ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานศูนย์ทันตกรรมพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

detail

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในสุขภาพช่องปากของราษฎร จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ห่างไกล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ริเริ่มโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เพื่อให้ดำเนินงาน "โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"  เป็นไปตามพระราชประสงค์ สำนักงานพระราชวังจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 และมีคำสั่งแต่งตั้งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และในการประชุมคณะกรรมการโครงการหน่วยฯ ครั้งที่ 1/2541 ได้มอบหมายให้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ พร้อมกับกำหนดแผนปฏิบัติการตามการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร หรือแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยให้ออกบริการทางทันตกรรม

      ทั้งนี้ ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานฯ ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี ได้ให้บริการทันตกรรมและอบรมให้ความรู้ทันตสุขศึกษา แก่นักเรียนและครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนโครงการพระราชดำริฯ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างต่อเนื่องตลอดมา และได้จัดโครงการหน่วยงานต้นแบบฟันดีมีสุข เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยให้ข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นต้นแบบในการมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี มีความรู้และมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากสามารถนำความรู้ที่ได้รับต่อยอดให้กับประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดีและยั่งยืน

ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานฯ ได้ออกหน่วยให้การรักษาทางทันตกรรม ตรวจสุขภาพช่องปากและให้ความรู้ด้านทันตสุขศึกษา แก่เด็ก นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปและผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้สามารถควบคุมและป้องกันโรคในช่องปากได้ด้วยตนเองจนกระทั่งมีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้หยุดให้บริการไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะมีการปรับเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การใส่หน้ากาก N95 ใส่ชุด PPE เพิ่มเครื่องดูดละอองฝอยจากการทำฟันที่อาจฟุ้งกระจาย ซึ่งในปัจจุบันไม่ปรากฏพบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จากการทำฟัน

ศูนย์ทันตกรรมพระราชทานฯ ยังคงดำเนินการออกหน่วยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการบริการทางทันตกรรมแก่ผู้มารับบริการ มีแผนการดำเนินงาน 2 แผนงาน ดังนี้

1. แผนการดำเนินงานประจำ เป็นการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานฯ ตามแผนปฏิบัติการที่คณะกรรมการโครงการกำหนด หรือตามการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยให้บริการตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน อุดฟัน ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน รักษาคลองรากฟัน และใส่ฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติก (เป็นครั้งคราว) แก่นักเรียนในโครงการพระราชดำริฯ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

2. แผนการดำเนินงานพิเศษ เป็นการจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 
สยามบรมราชกุมารี ได้แก่

2.1 โครงการยุวทูตฟันดี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยน้อมรับพระราชประสงค์ในการดำเนินงานด้านการป้องกันโรค มีตัวแทนของนักเรียนและครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทั้งหมด 215 โรงเรียน เพื่อให้ครูและนักเรียนที่เป็นตัวแทนมีความรู้และมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปาก เป็นยุวทูตที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปเผยแพร่ต่อแก่นักเรียนและบุคคลากรต่าง ๆ ของโรงเรียนรวมทั้งครอบครัวได้ เพื่อพัฒนาด้านทันตสุขภาพและสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมความแข็งแกร่งของชุมชน ในการร่วมสร้างร่วมพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างมั่นคงในองค์รวม มีการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2558 เป็นการฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ด้านทันตสุขภาพให้กับตัวแทนครูและนักเรียน โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน เพื่อเพิ่มความรู้และศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากของครูและนักเรียน ให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี สร้างความเป็นผู้นำ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อได้ สร้างความสัมพันธ์อันดีและการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 597 คน

 

ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2562 เป็นการฝึกอบรมด้านวิชาการ เน้นความเข้าใจและฝึกปฏิบัติ ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการยุวทูตสุขภาพดี และเปลี่ยนวิธีการเป็นการจัดฝึกอบรมแบ่งตามภูมิภาคและกองกำกับของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 283 คน

 

ระยะที่ 3 ปีงบประมาณ 2563 จัดโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อมุ่งผลให้เกิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน และเป็นการนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีการประชุมวิชาการ รวมทั้งยังมีสื่อความรู้ทางไกลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จัดทำโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล

 

2.2 โครงการหน่วยงานต้นแบบฟันดีมีสุข เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2562 มีข้าราชบริพารในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 394 คน เป็นต้นแบบในการมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี เข้ารับบริการตรวจรักษา และฟื้นฟูสภาพช่องปาก ให้ความรู้ด้านทันตสุขภาพเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อประชาชนได้

 

2.3 โครงการผลิตสื่อทันตสุขศึกษาแก่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสื่อทันตสุขศึกษาให้ความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากแก่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในรูปแบบหนังสือภาพนูนทันตสุขศึกษาสอนแปรงฟันแก่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น มอบให้โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอน อันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา

 

แผนงาน/โครงการ จำนวนผู้เข้ารับบริการ (คน)
2560 2561 2562 2563 2564 2565 2566
1. แผนการดำเนินงานประจำ 9,965 13,587 9,030 8,970 5,202 6,162 3,761
2. แผนการดำเนินงานพิเศษ              
2.1 โครงการยุวทูตสุขภาพดี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน     283 169      
2.2 โครงการหน่วยงานต้นแบบฟันดีมีสุข     394 96 32 332 306
2.3 โครงการผลิตสื่อทันตสุขศึกษาแก่ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น           500 100

 

Partners/Stakeholders
  • โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
  • ตำรวจตระเวนชายแดน 
  • กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
  • โรงพยาบาลในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ 
ผู้ดำเนินการหลัก
ผู้อำนวยการศูนย์ทันตกรรมพระราชทานฯ
ส่วนงานหลัก