โครงการ “การศึกษาพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่บูรณาการกับบริการทางสังคมสำหรับคนพิการ”

detail

การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในการพัฒนา/ การดูแลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการเป็นการเพิ่มโอกาส/ ลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและบริการทางสังคมของคนพิการด้วยการพัฒนา “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่เป็นกลไกการให้บริการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ภายใต้มาตรฐานและการกำกับของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สามารถเป็น “หน่วยบริการร่วมให้บริการ” ด้านสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

      โครงการ “การศึกษาพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่บูรณาการกับบริการทางสังคมสำหรับคนพิการ”  เป็นโครงการที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคประชาชน  ได้แก่   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข,  สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย (TIL) และ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน (SDG 17) ในการพัฒนา/ การดูแลด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ  (SDG 3)  เป็นการเพิ่มโอกาส /ลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและบริการทางสังคมของคนพิการ (SDG 10)  


       ความพยายามขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ตอบสนองความจำเป็นและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในบริบทสังคมไทย เริ่มจากการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่ดำเนินการโดยองค์กรคนพิการและผ่านการรับรองมาตรฐานองค์กรคนพิการโดย พก. ให้สามารถเป็น “หน่วยบริการร่วมให้บริการ” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากข้อเสนอความต้องการของเครือข่ายองค์กรคนพิการในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จากนั้นวิทยาลัยราชสุดาได้จัดทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “โอกาสและข้อจำกัดในการร่วมจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์โดยศูนย์บริการคนพิการทั่วไป”(2562) และได้นำผลการศึกษามาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อ สปสช., พก. และเครือข่ายองค์กรคนพิการ จนในที่สุดคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบและออกประกาศให้ “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการร่วมให้บริการ” ได้ตามเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 และให้มีการเร่งวิจัยพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้เกิด “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่สามารถร่วมให้บริการได้จริง ทั้งนี้ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิชาการสร้างองค์ความรู้สนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ตอบสนองความจำเป็นและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการดังกล่าว 


       ผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในช่วงปี 2562 - 2564 ทำให้เกิดการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการขับเคลื่อน “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” เป็น “ หน่วยบริการร่วมให้บริการ” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นรูปธรรมดังต่อไปนี้ 

 

       ปี 2563  :  การพัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รองรับนโยบาย และประกาศของ สปสช.

      เพื่อให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมให้บริการได้ ดังนี้

  1. มาตรฐานการบริการ เกณฑ์ประเมินการขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ (โดย สถาบันสิรินธรฯ / วิทยาลัยราชสุดา / TIL / สปสช.)  เสนอและผ่านการรับรองตามมาตรฐานกรมการแพทย์  โดยสาบันสิรินธรฯ  และประกาศใช้โดย สปสช.
  2. การกำหนดขอบเขตบริการ และหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับศูนย์บริการคนพิการ (โดย สปสช. / TIL / วิทยาลัยราชสุดา / สถาบันสิรินธรฯ )   โดยคณะทำงานพัฒนาขอบเขตการบริการและกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการ การฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) สำหรับศูนย์บริการคนพิการ  ได้ศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนบริการรายการต่างๆในศูนย์บริการคนพิการทั่วไป และข้อเสนอทางเลือกวิธีการจ่ายค่าบริการจากภาครัฐ (Unit-cost and payment method)   โดยในปี 2563  สปสช. มีเห็นชอบอนุมัติงบประมาณปี 2564 ในอัตราจ่าย 9,000 บาท ต่อบริการ 1 คน /  1 ครั้ง
  3. การพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ให้บริการการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานบริการฯ ที่กำหนดมาตรฐานของผู้บริการ จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐานหลักสูตรที่รับรองโดย วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล (โดย วิทยาลัยราชสุดา / TIL / สถาบัน  สิรินธรฯ / สปสช. / พก.)   ซึ่งหลักสูตรดังกล่าววิทยาลัยราชสุดา ใช้แนวทางตามมาตรฐานการจัดการศึกษาของประเทศ มาจัดกระบวนการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่คนพิการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากประสบการณ์ตนเอง กระทรวงสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญในเชิงวิชาชีพ / สปสช. ที่ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพ / สสส. ที่ส่งเสริมการสร้างสุขภาพของทุกคน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ส่งเสริมการพัฒนานโยบายและการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนพิการ และ กรม พก. ที่ดูแลระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  โดยจัดทำเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร ที่มีภาคทฤษฎีไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง และการฝึกภาคปฏิบัติ รวมทั้งการศึกษาดูงานบริการที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ได้ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย
  4. การจัดอบรมหลักสูตรมีประกาศนียบัตร “บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (สำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว) สำหรับผู้ให้บริการ”  รุ่นที่ 1 โดยมุ่งสร้างให้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นทั้งผู้ให้บริการตามเกณฑ์มาตรฐานการบริการ ซึ่งจะทำให้เข้าเกณฑ์ที่สามารถขึ้นทะเบียนศูนย์บริการเป็นหน่วยร่วมบริการฯ ได้ และสามารถเป็นวิทยากรอบรมผู้ให้บริการรุ่นต่อไปในอนาคตได้ด้วย   ซึ่งได้จัดอบรมในระหว่างวันที่  7 สิงหาคม - วันที่ 30 กันยายน 2563   มีผู้เข้าอบรมและผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 12 คน ที่มาจากศูนย์บริการคนพิการทั่วไป 3 แห่ง คือ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดชลบุรี นนทบุรี และปทุมธานี 

 

       ปี 2564  :  การขึ้นทะเบียนศูนย์บริการคนพิการทั่วไปเป็นหน่วยร่วมให้บริการ  และการติดตามการดำเนินงานของศูนย์บริการ

  1. เตรียมความพร้อมศูนย์บริการ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมให้บริการ โดยมีศูนย์บริการที่มีความพร้อมตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด และขอขึ้นทะเบียนและรับการตรวจประเมิน จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จังหวัดชลบุรี นนทบุรี และปทุมธานี   โดยทั้ง 3 ศูนย์ ผ่านการประเมิน และ สปสช. ประกาศให้เป็นหน่วยร่วมให้บริการ  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “หน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์” ในระบบหลักประกันสุขภาพ   โดยทั้ง 3 ศูนย์ ได้นำร่องให้บริการ IL คนพิการ จำนวน 8 คน (คนพิการที่ได้รับบริการครบกระบวนการ)
  2. การติดตามประเมินผลการจัดให้บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ ของหน่วยบริการร่วมให้บริการนำร่อง ได้แก่  ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการชลบุรี ปทุมธานี และ นนทบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ สปสช.  พบว่า การดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด มีคุณภาพและประสิทธิผลเชิงผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย 100 รายในปีงบประมาณ 2564  อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อCOVID- 19   นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราจ่ายชดเชยค่าบริการ ตามที่อนุมัติในอัตรา 9,000 บาทต่อบริการ 1 คน /  1 ครั้ง  ยังไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการบริการ เนื่องจาก การให้บริการคนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวรุนแรง มีความซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลาในการที่จะสามารถมีวิถีชีวิตอิสระได้  แผนวิถีชีวิตอิสระของคนพิการบางคน อาจจะมีหลายแผน อัตราจ่ายฯ ดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมต่อการบริการดังกล่าว   ดังนั้นจึงได้มี ทบทวนและจัดทำข้อเสนอต้นทุนค่าบริการ Unit cost IL จัดส่งให้สำนักสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน (สบช.) จัดทำข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการกองทุน สปสช. โดยมติคณะอนุกรรมการกองทุน สปสช. เห็นชอบตามข้อเสนอ สบช. ปรับอัตราจ่ายค่าบริการ การฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ Independent Living : IL สำหรับคนพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวที่ให้บริการโดยศูนย์บริการคนพิการทั่วไป จากอัตรา 9,000 บาท /คน เป็นจำนวน  11,000 บาท / คน ในปีงบประมาณ 2565
  3. การขยายเครือข่ายศูนย์บริการฯ ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของคนพิการ โดยจัดการประชุมเครือข่าย และเตรียมความพร้อมศูนย์บริการ (ผ่านระบบ Zoom)  โดยมีศูนย์บริการคนพิการ ที่ร่วมเตรียมความพร้อม ดังนี้
  • กลุ่มศูนย์บริการคนพิการแห่งใหม่ จำนวน  5  แห่ง  ได้แก่ ศูนย์บริการคนพิการไทยใจอาสา  จ.อุบลราชธานี / สมาคมฟื้นฟูคนพิการ อำเภอกันทรลักษ์ /  ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ จ.ศรีสะเกษ / ศูนย์เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์เพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ / ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล  จ.นครปฐม
  • กลุ่มศูนย์บริการคนพิการนำร่องเดิม เพิ่มการพัฒนาศักยภาพบุคลากรศูนย์  จำนวน 3 แห่งศูนย์ IL จังหวัดชลบุรี / ศูนย์ IL จังหวัดนนทบุรี /  ศูนย์ IL จังหวัดปทุมธานี

 

       แผนการดำเนินงานในปี 2565-2566  เป็นการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

  1. การพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรฯ และปรับรูปแบบการอบรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อการดำเนินการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ และการขยายศูนย์บริการให้มีจำนวนมากขึ้น เป็นไปอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าอบรมให้สามารถใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการให้บริการได้
  2. การอบรมหลักสูตรฯ รุ่นที่ 2  เพื่อเพิ่มบุคลากรที่ให้บริการ ที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ของ สปสช.
  3. การติดตามประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์บริการฯ เพื่อติดตามผลลัพธ์ในเชิงระบบ/  ผลกระทบต่อ “การดำรงชีวิตอิสระ” ของคนพิการฯ ที่ได้เข้ารับบริการ ทบทวนแนวคิดและหลักการสำคัญ เพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตอิสระ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนพิการฯ   ตลอดจนทบทวนเงื่อนไข/ปัจจัยสำคัญ และกระบวนการพัฒนากลไกระบบสุขภาพภาคประชาชน “ศูนย์บริการคนพิการ IL” สู่ “หน่วยร่วมให้บริการ” สู่ “หน่วยบริการรับส่งต่อด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ”
  4.  การขยายเครือข่ายศูนย์บริการ IL ที่ และศูนย์บริการที่ให้บริการประเภทอื่น จำนวนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง และสามารถให้บริการคนพิการในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 20 คน/ 2 ศูนย์บริการ รวมการเพิ่มการเข้าถึงบริการของคนพิการ ไม่น้อยกว่า 200 คน

 

      ผลจากการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมที่ผ่านมา  เป็นการพัฒนาระบบและนโยบายบริการที่เป็นบูรณาการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงผลลัพธ์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ในกรณีนี้ คือ การพัฒนา “ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป” ที่เป็นกลไกการให้บริการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในชุมชน ภายใต้มาตรฐานและการกำกับของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สามารถเป็น “หน่วยบริการร่วมให้บริการ” ด้านสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาขอบเขตชุดบริการเพื่อเสนอเป็นรายการบริการในชุดสิทธิประโยชน์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์สำหรับคนพิการ พร้อมอัตราจ่ายที่เป็นธรรม เพื่อเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนการพัฒนากลไกเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย 

 

 

Partners/Stakeholders

1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

2. สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 

3. สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย (TIL)

4. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 

ผู้ดำเนินการหลัก
แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ และ นางสาวธิดารัตน์ นงค์ทอง
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย (TIL) และ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)