ธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัยมหิดล

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ปลอดจากการทุจริต (Zero Corruption University) โดยดำเนินงานตามหลักธรรมภิบาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (การสร้างค่านิยมสุจริต-การพัฒนาระบบการดำเนินงานเพื่อป้องกันการทุจริต-การปราบปรามผู้กระทำทุจริต) 

 

มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อการบริการจัดการองค์กรอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (World Class University) และเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment: ITA) ของสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้การขับเคลื่อนระบบธรรมาภิบาล และการดำเนินงานเกี่ยวกับประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล (Integrity & Transparency Assessment: ITA) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงมีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ดังนี้

วิสัยทัศน์

มหาวิทยาลัยมหิดลโปร่งใส ร่วมใจต้านการทุจริต

พันธกิจ

(1) สร้างวัฒนธรรมสุจริต

(2) ป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ

(3) ปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์

เป็นมหาวิทยาลัยที่ปลอดจากการทุจริต (Zero Corruption University)

เป้าประสงค์ที่ 1 ส่งเสริมค่านิยมสุจริต

เป้าประสงค์ที่ 2 พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ

เป๋าประสงค์ที่ 3 ปราบปรามการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มหาวิทยาลัยมีการขับเคลื่อนระบบธรรมาภิบาล โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ตามยุทธศาสตร์ที่ 4.2 Management for Self - Sufficiency and Sustainable Organization มีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง โดยกำหนดให้ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยต้องดำเนินงานตามกรอบการขับเคลื่อนระบบธรรมาภิบาล และเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีคณะกรรมการขับเคลื่อนระบบธรรมาภิบาล เพื่อเสนอนโยบาย มาตรการ วางระบบและดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล 

 

มหาวิทยาลัยกำหนดกรอบการบริหารความเสี่ยงที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารความเสี่ยงกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ โดยบูรณาการความเสี่ยงภายในองค์กรที่เชื่อมโยงข้อมูลจากระดับมหาวิทยาลัยสู่ระดับส่วนงาน (Top - Down) และจากระดับส่วนงานสู่ระดับมหาวิทยาลัย (Bottom - Up) ซึ่งครอบคลุมเหตุการณ์ความเสี่ยงสำคัญ 5 ประเภท ได้แก่ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Risk) และความเสี่ยงด้านการทุจริต (Fraud Risk)

สำหรับความเสี่ยงด้านการทุจริต (Fraud Risk) จะมีการประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันการทุจริตโดยประเมินการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน เพื่อเปิดเผยการดำเนินการต่าง ๆ ของหน่วยงานให้สาธารณชนได้รับทราบใน 2 ประเด็น คือ

  • การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ได้แก่ นโยบายไม่รับของขวัญ การประเมินความเสี่ยงเพื่อการป้องกันการทุจริตและแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต
  • มาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ได้แก่ มาตรการเสริมสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม มาตรการส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตภายในหน่วยงานซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นข้างต้นแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อผลการประเมินเพื่อนำไปสู่การจัดทำมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสภายในหน่วยงาน และมีการกำกับติดตามการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินกิจกรรมส่งเสริมธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ อาทิเช่น

  • การจัดทำ แผนป้องกันและปราบปรามการทุจริตมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของมหาวิทยาลัยโดยมีการดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (ต้นน้ำ หมายถึง การสร้างค่านิยมสุจริต กลางน้ำ หมายถึง การพัฒนาระบบการดำเนินงานเพื่อป้องกันการทุจริต และ ปลายน้ำหมายถึง การปราบปรามผู้กระทำทุจริต) ซึ่งในปี พ.ศ.2566 นี้ มหาวิทยาลัยได้ขยายผลการพัฒนาธรรมาภิบาลไปยังส่วนงานและหน่วยงานในสังกัดโดยใช้ เกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของสำนักงาน ป.ป.ช.  ส่งผลให้ส่วนงานและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องมีการจัดทำแผนป้องกันการทุจริตซึ่งจะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีการดำเนินการในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
  • การตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย คณะกรรมการอุทธรณ์และร้องทุกข์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อมาดำเนินการเกี่ยวกับการอุทธรณ์และร้องทุกข์ของบุคลากรเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการจรรยาบรรณและวินัย เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับรักษาจรรยาบรรณและวินัยเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ คณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยข้อร้องเรียน เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยข้อเรีองเรียนเพื่อดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลแสดงถึงความโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรมในการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการดำเนินการจะเป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง แนวทางการจัดการข้อร้องเรียน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีช่องทางออนไลน์สำหรับ การร้องเรียนทั่วไป และ ร้องเรียนการทุจริต  
  • การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บุคคล ชุมชน สังคมและสาธารณะ มี ส่วนร่วมในการดำเนินงานตามภารกิจของมหาวิทยาลัย  เช่น การรับฟังความคิดเห็นจากการสำรวจ การรับฟังข้อเสนอแนะจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานหรือการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น การสร้างความร่วมมือหรือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการมีบทบาทในการดำเนินงานร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานของโครงการ
  • การเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานของมหาวิทยาลัย การบริหารงาน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล การส่งเสริมความโปร่งใส การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต มาตรฐานส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส
  • การประกาศ นโยบายไม่รับของขวัญของมหาวิทยาลัยมหิดล (NO GIFT POLICY)  เพื่อส่งเสริมค่านิยมองค์กร “I Integrity มั่นคงยิ่งในคุณธรรม” ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีงาม โดยผู้ปฏิบัติงานทุกคนไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิด จากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้ของขวัญ ของกำนัลหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลภายนอกผู้มาติดต่อมหาวิทยาลัย และต้องไม่แสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งของขวัญ ของกำนัลหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อลดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ การรับหรือการให้ตามขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม หรือมารยาทที่ปฏิบัติกันเป็นปกติให้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่มูลค่าต้องไม่เกิน 3,000 บาท หรือใช้บัตรอวยพร สมุดอวยพร บัตรแสดงความเสียใจ หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์แทนการให้สิ่งของ
  • การกำหนดแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของส่วนงาน โดยนำ คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของส่วนงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีการเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านและหลากหลายมิติ กำหนดระเบียบวิธีการประเมินผลที่เป็นไปตามหลักการทางสถิติและทางวิชาการเพื่อให้ผลการประเมินสามารถสะท้อนสุขภาวะขององค์กรในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง โดยมีการเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน คือ
    • ส่วนที่ 1: แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด IIT โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐทุกระดับที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานตนเองโดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็น 
    • ส่วนที่ 2 : แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด EIT โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการหรือผู้ติดต่อหน่วยงานภาครัฐในช่วงปีงบประมาณพ.ศ. 2566 ได้มีโอกาสสะท้อนและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยสอบถามการรับรู้และความคิดเห็น
    • ส่วนที่ 3 : แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment) หรือแบบวัด OIT เป็นการตรวจสอบระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เผยแพร่ไว้ทางหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงาน
  • ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมธรรมาภิบาล เช่น จัดโครงการอบรมให้ความรู้ทางกฎหมาย เรื่อง “หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”  การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการกำกับติดตามการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

      

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาบุคลากรที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ เช่น ความรู้ ทักษะ และสมรรถนะ ตลอดจนคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้บุคลากรมีความสมบูรณ์ ความรู้ ความสามารถ และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม สอดคล้องกับค่านิยมหลักของมหาวิทยาลัย จึงกำหนดข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2564 เพื่อให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ตลอดจนบุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สำนึกในหน้าที่ ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีเกียรติคุณ เป็นที่ยอมรับยกย่องของบุคคลทั่วไป จึงมีแนวทางการเสริมสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่การอบรมในโครงการปฐมนิเทศบุคลากรที่มีหัวข้อเรื่อง “ค่านิยมมหิดล (Mahidol Core Values)”  ซึ่งมี คำว่า Integrity ที่มีความหมายว่า มั่นคงยิ่งในคุณธรรม เป็นหนึ่งในค่านิยมมหิดล

 

 


 

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
มหาวิทยาลัยมหิดล