1 ก.ย. 2566
การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุค “เกิดน้อย อายุยืน” จำนวนเด็กเกิดของประเทศไทยที่เคยสูงเกินหนึ่งล้านคนในช่วงระหว่างปี 2506-2526 หรือเรียกว่าเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” (ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2554) ในปี 2564 การเกิดของประเทศไทยลดต่ำลงมากเหลือเพียง 5 แสน 4 หมื่นรายเท่านั้น (สำนักบริหารการทะเบียน, 2565) ในขณะเดียวกันผู้คนเริ่มมีอายุยืนยาวขึ้น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจากในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรไทยนับตั้งแต่แรกเกิดคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 50 ปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 70 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 80.5 ปี และในชาย 73.5 ปี (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2565) ดังนั้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยผู้สูงอายุ (The Madrid International Plan of Action on Ageing : MIPAA) ใน 3 ประเด็นเรื่อง 1) ผู้สูงอายุและการพัฒนา (Older Persons and Development) (2) สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Advancing Health and Well-being into Old Age) และ (3) สร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม ทั้งนี้ในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ และเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชากรมากที่สุด
โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม คือ คณะวิจัย ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันค้นหาปัญหา หาวิธีการแก้ไขปัญหา สะท้อนกลับซึ่งกันและกัน และสุดท้าย เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันผ่านเวทีการถอดบทเรียนในทุกแต่ละพื้นที่ มีวัตถุประสงค์หลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้านทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยนักวิจัยเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกกระบวนการตั้งแต่การศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยในปัจจุบันของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) มาต่อยอดและขยายผลกับพื้นที่ที่ศึกษา ได้แก่ การใช้เครื่องมือประเมินภาวะ Active aging แนวทางในการดูแลระยะกลางและระยะท้าย การคัดกรองผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม การส่งเสริมการมีงานทำ การส่งเสริมการสูงวัยในถิ่นเดิมตลอดจนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในท้องถิ่นได้ตราบจนชั่วชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี