การศึกษาแนวทางการจัดการขยะอาหารอย่างบูรณาการและพัฒนาศักยภาพการจัดขยะอาหารครัวเรือนอย่างยั่งยืน

detail

ชุมชนสามารถลดขยะอาหารในครัวเรือนได้ และสามารถที่จะประเมินความสามารถของตนเองในการจัดการขยะอาหารในครัวเรือน/ชุมชน ด้วยตัวชี้วัดใน “คู่มือการจัดการขยะอาหารครัวเรือนที่เหมาะสม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเชิงนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของชุมชนในการจัดการขยะอาหาร การกำจัดขยะอาหาร และการจัดการขยะชุมชนของพื้นที่มรดกโลก นอกจากนั้น ยังเป็นการลดงบประมาณของพื้นที่ในการจัดการและกำจัดขยะอาหารลงเป็นอันมาก และยังลดผลกระทบทางอนามัยสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะอาหารที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นเมืองมรดกโลกให้งดงามอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันปัญหาวิกฤตขยะล้นเมืองเกิดขึ้นเกือบในทุกประเทศ โดยในแต่ละปีมีอาหารที่ผลิตได้ในโลกกลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งมากถึง 1.3 พันล้านตัน หรือราว 1 ใน 3 (Gustavsson et al., 2011) แม้แต่ในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็มีขยะอาหารมากถึง 89 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ย 180 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีขยะอาหารราว 34 ล้านตัน/ปี และมีการคาดการณ์ว่าขยะอาหารในสหภาพยุโรปมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 126 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2563 (EPRS, 2014) ในขณะที่ผลการศึกษาจาก Institution of Mechanical Engineers ระบุว่า อาหารที่ผลิตขึ้นทั้งหมดบนโลกต้องสูญเสียและกลายเป็นขยะถึง 30-50 % โดยไม่ได้ตกถึงท้องมนุษย์เลย (Institution of Mechanical Engineers, 2013) ในขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 870 ล้านคน หรือประชากรโลก 1 ใน 8 คน ยังอดอยากและขาดแคลนอาหารอยู่ (UN News Center, 2012) ซึ่งการขาดแคลนอาหารจะทวีความรุนแรงตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคนในปี 2593 โดยเชื่อว่าอาหารที่ถูกทิ้งเหล่านี้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะนำไปเลี้ยงคนนับพันทั่วโลกได้ (Institution of Mechanical Engineers, 2013) นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะอาหารไม่ได้เป็นเพียงการสูญเสียทรัพยากรในการผลิตและการเกษตร เช่น ที่ดิน น้ำ พลังงาน และปัจจัยการผลิต อื่น ๆ แต่ยังส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อย CO2 ที่ไม่จำเป็น (Unnecessary CO2 Emission) และการศูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย (Gustavsson et., 2011)

 

สำหรับประเทศไทย ขยะอาหารเป็นปัญหาสำคัญของการจัดการขยะโดยเฉพาะในเขตเมือง จากการศึกษาในระหว่างปี 2548-2522 ขยะอาหารมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 41.95-44.99 % ของปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ในกรุงเทพฯ (Sharp and Sang-Arun, 2012) ส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยการทิ้งลงถังขยะเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนมาเก็บขนเพื่อนำไปฝังกลบซึ่งเป็นการจัดการขยะที่ปลายทาง อย่างไรก็ตามมีการแนะนำให้ครัวเรือนช่วยลดอาหารขยะ ณ แหล่งกำเนิดเพื่อให้มีปริมาณขยะที่จะต้องนำไปกำจัดหรือทำลายให้น้อยที่สุด โดยส่งเสริมให้นำขยะอาหารไปทำปุ๋ยหมัก ผลิตน้ำสกัดชีวภาพ ผลิตก๊าซชีวมวล หรือนำไปเลี้ยงสัตว์ แต่การส่งเสริมดังกล่าวกลับไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าไหร่ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลามาก ใช้พื้นที่มาก จึงทำให้ปริมาณขยะอาหารจากครัวเรือนยังมีปริมาณที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง เช่น กรุงเทพฯ หรือเมืองที่มีวิกฤตปัญหาขยะล้นเมืองและเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ เมืองมรดกโลกพระนครศรอยุธยา

 

โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” มรดกโลก เป็นพื้นที่แรกในการนำร่อง เนื่องจากมีปัญหาขยะที่สะสมและต่อเนื่องมาอย่างยาวนานมากกว่า 29 ปี โดยเฉพาะบ่อขยะเทศบาลพระนครศรีอยุธยาในพื้นที่ ต.บ้านป้อม ซึ่งมีปริมาณขยะใต้ดินและเหนือพื้นดินสะสมจำนวนกว่า 200,000 ตันในเนื้อที่ 32 ไร่ ที่มีการกองทับถมจนเต็มบ่อ และล้นสูงเป็นภูเขาขยะ และยังมีปริมาณขยะเพิ่มวันละประมาณ 90 ตัน จึงมีปนวคิดที่จะให้อยุธยาเดินหน้าเมืองนำร่องกำจัดขยะล้นเมือง โดยจับมือ กฟภ.พัฒนาพื้นที่บ่อขยะและตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ 372 ไร่ ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะกลับเพิ่มขึ้นถึงแม้จะนำขยะสะสมที่เคยเกลื่อนเมืองมาใส่บ่อขยะใหม่แล้วก็ตาม เพราะคนยังไม่ปรับพฤติกรรมทิ้งขยะแถมยังทิ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของผู้วิจัยในเขตพื้นที่เมืองมรดกโลก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการนำเศษอาหาร เศษผักในครัวเรือนไปทำประโยชน์ แต่ละทิ้งลงถังหรือถุงดำทุกครั้ง คิดเป็นร้อยละ 72.2 (Srijuntrpun, 2017) ดังนั้น การเลือกเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เป็น Model ต้นแบบ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่สั่งสมมานานในพื้นที่ที่เป็นแหล่องท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก แต่ยังสามารถเป็นต้นแบบของการจัดการขยะอาหารในชุใชน “เมือง” (Urban) ที่กำลังมีจำนวนเพิ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศ

 

จากการทบทวนวรรณกรรมพบช่องว่างทางการวิจัยในประเทศที่น่าสนใจใน 2 ประเด็น คือ 1) มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับขยะอาหาร ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นขยะอินทรีย์ 2) ขาดงานวิจัยที่ทำการศึกษาความรู้ความเข้าใจของภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบขยะอาหาร รวมถึงพฤติกรรมของประชาชนในการจัดการขยะอาหาร และ 3) ปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นจริงในครัวเรือน ซึ่งเป็นสถานภาพแรกที่จำเป็นต้องศึกษา/ต้องรู้เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางในการจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมกับบริบทจริงของพื้นที่ทำวิจัย เหล่านี้จึงนำไปสู่คำถามวิจัย คือ 1) ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยา มีความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมในการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนอยู่ในระดับใด 2) ปริมาณขยะอาหารของครัวเรือนในพื้นที่เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยามีมากน้อยเท่าไหร่ 3) อะไรคือปัญหาและอุปสรรคของการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่ทำให้สามารถลดการเกิดขยะอาหารลงได้ 4) การพัฒนาศักยภาพของครัวเรือนในการจัดการขยะอาหารที่ยั่งยืนควรเป็นอย่างไร

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะสำรวจสถานภาพความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมในการจัดการขยะอาหาร ปริมาณและมูลค่าของขยะอาหารในครัวเรือนเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งพัฒนาศักยภาพการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่ยั่งยืนให้กับประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลซึ่งจะเป็นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2561-2580) และบรรลุเป้าหมายกรอบยุทธศาสตร์ฯ ในเป้าหมายที่ 2 ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้รับยังเป็นการใช้ความรู้ การวิจัยเพื่อการจัดการปัญหาที่ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศไทยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (O 2.7) นอกจากนี้ ผลผลิตที่สำคัญของงานวิจัยนี้ คือ คู่มือการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่เหมาะสม (จดสิทธิบัตร) ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะใช้ในการลดขยะครัวเรือนลงได้ โดยสามารถทราบปริมาณขยะอาหารครัวเรือนที่ลดลง และมูลค่าอาหารที่ประหยัดได้ในครัวเรือนเขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาภายหลังกการพัฒนาศักยภาพ/อบรม (ตอบ OKR ลดปริมาณขยะครัวเรือน) ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการขยะอาหารในครัวเรือนอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

 

ประโยชน์ทีได้รับจากผลงานวิจัย

เดือนที่ 1-6 ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย

(1) ระดับความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนของประชาชนเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา

(2) ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์และเชิงสิ่งแวดล้อมของการจัดการขยะอาหารปริมาณและมูลค่าขยะอาหารในครัวเรือนเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา

(3) สภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา

เดือนที่ 7-12 การพัฒนาศักยภาพการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่ยั่งยืน ประกอบด้วย

(1) คู่มือการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่เหมาะสม (จดสิทธิบัตร)

(2) ปริมาณที่ลดลง และมูลค่าอาหารขยะอาหารที่ประหยัดได้ในครัวเรือนเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา ภายหลังการพัฒนาศักยภาพ/อบรม (ตอบ OKR ลดปริมาณขยะครัวเรือน)

(3) นำเสนอผลการศึกษา และแนวทางฯ ต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการจัดการขยะอาหาร รวมทั้งการขยายผลสู่สาธารณะ

 

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์

(1) จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเทศบาลพระนครศรีอยุธยา ได้คู่มือการจัดการขยะอาหารในครัวเรือนที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการส่งเสริมการลดขยะอาหารในเขตพื้นที่ รวมทั้งได้ข้อมูลพื้นฐานระดับความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการจัดการขยะอาหารของประชาชนเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนส่งเสริมการจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมในพื้นที่

(2) ภาคส่วนประชาชน สามารถนำแนวคิดจากคู่มือฯ และการอบรมไปใช้เพื่อการลดขยะอาหารในครัวเรือน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนไปพร้อมกัน

 

ประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ-สังคมและประโยชน์ที่ภาคเกษตรและเศรษฐกิจส่วนรวมจะได้รับทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามความเป็นไปได้

ชุมชนสามารถลดขยะอาหารในครัวเรือนได้ และสามารถที่จะประเมินความสามารถของตนเองในการจัดการขยะอาหารในครัวเรือน/ชุมชน ด้วยตัวชี้วัดใน “คู่มือการจัดการขยะอาหารครัวเรือนที่เหมาะสม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเชิงนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของชุมชนในการจัดการขยะอาหาร การกำจัดขยะอาหาร และการจัดการขยะชุมชนของพื้นที่มรดกโลก นอกจากนั้น ยังเป็นการลดงบประมาณของพื้นที่ในการจัดการและกำจัดขยะอาหารลงเป็นอันมาก และยังลดผลกระทบทางอนามัยสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะอาหารที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นเมืองมรดกโลกให้งดงามอย่างยั่งยืน

Partners/Stakeholders

เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา และประชาชนในเขตพื้นที่ศึกษา

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทราพันธุ์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
นายปฏิญญา สุขวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต