การพัฒนาต้นแบบชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยการสร้างมาตรฐานการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนให้ชุมชนโครงการหลวงใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
การพัฒนาต้นแบบชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยการสร้างมาตรฐานการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนให้ชุมชนโครงการหลวงใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ปัจจุบันชุมชนในพื้นที่โครงการหลวงหันมาทำการเกษตรโดยอาศัยฐานความรู้ที่เหมาะสมภายใต้ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ เกษตรกรเลิกการปลูกฝิ่น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวงได้มุ่งพัฒนาชุมชนพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในเชิงคุณภาพทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนระยะยาวและเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูง แม้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงจะประสบผลสำเร็จในการทำให้เกษตรกรเลิกการปลูกฝิ่น หันมาประกอบอาชีพบนฐานความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารดังกล่าว แต่ปัจจุบันมีปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ ความแปรปรวนของภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อทั้งคน การเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ตลอดจนส่งผลต่อคุณภาพของดิน และการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนในโครงการหลวงเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำให้เกิดความยั่งยืนในระยะต่อไป จะเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนในโครงการหลวงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว และเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำบนพื้นที่สูง รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของการพัฒนาชุมชนในชนบทเพื่อเป็นชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญของการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น จากการเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมา ภายใต้หลักการของการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนโครงการหลวงเติบโตอย่างสมดุล สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลง และเกิดความยั่งยืนในที่สุด
วัตถุประสงค์โครงการ
1) เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
2) ประเมินชุมชนโครงการหลวงในบริบทของชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
3) พัฒนาและยกระดับชุมชนโครงการหลวงให้เป็นต้นแบบของชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
โดยการสร้างมาตรฐานการพัฒนาให้ชุมชนโครงการหลวงเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ต้นแบบชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การสร้างมาตรฐานดังกล่าวใช้เทคนิคการวิจัย EDFR (The Delphi Ethnographic Delphi Futures Research) เน้นให้เกิดความสมดุลทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ได้มาตรฐานการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน แบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
1) ด้านการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2) ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้
3) ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน
4) ด้านความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งกำหนดเป็นเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานดังกล่าวได้ 19 ข้อ 32 ตัวชี้วัด นำไปใช้ในการศึกษาและประเมินชุมชนโครงการหลวง 11 แห่ง 12 ชุมชน แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ตามภูมิสังคมบนพื้นที่สูง ได้แก่ ชุมชนป่าเมี่ยง ชุมชนที่ปลูกข้าวเป็นหลัก และชุมชนที่มีฐานจากการปลูกฝิ่น จากผลการศึกษาพบว่าชุมชนโครงการหลวงทุกชุมชนสามารถเป็นชุมชนต้นแบบให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นต่อไปได้ในอนาคต โดยชุมชนโครงการหลวงดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน แบ่งเป็น ระดับดีเยี่ยม จำนวน 11 แห่ง และระดับดีมาก จำนวน 1 แห่ง
นอกจากนี้คณะผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของชุมชนโครงการหลวงทั้ง 12 แห่ง ในปี พ.ศ. 2559 พบว่าปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของชุมชนโครงการหลวงเทียบต่อคนต่อปี มาจากพลังงานฟอสซิล ซึ่งเกิดจากการขนส่งและเดินทางเป็นหลัก รองลงมาคือ จากพลังงานชีวมวลที่ชุมชนใช้ดำเนินชีวิตประจำวัน และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในชุมชนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อยที่สุด โดยค่าเฉลี่ยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของชุมชนโครงการหลวงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย
การศึกษาผลการยกระดับและปรับปรุงกิจกรรมการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงพบว่า สมาชิกในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำกิจกรรมพัฒนาเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเก็บกักก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ปล่อยออกสู่บรรยากาศอย่างต่อเนื่อง สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยที่ดีมากยิ่งขึ้น ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษและผลกระทบที่จะเกิดกับโลกในอนาคต ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก สร้างชื่อเสียง และรายได้จากการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ อย่างไรก็ตามกิจกรรมที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ ส่งเสริมเกษตรกรให้น้ำพืชด้วยวิธีการแบบประหยัด ปรับปรุงฟาร์มปศุสัตว์ตามมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง ปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะชุมชน และเพิ่มครัวเรือนให้ติดตั้งระบบบำบัดน้ำทิ้งหรือฟาร์มปศุสัตว์ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหนังสือเผยแพร่องค์ความรู้ ได้แก่
1) การพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน กรณีศึกษาชุมชนโครงการหลวงบนพื้นที่สูง คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2) คู่มือการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3) Sustainable low-carbon community development: A study based on a royal project for highland community development in Thailand.
1) มูลนิธิโครงการหลวง
2) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
3) ชุมชนโครงการหลวง