่การประกาศใช้ จะทำให้เกิดมาตรฐานสีทาหลังคาที่ยกระดับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานให้สูงขึ้นในประเทศไทย


ขอบคุณภาพจาก: สีเบเยอร์


ขอบคุณภาพจาก: สีเบเยอร์

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้ทำงานร่วมกับบริษัทสีเบเยอร์ เพื่อหาวิธีการประเมินการประหยัดพลังงานในอาคาร โดยประเมินการลดใช้พลังงานจากการทาสีอาคาร ซึ่งพัฒนามาเป็นเว็บแอปพลิเคชัน Paint CO2CAL ที่เป็นโปรแกรมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2 Emission) หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และคำนวณค่าการประหยัดพลังงานจากการใช้สีทาอาคารของสีเบเยอร์คูลมากกว่า 1,200 เฉดสี ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีสีทาบ้านให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก และให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลการใช้พลังงานก่อนการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมเป้าหมายโลกในการรักษาระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

ในอนาคตอันใกล้ ศูนย์วิจัยฯ กำลังพัฒนาห้องทดสอบและจัดเตรียมเอกสารเพื่อยกระดับห้องทดสอบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 (มาตรฐานการสอบเทียบเครื่องมือวัดในโรงงานอุตสาหกรรม) ให้มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล สร้างความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการ เพิ่มความสามารถการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปที่ใช้ผลิตภัณฑ์
 


บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน (CERT Lab) ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูง เพื่อพัฒนาขั้นตอนและกระบวนการในการทดสอบอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ศึกษาข้อมูลค่ากลางการใช้ไฟฟ้าของแต่ละอุปกรณ์เพื่อเสนอค่ามาตรฐานการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละอุปกรณ์ รวมทั้งจัดให้มีห้องปฏิบัติการทดสอบพลังงานสำหรับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายที่จะนำอุปกรณ์มาทดสอบเพื่อให้ได้การรับรองจากห้องปฏิบัติการ โดยผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารการรับรองฯ ไปขึ้นทะเบียนติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ 

ปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบพลังงานมีการให้บริการทดสอบอุปกรณ์ เช่น เตาแก๊ส มอเตอร์ เครื่องยนต์ และเครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม เป็นต้น นอกจากการทดสอบเพื่อนำอุปกรณ์ไปขึ้นทะเบียนติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงแล้ว ผู้ประกอบการก็เข้ามาใช้บริการทดสอบเพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง และขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน

จากผลสำเร็จในการดำเนินงานของโครงการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการทดสอบพลังงาน ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งมีผู้ประกอบการเข้ามาศึกษาดูงานห้องทดสอบเพื่อนำไปสร้างห้องทดสอบของของบริษัทเพื่อใช้พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนเอง พร้อมทั้งยังมีการไปให้ความรู้และอบรมผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมในเรื่องการใช้ห้องทดสอบอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ทั้งนี้ผู้ประกอบการบางส่วนที่มีข้อมูลผลการทดสอบอุปกรณ์จากห้องทดสอบของตนเองหรือห้องทดสอบของทางคณะฯ ได้ขอคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทางผู้เชี่ยวชาญของคณะฯ และมหาวิทยาลัยเองถือว่าการดำเนินงานของห้องทดสอบ การให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐบาล เป็นการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลให้ได้มากที่สุด

   


 

Partners/Stakeholders

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน 

ผู้ดำเนินการหลัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เวชกิจ
ส่วนงานหลัก