การประเมินความเชื่อมโยงของความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงานเพื่อการจัดการน้ำในระบบกสิกรรมของไทยด้วยแบบจำลองเชิงพลวัต

detail

แบบจำลองเชิงพลวัตการใช้ทรัพยากรน้ำในระบบเกษตรกรรมของประเทศไทย สามารถชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้น้ำต่อผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และรายได้เพิ่มขึ้น

น้ำ เป็นทรัพยากรสำคัญในการเกษตร แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความผันผวนทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทั้งภัยแล้งและอุทกภัยทวีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอันมาจากกระทำของมนุษย์ เช่น การขยายตัวของเมือง การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อวิถีชีวิตของประชากร ดังนั้น ในการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรในระดับนานาชาติโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและระบายน้ำ (International Commission on Irrigation and Drainage) หรือ ICID สำหรับประเทศไทยมีองค์กรของรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นคือ THAICID (Thai National Committee on Irrigation and Drainage) ได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันในการนำกรอบแนวคิด Water-Food-Energy security Nexus (WFE security nexus) หรือ ความสัมพันธ์ระหว่าง น้ำ-อาหาร-พลังงาน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระบบกสิกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางเนื่องจากเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง

กรอบแนวคิด WFE security nexus สามารถใช้อธิบายถึงลักษณะความเชื่อมโยงของทรัพยากรน้ำต่อกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและความมั่นคงทางพลังงานให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สะท้อน “3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน” (Three Pillars of Sustainability) คือ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนยืน เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

จากผลการศึกษาตามกรอบการประเมิน WFE security nexus ในมิติด้านเศรษฐศาสตร์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ศึกษา เมื่อทำการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายในหมวดต่าง ๆ พบว่า ชาวนามีต้นทุนการทำนาสูงกว่ารายได้จากการขายผลผลิต เฉลี่ยไร่ละ 3,839 บาท ในขณะที่การปลูกอ้อย มีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 10,842 บาท และไร่มันสำปะหลัง มีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 2,302 บาท ซึ่งข้อมูลนี้มีลักษณะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพาะปลูกของพืช 3 ชนิด ในพื้นที่ศึกษาตลอดระยะเวลา 10 ที่ผ่านมา โดยพบว่า อ้อยและมันสำปะหลังมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.51 และ 0.46 ตามลำดับ ในขณะที่นาข้าวมีพื้นที่ปลูกลดลง ร้อยละ (-) 0.37

ผลการศึกษาจากการพัฒนาแบบจำลองแผนภาพพลวัตในด้านผลิตภาพน้ำของผลผลิต (water mass productivity) หรือการเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนึ่งหน่วยในการสร้างมูลค่าผลผลิต พบว่า อ้อยมีมูลค่าสูงสุด รองลงมาได้แก่ มันสำปะหลัง และข้าว ตามลำดับ ส่วนผลิตภาพน้ำด้านเศรษฐศาสตร์ (water economic productivity) หรือการประเมินผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากสัดส่วนการใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิต พบว่า อ้อยให้ผลลัพธ์ในรูปแบบของผลกำไรต่อหน่วยของน้ำที่ใช้ไปในการเพาะปลูกทั้งหมดสูงกว่าข้าวและมันสำปะหลัง ตามลำดับ เนื่องจากในสถานการณ์จริงเกษตรกรไม่มีค่าใช้จ่ายของน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก แต่การประเมินด้วยตัวชี้วัดดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของกิจกรรมได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร (Adaptation) ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยความสามารถในการปรับตัวสูงสุด คือ การคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง และความสนใจต่อเทคนิคการปลูกพืชแบบควบคุมการให้น้ำ และเห็นว่าน่าจะเพิ่มผลผลิตได้ ส่วนข้อจำกัดด้านความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ได้แก่ ความนิยมในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ดังนั้น ในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ (water security) จึงเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำมากกว่าการมุ่งจัดหาน้ำหรือปลูกพืชที่ต้องการน้ำเหมาะสมกับน้ำที่มีในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาถึงวิธีการพัฒนาที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ลดการใช้น้ำให้น้อยลง ด้วยเทคโนโลยีอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง จึงเป็นทางเลือกที่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงของทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน

Social impact : งานวิจัยชิ้นนี้มุ้งเน้นการเข้าถึงและสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางที่ปลูกพืชหลักทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวในปัจจุบันยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิมซึ่งใช้น้ำมากเกินกว่าผลิตผลที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับอ้อยและมันสำปะหลัง ควรมีมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การควบคุมการใช้น้ำในการเกษตร และมาตรการระยะยาว เช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและเทคนิควิธีการเพาะปลูกแบบใช้น้ำน้อย การวิจัยในครั้งนี้จึงสามารถสร้างความตระหนักแก่เกษตรกรในการใช้น้ำในการทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างรายได้ ลดต้นทุน และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

การนำไปปรับใช้ในพื้นที่ : ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งสะท้อนแนวโน้มที่พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่างจะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำ ถูกนำไปต่อยอดดังนี้คือ 1) นำไปพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะของกรมชลประทาน ด้านการพัฒนามาตรการหรือเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย และในระดับสากลผ่านเวทีการประชุม Thai National Committee on Irrigation and Drainage (THAICID) และ International Committee on Irrigation and Drainage (ICID) ตามลำดับ 2) ศึกษาวิธีการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ต้นแบบคือ พื้นที่ในเขตชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียวจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสรุปรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

 
 
Partners/Stakeholders

คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาลัยการชลประทาน

สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการชลประทาน สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา