การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

detail

การเป็นที่พึ่งให้กับเครือข่ายเป็นภาคกิจหลักของสถาบันการศึกษา ที่ต้องร่วมเรียนรู้ สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน จะทำให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง และมีการใช้ประโยชน์ได้จากแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และเป็นบึงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพทางด้านพรรณพืช สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมการใช้พื้นที่เพื่อบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ รวมทั้งได้การประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่บึงบอระเพ็ด แต่ด้วยการก่อสร้างบึงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่ก่อน ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายขึ้นมาอยู่รอบๆ ที่ผ่านมาบึงบอระเพ็ดมีปัญหาทับซ้อนหลายด้าน เช่น ขอบเขตบึงไม่ชัดเจน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การบุกรุกพื้นที่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน สิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม การบริหารจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพ และความไม่เข้าใจกันของทุกภาคส่วน เป็นต้น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2562

  

การใช้น้ำในบึงบอระเพ็ด มีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการทำประมง การดึงน้ำไปใช้ทำการเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค แต่เนื่องจากสภาพบึงบอระเพ็ดมีสภาพคล้ายจานข้าวทำให้เก็บน้ำไว้ได้ไม่มาก ทำให้มีการแย่งใช้ทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในช่วงข้าวราคาดีมีการดึงน้ำไปทำนาย้อนกลับขึ้นที่สูงด้วยระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร จนเกิดข้อพิพาทในการแย่งน้ำระหว่างชาวนาและคนหาปลารวมถึงระหว่างชาวนาด้วยกันเอง จนทำให้ฤดูแล้งเกือบทุกปีจะมีน้ำดิบไม่เพียงพอสำหรับการทำประปาหมู่บ้าน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในบึงบอระเพ็ดไม่มีน้ำอุปโภค รวมทั้งระบบสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ตะกอนดินที่ไหลจากพื้นที่ต้นน้ำ การทับถมของวัชพืช และการปลดปล่อยน้ำจากการไถพรวนของนาข้าวรอบบึงบอระเพ็ด ทำให้บึงที่ทำหน้าที่เก็บน้ำมีความตื้นเขิน เก็บน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หน่วยงานภาครัฐได้มีการแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยการขุดลอกตะกอนดิน และมีการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำน่านเข้าสู่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ชาวนาบริเวณคลองส่งน้ำได้สูบน้ำไปใช้ทำการเกษตรส่งผลให้น้ำไม่สามารถเข้าสู่บึงบอระเพ็ดได้อย่างเต็มที่ ด้วยการที่น้ำมีปริมาณจำกัด แต่มีความต้องการใช้จากเกษตรกรหลายกลุ่มในการทำการเกษตร ทำให้เกิดการแย่งน้ำในลำคลองสาขา ดังนั้นปัญหาการใช้น้ำและการแย่งน้ำที่เกิดขึ้นในบึงบอระเพ็ดจึงเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการแก้ไขปัญหาจะส่งผลทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท การขาดความสามัคคีในชุมชน และระบบสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจนสู่ขั้นวิกฤติได้ ต่อมาจึงมีการจัดตั้ง "องค์กรผู้ใช้น้ำ" จากนั้นขึ้นทะเบียนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับเครือข่ายบึงบอระเพ็ด โดยองค์กรผู้ใช้น้ำจะมีข้อมูลปัญหาและสถานการณ์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในฤดูทำนาข้าว รวมทั้งเจรจากับเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน

 

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การวิจัย และการบริการวิชาการ ผ่านการทำงานของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมบึงบอระเพ็ด เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งในด้านการเกษตร การประมง และการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน  โดยมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2565 ซึ่งมีการศึกษาและการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ มีการร่วมทำงานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ และทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ 9 ตำบล ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การผันน้ำในการทำการเกษตรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในกรณีน้ำเหือดแห้งในฤดูแล้ง จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดเร่งด่วนระยะ 3 ปี โดยได้รับงบประมาณจากภาครัฐในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อมาจึงมีการแบ่งปันข้อมูล การวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำท่วม การรักษาระดับน้ำบนฐานข้อมูลวิชาการ เป็นต้น

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดด้วยการรับฟังความคิดเห็น การสร้างการรับรู้ การสร้างความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยในการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยในช่วงปี พ.ศ. 2565-2567 ได้สร้างระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


ผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2565-2568


ช่วงการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ
ในปี พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ มีการสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐภาคประชาชนในแต่ละตำบล และสถาบันการศึกษา ด้วยการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านทรัพยากรน้ำ และวิเคราะห์ข้อมูลไปนำเสนอให้กับแต่ละเวทีการประชุมพร้อมทั้งรับฟังปัญหาและความต้องการในแต่ละพื้นที่ไปแบ่งปันให้กับทุกภาคส่วน เพื่อให้รู้เท่ากันและความเข้าใจร่วมกัน มีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้น้ำรูปแบบความสำคัญทางสถิติซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการ เพื่อนำเสนอข้อมูลให้กับทุกภาคส่วนและสร้างโมเดลการใช้น้ำร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีการสร้างโครงสร้างในการบริหารจัดการน้ำที่มีแนวทางการดำเนินงานที่ยอมรับร่วมกันทุกภาคส่วน ผลักดันสู่ระดับนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ พร้อมทั้งสร้างระบบการเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบสมาร์ทบึงบอระเพ็ด



 

ผลกระทบของงานในช่วงนี้ พบว่า ทุกภาคส่วนได้มีการสร้างโมเดลการจัดการบึงบอระเพ็ดร่วมกันเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งผลักดันข้อตกลงในการใช้น้ำเข้าสู่แผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดอีกด้วยนอกจากนี้ชุมชนได้มีการรวมกลุ่มกันจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ดทั้งหมดรวมจำนวน 5 ตำบล ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายมีการสร้างการทำงานร่วมกันที่สามารถลดความขัดแย้งได้ 


     



ช่วงการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ

ปี พ.ศ. 2566-2567 เป็นช่วงการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการน้ำกับโครงสร้างที่มีอยู่ โดยการประชาสัมพันธ์ระบบการบริหารจัดการน้ำการขึ้นทะเบียนผู้ต้องการใช้น้ำจากบึงบอระเพ็ด การสร้างทีมที่เป็นเอกภาพ และการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่นอกจากนี้มีการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำด้วยการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การพัฒนาศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ดและการจัดทำสื่อการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ผลกระทบของงานที่เกิดขึ้นพบว่า มีการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นที่เชื่อมโยงจากในบึงสู่นอกบึงบอระเพ็ดอีก 4 ตำบล รวมทั้งหมดเป็น 9 ตำบล ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการใช้น้ำ จึงได้มีการขึ้นทะเบียนต้องการใช้น้ำทั้งในเขตและนอกเขตบึงบอระเพ็ดรวมจำนวน 3,723 ราย 5,011 แปลง รวมขนาดเนื้อที่ 69,871 ไร่ ศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ดได้ใช้งานจริง โดยมีการสนับสนุนข้อมูลให้กับคณะกรรมการชุดต่างๆ นอกจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาหนุนเสริมการทำงานให้กับเครือข่ายบึงบอระเพ็ดด้วยการสร้างระบบ Bueng Boraphet – Water Image Downloader ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมได้อย่างเต็มศักยภาพและมีคนเข้ามาดูงานแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดมากกว่า 200 คน ในการนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ลดลงจนเป็นศูนย์ในปี 2566-2567 และคณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด ได้มีการรับรองเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4 ระดับ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจในการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ ครั้งที่1/2567 ได้รับรอง “ระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นทางการและยั่งยืนต่อไป

 

 


ระยะถัดมา ในช่วงปี พ.ศ. 2567-2568 ได้ต่อยอดจากการบริหารจัดการน้ำสู่การพัฒนาอาชีพของประชาชนในพื้นที่ โดยการปรับวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำนาเปียกสลับแห้งที่เป็นนาที่ใช้น้ำน้อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการทำปุ๋ยจากวัชพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดที่ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการน้ำท่วมวัชพืชอีกด้วยการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ทั้งการสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำ และการขับเคลื่อนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นนวัตกรรมประชาธิปไตยที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทุกกระบวนการ พร้อมทั้งมีการสร้างความร่วมมือ การรับฟังความคิดเห็น การทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันจนถึงการขับเคลื่อนส่งต่อไปในระดับนโยบายผ่านกฎหมายต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ทำให้ “โครงการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด” ได้รับรางวัลระดับดีมากในการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย ประจำปี 2567 ประเภทชุมชน องค์กร เนื่องจากเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนยอมรับร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นได้

 

Partners/Stakeholders

จังหวัดนครสวรรค์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
ส่วนเครื่องกลสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 (กรมทรัพยากรน้ำ)
โครงการชลประทานนครสวรรค์
ประมงจังหวัดนครสวรรค์
ธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 ตำบล
เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ 9 ตำบล

ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.ณพล อนุตตรังกูร
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
นายยุทธิชัย โฮ้ไทย นางสาววิมลรัตน์ อัตถบูรณ์ นายธนากร จันหมะกสิต นางชุติภากาญจน์ ประจันทร์