SMART Farmer เส้นทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

detail

หลักสูตร SMART Farmer มุ่งเน้นการเกษตรแบบผสมผสานและแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่การผลิตจนถึงการขาย และเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

   โครงการ SMART Farmer Fair เป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นโดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรกรปราชญ์เปรื่อง (ชื่อใหม่: หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเกษตรยั่งยืนเพื่อสุขภาพและการประกอบการ) เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนทำการเกษตรเพื่อสุขภาพและการประกอบการ ในยุคที่เกษตรกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการนี้จึงมีเป้าหมายในการเตรียมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้พร้อมกับความท้าทายเหล่านี้ หลักสูตร SMART Farmer จึงมุ่งเน้นการสร้างนักศึกษาให้เป็นมากกว่าเกษตรกรทั่วไป แต่ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการธุรกิจ นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรจะมีทักษะที่สามารถนำไปพัฒนาธุรกิจเกษตรของตนเองได้ รวมถึงสามารถเป็นผู้นำในชุมชนในการนำเอานวัตกรรมมาปรับใช้กับภาคการเกษตรในรูปแบบที่ยั่งยืน
    โครงการ SMART Farmer Fair มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลผลิตทางการเกษตรจากไอเดียสร้างสรรค์ของนักศึกษา นำเสนอโครงการต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เกษตรเพื่อการสร้างรายได้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร ตลอดจนการประชาสัมพันธ์หลักสูตรการศึกษาของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการสร้างบัณฑิตของหลักสูตรทางการศึกษาของวิทยาเขตนครสวรรค์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์ด้านการประกอบการ เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนไปประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานด้านการเกษตรในพื้นที่
     งาน SMART Farmer Fair จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2023 ณ ห้างสรรพสินค้าวี-สแควร์ พลาซ่า จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม และครั้งที่ 2 ในปี 2024 จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ ในวันที่ 24-25 พฤษภาคม โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคการเกษตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากภาคการเกษตร และการนำเสนอผลงานของนักศึกษา ทั้งนี้ งาน SMART Farmer Fair 2024 ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น การแข่งขันจัดสวนถาด การแข่งขันส้มตำลีลา การสาธิตการประยุกต์ใช้ IoT กับการเลี้ยงไก่ในป่าสัก รวมไปถึงบูธจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรและอาหารของนักศึกษาและหน่วยงานด้านการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน

     การดำเนินงานของโครงการ SMART Farmer Fair เป็นตัวอย่างของการนำแนวคิด การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาใช้ในภาคการเกษตร โดยสรุปได้ดังนี้ 

SDG 2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger)

โครงการมุ่งเน้นการทำเกษตรแบบผสมผสานที่สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้ และลดความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารในระยะยาว

SDG 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)

การส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัยและการผลิตอาหารที่มีคุณภาพช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีอาหารที่ปลอดภัย ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน

SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)

โครงการ SMART Farmer Fair เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ให้นักศึกษาและเกษตรกรได้ฝึกปฏิบัติจริงในสาขาเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

SDG 8: การเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำงานที่มีคุณค่า (Decent Work and Economic Growth)

โครงการสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด สร้างงานและรายได้ในชุมชนท้องถิ่น

SDG 12: การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)

การเกษตรที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การแปรรูปผลิตผลเพื่อเพิ่มมูลค่า และการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืนและลดของเสียในกระบวนการผลิต 

การเชื่อมโยงกับ SDGs เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความครอบคลุมของโครงการในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสังคมโดยรวม

Partners/Stakeholders

1. คูโบต้า ฮั้วเฮงหลี ที่นำโดรน และนวัตกรรมเกษตรมาโชว์ในงาน
2. บ.เบทาโกรอุตสหกรรมเกษตร นครสวรรค์
3. ฟาร์มฝันปันสุข ออแกนิคฟาร์ม
4. รร.สตรีนครสวรรค์ และน้องๆวง Soft Sweet
5. รร.เซนโยเซฟ นครสวรรค์
6. ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ 
7. สถาบันพยาบาลศาสตร์ มหิดลนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร.ศศิมา วรหาญ ผศ.ดร.ปัณฑารีย์ แต้ประยูร อ.ดร.สมสุข พวงดี อ.ดร.ปิยะเทพ อาวะกุล อ.ดร.ณัฐฐิญา อัครวิวัฒน์ดำรง นายอภินันท์ ปลอดแก้ว นายฌานเทพฤทธิ์ วงศ์วิลาส
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT)
ส่วนงานร่วม