โครงการจากใจสู่ใจ (ระยะที่ 4) คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง เพื่อชีวิตหลังกำแพง

detail

อดีตผู้ต้องขังที่ผ่านโครงการจำนวนหนึ่งที่มีความมั่นคงภายในตนเอง สามารถยืนหยัดต่อสู้ในสังคมปัจจุบันได้โดยไม่หันกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาและต้องรับโทษทางอาญาเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลเชิงสถิติของกรมราชทัณฑ์พบว่าการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในประเทศไทย (รวมชายและหญิง) ในปี 2559 นั้นมีผู้กระทำผิดและรับโทษทางอาญาจำคุกแบ่งเป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 264,878 คน ผู้ต้องขังหญิงจำนวน 42,070 คน รวมทั้งสิ้น 306,948 คน พบว่ามีผู้ต้องขังที่พ้นโทษแต่ละปีเกือบสองแสนคนแต่มีผู้กระทำผิดซ้ำร้อยละ 26.97 ของผู้ต้องขังที่พ้นโทษ (กลุ่มงานพัฒนาระบบการพัฒนาพฤตินิสัย, 2560)

ถึงแม้ว่านโยบายของกระทรวงยุติธรรม จะร่วมมือกับหลายๆ ฝ่ายในการ “คืนคนดี สู่สังคม” โดยการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย แต่ในโลกแห่งความจริงทุกครั้งที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ มักทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวง วิตกกังวลเกรงว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วจะมาก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น ทำให้กรมราชทัณฑ์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และพยายามสร้างความเข้าใจต่อประชาชนว่า ผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อกลับคืนสู่สังคมจะไม่กลับมาสร้างปัญหาหรือก่อคดีอีก เพราะทุกเรือนจำจะมีการอบรมกลั่นกรองผู้ต้องขังและเรียกผู้อุปการะหรือผู้ปกครองมาทำความเข้าใจ และตรวจสอบถึงครอบครัว ความเป็นอยู่ ความพร้อมต่างๆ เพื่อคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนให้เข้าหลักสูตรการอบรมก่อนที่จะมีการปล่อยออกสู่สังคม แต่ปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความหวาดระแวงและตั้งข้อรังเกียจ โดยมองว่าผู้พ้นโทษ อาจก่ออันตราย มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ต้องอยู่ร่วมในสังคมกับอดีตผู้ต้องโทษ เมื่อขาดโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ก็อาจเป็นเหตุให้ผู้พ้นโทษส่วนหนึ่งกระทำผิดซ้ำและกลับเข้าไปในเรือนจำอีก ชีวิตของคนที่เคยทำผิดพลาด คงไม่ง่ายที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติเหตุหนึ่งก็เพราะมักจะถูกปิดกั้นโอกาสในการประกอบอาชีพ หรือการจะต้องกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำภายหลังจากการพ้นโทษออกมาตนได้ลองหางานทำในหลายๆ ที่ได้รับโอกาสบ้าง ไม่ได้รับบ้าง เพราะบางคนก็มองว่าตนเคยกระทำความผิด จึงกลัวว่าถ้ารับเข้ามาทำงานอาจจะมีปัญหาได้

   

ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ เรือนจำกลางขอนแก่น โดยการสนับสนุนจากบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้นำโครงการ “จากใจสู่ใจ ระยะที่ 4 คุณค่า ความสุข และพลังภายในที่แท้จริง เพื่อชีวิตหลังกำแพง” โดยเป็นการนำกระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา เข้าไปสร้างสุขภาวะในมิติที่ลึกซึ้งเชิงจิตวิญญาณให้เกิดแก่ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้ในโครงการนี้ออกแบบให้ผู้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่ยาว ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 – มิถุนายน พ.ศ. 2565


วัตถุประสงค์หลักของโครงการ

1. เพื่อสร้างผู้ต้องขังที่มีความพร้อมทางสุขภาวะทางปัญญาก่อนจะพ้นโทษ 

    โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมทางสุขภาวะทางปัญญาสำหรับผู้ต้องขังหญิงและชาย จำนวน 8 ครั้ง ดังนี้

  • จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้ต้องขังหญิง 30 คน จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน
    ครั้งที่ 1 วันที่ 16-20 กันยายน 2562
    ครั้งที่ 2 วันที่ 28 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2562
    ครั้งที่ 3 วันที่ 9-13 ธันวาคม 2562
    ครั้งที่ 4 วันที่ 17- 21 กุมภาพันธ์ 2563 
    ผลการดำเนินงาน
    ในครั้งแรกผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ค่อนข้างขี้อาย ไม่กล้าตัดสินใจ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยน สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ครั้งที่สองมีพลังในการเรียนรู้และทำงานกลุ่มได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อทราบว่ากลุ่มผู้ชายทำได้ดี จากการชมภาพยนตร์รวมทั้งคำถามข้ามเส้น Diversity มีหลายคนบอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กจนโตที่สะท้อนถึงปัญหาที่ทับซ้อนของผู้หญิงในหลายแง่มาก ทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา และกรอบคิดเรื่องเพศที่ส่งผลมากต่อชีวิต มีกระบวนกรหญิง 2 คน และเจ้าหน้าที่เรือนจำหญิง 1 คน ตำแหน่ง นักจิตวิทยาชำนาญการ สังคมสงเคราะห์ชำนาญงาน ลงไปร่วมด้วยในกิจกรรมคำถามข้ามเส้น ทำให้เกิดบรรยากาศรับฟัง เห็นสุขทุกข์ มีความเห็นอกเห็นใจและความไว้วางใจกันมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมมีสมาธิและจดจ่อกับการเรียนรู้มากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น รับฟังเพื่อนมากขึ้น ทำงานเป็นกลุ่มได้ดีขึ้น เริ่มจับประเด็นได้ หลายคนเริ่มเล่าเรื่องราวที่เปราะบางซึ่งส่งผลต่อคำถามในคุณค่าของตัวเอง จากการจัดกระบวนการทั้ง 4 ครั้ง กระบวนกรมีข้อสังเกตตรงกันว่า
    ปัญหาของผู้ต้องขังหญิงมีความซับซ้อนมาก หลายคนกดดันตัวเองและรู้สึกผิดทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่มีประเด็นที่ผูกโยงกับโครงสร้างสังคม อำนาจ กรอบคิดระบบเพศ

     
  • จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้ต้องขังชาย 30 คน จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน
    ครั้งที่ 1 วันที่ 7-11 ตุลาคม 2562
    ครั้งที่ 2 วันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562
    ครั้งที่ 3 วันที่ 27-31 มกราคม 2563
    ​ครั้งที่ 4 วันที่ 16- 20 มีนาคม 2563
    ผลการดำเนินงาน
    ตั้งแต่ครั้งแรกผู้ต้องขังชายมีพลังในการเรียนรู้ดีมาก มีสมาธิจดจ่อ จับประเด็นได้และกล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำงานกลุ่มได้ดีทำให้กิจกรรมไปค่อนข้างเร็ว ทั้งข้ามเส้นและตาข่ายไฟฟ้า จากการชมภาพยนตร์รวมทั้งคำถามข้ามเส้น Diversity ทำให้มีการบอกเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่ตั้งแต่วัยเด็กเปราะบางมากและบาดแผลในชีวิตก่อนเข้ามาในเรือนจำ มีเสียงสะท้อนว่า “ที่ผ่านมาไม่เคยได้เรียนรู้แบบนี้ ถ้าได้เรียนแบบนี้คงไม่ต้องมาอยู่ที่นี่” การเรียนรู้กับโครงการนี้ทำให้เขารู้จักตัวเองมาก และเกิดความเข้าใจคนอื่นมากขึ้นว่า การเรียนรู้นี้ทำให้เขารู้ว่า เขาจะตื่นขึ้นในแต่ละวันเพื่อมาทำอะไร “ทำให้เกิดคำถามต่อชีวิตว่า ที่จริงแล้วเขามีชีวิตเพื่ออะไร เขาต้องการอะไรในชีวิตนี้” หลังจากผ่านกระบวนการ หลายคนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น แต่บางคนยังไม่สามารถคลี่คลายได้ จากการจัดกระบวนการทั้ง 4 ครั้ง กระบวนกรมีข้อสังเกตตรงกันว่า
    ผู้ต้องขังชายมีพลังและสมาธิในการเรียนรู้ดีมาก มีทักษะความเป็นผู้นำ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจนตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่มีประเด็นในชีวิตของผู้เข้าร่วมจะผูกโยงกับโครงสร้างสังคม อำนาจ กรอบคิดระบบเพศ

     

2. เพื่อให้ผู้ต้องขังหลังปล่อยให้มีความพร้อมทางสุขภาวะทางปัญญาในการปรับตัวหลังพ้นโทษ ​ 

    จัดกระบวนการเรียนรู้เสริมสร้างความพร้อมในการปรับตัวหลังพ้นโทษสำหรับผู้ต้องขังและเยาวชนหลังปล่อย จำนวน 2 ครั้ง  ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 จัดกระบวนการ เรื่อง การรู้จักตัวเอง เข้าใจผู้อื่นและเข้าใจสังคม ผ่านกรอบโครงสร้างสังคม เรื่องระบบเพศ วันที่ 6-12 มีนาคม 2563 ที่โรงแรมลาวิลล่า จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 24 คน
    ผลการดำเนินงาน
    ผู้เข้าร่วมมีความตั้งอกตั้งใจในการเรียนรู้ มีการสะท้อนประสบการณ์สะเทือนใจจากชีวิตจริงซึ่งเชื่อมโยงกับบทเรียนได้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงกรอบ วิธีคิด และโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อทัศนคติ การดำเนินชีวิต จนผลักให้หลายคนต้องเข้ามาใช้ชีวิตหลังกำแพง เมื่อผู้เข้าร่วมได้เห็นโครงสร้างทางสังคมมากขึ้น ทำให้ลดการตัดสิน ตีตรา ลงโทษตัวเองน้อยลง แต่ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างหนัก ทำให้มีความล้า ประกอบกับสถานที่จัดกระบวนการไม่มีพื้นที่ทางธรรมชาติให้บรรยากาศผ่อนคลาย

  • ครั้งที่ 2 จัดกระบวนการ นพลักษณ์ ศาสตร์แห่งการรู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่น วันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมต้นหว้ารีสอร์ท จังหวัดขอนแก่น ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 22 คน
    ผลการดำเนินงาน
    ผู้เข้าร่วมมีความตั้งใจในการเข้าร่วมกระบวนการ มีการสะท้อนประสบการณ์จากชีวิตจริงซึ่งเชื่อมโยงกับบทเรียนนพลักษณ์ได้ ส่งให้ผู้เข้าร่วมสังเกตพฤติกรรมและความคิดของตนเองจากสถานการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาได้ชัดเจนขึ้น เห็นถึงข้ออ่อนของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้น ทำให้ใช้เวลาในการลงลึกกับเนื้อหา การทำงานร่วมกันเพื่อเสริมพลังตนเองและพลังกลุ่ม รวมทั้งการภาวนายังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
     


ปัญหาและอุปสรรคหลักในช่วงการดำเนินงานที่ผ่านมา

         ตั้งแต่ เมษายน 2563 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ด้วยการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid 19) ทำให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ประกาศนโยบายงดการเข้าเยี่ยมของญาติและการจัดกิจกรรมรวมทั้งการเรียนการสอนจากบุคคลภายนอก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในเรือนจำ ทางเรือนจำกลางขอนแก่นจึงปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างเข้มงวด

         ระหว่างนั้นทางผู้รับผิดชอบโครงการและวิทยากรภายนอกพื้นที่ขอนแก่นได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดหายาทั้งแพทย์แผนไทย และยาโฮมีโอพาธีย์ รวมทั้งวัสดุเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั้งในการป้องกัน ดูแล และรักษาพยาบาล

         ในส่วนการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้ต้องขังหลังปล่อย ต้องเผชิญอุปสรรคจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid 19) เช่นกัน ทั้งข้อจำกัดในการเดินทางและการจัดกิจกรรมแบบรวมกลุ่ม ซึ่งทางผู้รับผิดชอบโครงการและวิทยากรภายนอก พื้นที่ขอนแก่น ได้ทดลองและพยายามจัดกระบวนการผ่านสื่อออนไลน์ แต่พบว่า สำหรับผู้เข้าร่วมมีความติดขัดและไม่สะดวกอย่างมาก ทั้งเรื่องสถานที่ของตัวผู้เข้าร่วมเอง อีกทั้งอุปกรณ์ และระบบสัญญาณ

 

Partners/Stakeholders

บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผู้ดำเนินการหลัก
คุณปฏิพัทธ์ อนุรักษ์ธรรม
ส่วนงานหลัก