กองกายภาพและสิ่งแวดล้อมได้สำรวจองค์ประกอบขยะภายในศาลายา พบสัดส่วนขยะสามอันดับแรกได้แก่ ขยะทั่วไป เศษอาหาร และบรรจุภัณฑ์อาหาร เมื่อขยะเหล่านี้ไม่ถูกคัดแยกจะถูกส่งไปที่หลุมฝังกลบ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการขยะแต่ละประเภท จึงควรสร้างความตระหนักการจัดการขยะที่ถูกต้องเพื่อสิ่งแวดล้อม
กิจกรรม Zero Waste Awareness Day เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนัก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมเปิดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการจัดการขยะอย่างถูกต้องผ่านนิทรรศการ Zero Waste ที่แสดงในเห็นว่าขยะสามารถ “แ-ย-ก” ได้ และเมื่อเรา “แ-ย-ก” แล้ว สามารถต่อยอดหรือจัดการอย่างไร ให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการคัดแยกขยะ และใช้เป็นแนวทางในการประยุกต์และปรับใช้ตามบริบทของแต่ละส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมด้าน Zero Waste เท่านั้น มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงมีนโยบายและกิจกรรมอีกมากมายที่เสริมสร้างความเข้าใจและสร้างความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนา Zero Waste Talk ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรหลากหลายองค์กรในแวดวงสิ่งแวดล้อมมาร่วมเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อ ได้แก่ หัวข้อรู้จักโลก รู้จักปัญหา โดย คุณปริม (ปริม อมรศุภผล) Project manager environman หัวข้อจากแนวคิดสู่ธุรกิจความยั่งยืน โดยคุณเจ (หฤษฎ์ หัตถวงษ์) ผู้บริหาร PokPok สตาร์ทอัพฟู้ดเดลิเวอรี และ คุณยีนส์ (ธีรภัทร์ ธิติโสตถิกุล) CEO Onecharge และหัวข้อมือเล็ก ๆ สู่ความสำเร็จระดับโลก โดย คุณใบตอง (จรีรัตน์ เพชรโสม) Miss Earth Fire 2021
ภายในงานยังมีกิจกรรม Workshop Mini Garden สวนในขวด และกิจกรรม Green Market ที่ส่งเสริมให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายลดการใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็น เพื่อเป็นการนำร่องสู่การจัดการตลาดให้เป็น Green Market ต่อไป