Zero Hunger

ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเรื่องการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะและมีคุณค่าทางโภชนาการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการกำหนดให้ร้านอาหารทุกร้านในศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย (MU Cafeteria) ต้องผ่านการตรวจอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่มีส่วนสัมผัสอาหารต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี แต่ละร้านอาหารจะต้องได้รับการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร เพื่อหาสารปนเปื้อนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ในโครงการอาหารปลอดภัย นอกจากนี้ผู้ประกอบการร้านค้าทั้งหมดจะได้รับการฝึกอบรมความรู้ในเรื่องสุขอนามัยเป็นประจำทุกปี มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการตามเกณฑ์มาตรฐานการให้บริการ เช่น ร้านค้าต้องปรุงอาหารโดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และต้องจำหน่ายอาหารตามราคาที่กำหนด และภายในศูนย์อาหาร มีร้านอาหารทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ทานอาหารมังสวิรัติและผู้บริโภคที่ทานอาหารฮาลาล ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ จึงมีการส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงแหล่งอาหารให้กับชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น วิทยาเขตนครสวรรค์ได้มีโครงการ “ MUNA SMART FARM ” ที่ทางมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายนักศึกษากับคนในชุมชน และเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการเกษตร และด้านวางแผนการตลาด พร้อมทั้งให้การรับรองผลิตผลของชุมชนที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภายใต้เครื่องหมาย ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร “ MU ORGANIC ” และ โครงการชุมชนร่วมกันบริโภคผักผลไม้ปลอดภัยที่ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ โรงเรียนบ้านประชาสามัคคี ตำบลบางเคียน อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้การสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ทีมสร้างเสริมสุขภาพนครสวรรค์ ซึ่งใช้โรงเรียนเป็น “ ศูนย์กลาง ” ในการจัดการอาหารปลอดภัย โดยนอกจากมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มนักเรียนของโรงเรียนแล้วยังมี “ ครอบครัวกลุ่มอาสา ” ร่วมปลูกผักผลไม้ปลอดภัย และต่อยอดขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ สู่การทำ “ แผนที่อาหารปลอดภัยของชุมชน ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการบริโภคอาหารปลอดภัยของประชาชน ทางคณะเทคนิคการแพทย์วิทยาเขตศาลายา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรปลอดภัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ตามแนวคิดการตรวจรับรองผลผลิต “ เกษตรปลอดภัย ” ด้วยการยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองผลผลิตทางการเกษตรจากแปลงที่ปลอดจากสารพิษตกค้าง ยาฆ่าแมลง โดยใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ที่มีความไว และความจำเพาะสูง ได้แก่ GC-MS/MS หรือ LC-MS/MS ในจังหวัดภาคกลาง รวม 8 จังหวัด (นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรและอาหารปลอดภัย โดยสุ่มตรวจผักผลไม้จากแปลงเกษตรด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย จะได้รับตราสัญลักษณ์ “ MUMT Recommended ” เพื่อรับรองผลิตภัณฑ์อย่างเป็นทางการ และส่งต่อผลผลิตเกษตรปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ 9 โรงพยาบาลในจังหวัดนครปฐม ขยายสู่การสนับสนุน นโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 66 โรงพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 5 โรงเรียน 11 แห่ง และผลผลิตถูกเชื่อมโยงไปสู่การค้าขายในท้องตลาด รวมถึงทำ MOU ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นทางเลือกอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้ขยายไปสู่พื้นที่ขนาด 10.5 ไร่ ที่มณฑลทหารบก ที่ 17 จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้โครงการ “ Green Army , Green Farmer เพื่อประเทศชาติและประชาชน ” นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มผลผลิตเชิงพาณิชย์ ดังเช่น งานวิจัยสารชีวโมเลกุล สําหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งโดยไม่ตัดตา และงานวิจัยแม่กุ้งก้ามกราม แปลงเพศ MU1 โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ซึ่งงานวิจัยทั้งสองนี้ช่วยเพิ่มปริมาณกุ้งให้เกษตรกร และส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิทยาเขตอำนาจเจริญ จัดทำโครงการ " ข้าวเป็นยา " ด้วยการวิจัยทดลองปลูกข้าวสินเหล็กอินทรีย์ ที่มีธาตุเหล็กในเมล็ดสูง และ ข้าวกล้อง กข.43 อินทรีย์ ที่มีค่าน้ำตาลต่ำ โดยข้าวทั้งสองพันธุ์นี้ดีต่อสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย หรือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ดีต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลอดภัยจากสารพิษจึงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน

Highlights
  • thumb
    3 ต.ค. 2566
    คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล พัฒนาอาหารจากโปรตีนพืช เต้าหู้ถั่วเหลืองผสมกากถั่วดาวอินคา
    ในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการดูแลสุขภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ หรือต้องการลดการรับประทานเนื้อสัตว์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาอาหารจากโปรตีนพืช เต้าหู้ถั่วเหลืองผสมกากถั่วดาวอินคา พบว่ามีปริมาณโปรตีนสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่คำนึงถึงสุขภาพและต้องการบริโภคโปรตีนจากพืช ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูงใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์
  • thumb
    29 ก.ย. 2566
    การเสริมศักยภาพชุมชนภายใต้โครงการ U2T for BCG
    กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ด้วยการสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาในประเทศไทยขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG และเพื่อพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ
  • thumb
    26 ก.ย. 2566
    การบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ จึงจัดให้มีศูนย์อาหารคณะฯ ให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยมีนโยบายเป็นศูนย์อาหารที่สะอาด อร่อย มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ
  • thumb
    25 ก.ย. 2566
    แผนนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนบนฐานระบบวนเกษตรชุมชน
    การนำแนวคิด ความรู้ และหลักการทางนิเวศวิทยาในการบริหารจัดการเกษตรกรรมด้วยระบบวนเกษตร สู่แผนนโยบายขับเคลื่อนชี้นำสังคม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
  • thumb
    03 02 17
    21 ก.ย. 2566
    ศูนย์สุขภาพชุมชนซอยสวนเงิน
    กระบวนการพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแบบบูรณาการร่วมกับชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • thumb
    13 02
    11 ก.ย. 2566
    การประเมินและเปรียบเทียบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการจัดการของเกษตรกรรายย่อยและการรวมกลุ่มเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ สู่ทางเลือกเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    การรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่มีข้อดี 3 ด้าน 1) ดีต่อสิ่งแวดล้อม คือ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดการปล่อยน้ำเสียสู่สิ่งแวดล้อม 2) ดีต่อรายได้ คือ ช่วยเพิ่มกำไรสุทธิให้กับเกษตรกร และ 3) ดีต่อสังคม คือ ช่วยสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม เห็นศักยภาพของสมาชิกในกลุ่ม เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน
  • thumb
    02 11
    11 ก.ย. 2566
    พฤติกรรมเชิงลึกของเกษตรกรและคนในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรปลอดการเผา
    งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการค้นหาทางเลือกและประเมินต้นทุน-ผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ประเมินการเปิดรับมลพิษทางอากาศ ประเมินความเต็มใจจ่ายเพื่อจัดการฟางข้าวโดยปลอดการเผาและความเต็มใจในการรับค่าชดเชยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การจัดการฟางข้าวโดยปลอดการเผา วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการจัดการตอซังฟางข้าวของเกษตรกร สื่อสารทางเลือกและต้นทุน-ผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าว รวมถึงสื่อสารผลการวิเคราะห์คุณสมบัติและธาตุอาหารในดินของแปลงเกษตรที่เผาและไม่เผาตอซังฟางข้าว ตลอดจนถอดบทเรียน วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ และสังเคราะห์แนวทางการผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผา เพื่อให้การขับเคลื่อนชุมชนเกษตรปลอดการเผาเป็นรูปธรรมและยั่งยืนคู่วิถีเกษตรของสังคมไทย
  • thumb
    02
    11 ก.ย. 2566
    การประเมินความมั่นคงทางอาหารภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง
    การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศวิเคราะห์สถานการณ์การใช้ที่ดินและผลผลิตทางการเกษตรของพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง
  • thumb
    03 02
    4 ก.ย. 2566
    กลุ่มงานวิจัยนโยบายอาหารและการติดตามและประเมินผล (Food Policy and Monitoring and Evaluation: Food ME)
    Food ME ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม เริ่มต้นในปี 2560 มุ่งมั่นผลิตข้อมูลวิจัยเพื่อใช้ชี้ทิศนโยบายด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ และสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรไทยบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความมั่นคงทางอาหาร และสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ รวมถึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่และประเทศ
  • thumb
    21 ต.ค. 2565
    โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี
    ฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี เกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ เพื่อผู้ป่วยและประชาชนคนไทย ได้ตระหนักและเรียนรู้ต้นทางของการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร
  • thumb
    15 พ.ค. 2566
    การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน
    การสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีกลไกคณะทำงานในการบริหารจัดการศูนย์ดูแลกลางวัน โดยมีครูอาสาในการสร้างการเรียนรู้ 12 ฐาน และมีกองทุนศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรม
  • thumb
    07 02 12
    28 ต.ค. 2565
    โครงการ Research for Community วิจัยเพื่อชุมชนสังคม
    นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีถ่ายทอดไปสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และพึ่งพาตัวเองได้
จำนวนทั้งหมด 35 รายการ