Life On Land

ปกป้องฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นฟูสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ให้เป็น “สวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตราฐานระดับสากลแห่งแรกในประเทศไทย” และยังได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “รางวัลดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน” จากการรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรจากตำรายาที่มีคุณค่าและหายากมากว่า 900 ชนิด และยังค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ • ชมพูราชสิริน ชาฤาษีไทรโยค และดาดดารารัศมี (โดยผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) • ดาดสังขละบุรี (โดยผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย และนายสุภัทร ประสพศิลป์ นักวิทยาศาสตร์วิทยาเขตกาญจนบุรี) • ดอกดินทยา (โดยนักศึกษาปริญญาเอก และ ผศ.ดร. ทยา เจนจิตติกุลคณะวิทยาศาสตร์) • หญ้าค้อนกลอง สามสิบกีบน้อย ถั่วนกเขาใหญ่ จิกดง และ ดูกเขียว (โดยอาจารย์วงศ์สถิต ฉั่วกุลคณะเภสัชศาสตร์) ซึ่งเป็นความก้าวหน้าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ เภสัชศาสตร์ และประชาชนทั่วไป เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศซึ่งเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย สำหรับสัตว์มีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร โรงพยาบาล ปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน และคลินิก ม.มหิดลคนรักสัตว์ สำหรับศึกษาและรักษาสัตว์ โดยในปี พ.ศ. 2563 ได้ทำการรักษาสัตว์ไปทั้งสิ้น จำนวน 83,966 ตัว และได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาด โดยมีการเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากสัตว์ 4,493 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO15189:2012 และความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ISO15190:2003 โดยศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้ส่งข้อมูลผลการวินิจฉัยจากการเก็บตัวอย่างเชื้อโรคไปยังภาครัฐ เพื่อใช้วางมาตราการป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์ ป้องกันโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และโรคสำคัญอื่น ๆ และได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา The USGS – National Wildlife Health Center ในโครงการ OIE Twinning program เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโรคอุบัติใหม่เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในอนาคต ความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาแนวทางการรักษาที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าต่อไป นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านทาง 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรีสร้างฝายชะลอน้ำที่ลดความรุนแรงของน้ำไหลบ่าหน้าดิน ทำให้พบการกลับมาของสัตว์ป่า สัตว์สงวน และการเกิดพืชสมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่ชุมชนในท้องถิ่น วิทยาเขตนครสวรรค์ดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกับชุมชนในการใช้น้ำและจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพ และวิทยาเขตอำนาจเจริญจัดการด้านป่าชุมชนเป็นแนวทางในการรักษาพื้นที่ป่าและพัฒนา สำรวจความหลากหลายของทรัพยากร ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้การดำรงชีพอย่างสมดุลกับธรรมชาติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน

Highlights
  • thumb
    06 11 15
    2 พ.ย. 2567
    การปลูกพืชทนแล้งในศาลายา
    ปลูกพันธุ์ไม้ทนแล้งเพื่อลดการใช้น้ำและทำให้การดูแลรักษาง่าย
  • thumb
    30 ก.ย. 2567
    แผนนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนบนฐานระบบวนเกษตรชุมชน
    การนำแนวคิด ความรู้ และหลักการทางนิเวศวิทยาในการบริหารจัดการเกษตรกรรมด้วยระบบวนเกษตร สู่แผนนโยบายขับเคลื่อนชี้นำสังคม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
  • thumb
    10 ส.ค. 2565
    สร้างฝายชะลอน้ำ (CHECK DAM) แล้วได้ประโยชน์อย่างไร
    วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดลเดิมประสบปัญหาการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากการชะล้างของน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนได้ไหลเข้าท่วมสู่อำเภอไทรโยค เนื่องจากสถานที่ตั้งของวิทยาเขตกาญจนบุรีอยู่บนที่ราบเชิงเขา ทำให้สถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน ถนน ได้รับความเสียหายส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่เทศบาลตำบลวังโพ อำเภอไทรโยค ในปี 2553 วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้มีความร่วมมือกับ SCGP โรงงานวังศาลา ได้เข้ามาศึกษาและสำรวจการพังทลายของชั้นดินบริเวณวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเห็นควรให้มีการจัดสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้วิทยาเขตกาญจนบุรีจึงได้มีความร่วมมือกับทาง SCGP โรงงานวังศาลา และทุกภาคส่วนในอำเภอไทรโยค ในการเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นในพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี มาเป็นลำดับในทุกปี โดย ณ ปัจจุบัน มีฝายชะลอน้ำทั้งหมดจำนวน 427 ฝาย วัตถุประสงค์หลักของการสร้างฝายในพื้นที่มิได้เพื่อการกักเก็บน้ำเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขาหินปูน มีรูพรุนใต้พื้นดินเป็นจำนวนมากไม่สามารถเก็บน้ำได้ แต่การสร้างฝายเพือชะลอน้ำ และลดความรุนแรงของน้ำเพื่อไม้ให้สูญเสียหน้าดิน อีกทั้งยังต้องการให้พื้นป่ามีความชุ่มชื้นที่ยาวนานขึ้น โดยส่วนใหญ่ฝายชะลอน้ำสร้างจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เศษไม้ ปลายไม้ หิน สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ
  • thumb
    4 ก.ย. 2566
    การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
    บึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และเป็นบึงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพทางด้านพรรณพืช สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า โดยบึงบอระเพ็ดเป็นบึงที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ โดยพระบรมราชานุญาตของรัชกาลที่ 7 ให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งก่อนมีการก่อสร้างฝายเพื่อสร้างบึงมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่บึงอยู่ก่อนแล้ว
  • thumb
    5 มิ.ย. 2567
    โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
    โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ค่ายเยาวชนที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ ปลูกจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อม และกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ สามารถสื่อความหมายในการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อม
  • thumb
    13 15
    5 มิ.ย. 2567
    การพัฒนาเครือข่ายการวิจัยสภาพภูมิประเทศแบบคาสต์ ระบบถ้ำ และการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศธรณี ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
    แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงธรณี เนื่องจากระบบถ้ำเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะและมีองค์ประกอบทั้งทางกายภาพและทางชีวภาพที่ซับซ้อนหรืออาจหมายรวมถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดกับนักท่องเที่ยวได้ วัตถุประสงค์ของแผนงานนี้คือ จัดทำต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวด้านธรณีในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอบเขตครอบคลุมพื้นที่คาสต์ ถ้ำน้ำลอด ถ้ำเพชร และถ้ำพุทโธ จากการวิเคราะห์ โดยใช้กรอบของยูเนสโกและคู่มือมาตรฐาน คุณภาพสิ่งแวดล้อมธรรมชาติประเภทถ้ำซึ่งประกอบด้วยการประเมินคุณค่าของแหล่งธรรมชาติประเภทถ้ำ ศักยภาพในการทรงคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำ และการประเมินความเสี่ยงของแหล่งท่องเที่ยว ประเภทถ้ำ พบว่า ถ้ำลอดมีคุณค่าและศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวประเภทถ้ำสูงสุดและมีความเสี่ยงต่ำสุด ถ้ำและคาสต์ในอำเภอปางมะผ้ายังต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวทางธรณีอย่างสร้างสรรค์และยังยืนในการศึกษานี้ได้เสนอ 4 กลยุทธ์ คือ 1) กลยุทธ์เชิงรุก คือการยกระดับให้อำเภอปางมะผ้าเป็นมรดกทางธรณีโดยใช้กรอบของยูเนสโกในการขับเคลื่อน 2) กลยุทธ์เชิงแก้ไข ประกอบด้วย พัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณี และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ 3) กลยุทธ์เชิงป้องกัน คือพัฒนาเป็นเมืองสุขภาพ และ 4) กลยุทธ์เชิงรับ คือ ส่งเสริมสาธารณสุขพื้นฐาน และพัฒนาระบบเตือนภัย
  • thumb
    13 15
    20 ก.ค. 2566
    การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อลดการเผาอ้อยและเศษวัสดุในไร่อ้อย ในจังหวัดกาญจนบุรี
    ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเผาวัสดุการเกษตรในที่โล่ง จากข้อมูลสถิติในช่วงปี ค.ศ. 1960-2015 แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ปริมาณเศษวัสดุของข้าวที่ถูกเผาจะสูงกว่าอ้อย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 พบปริมาณเศษวัสดุของข้าวมีแนวโน้มที่ลดลง ในทางกลับกันเศษวัสดุของอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานจากพืชมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียม จึงทำให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลงและเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตและกลั่นเป็นเอทานอลที่นำมาผสมกับน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น (Kumar, Feng, Sun, & Bandaru, 2022) รวมทั้งนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทน ซึ่งรวมถึงอ้อยด้วย กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีการทำไร่อ้อยเป็นวงกว้าง และมีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ถึง 8 แห่งจาก 20 แห่งทั่วภาคกลาง และจาก 56 แห่งทั่วประเทศ ในด้านสถิติการปลูกอ้อยปี 2563 กาญจนบุรีมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยทั้งสิ้น 753,424 ไร่ นับเป็นอันดับสามในประเทศ หรือมีพื้นที่ผลิตอ้อยมากกว่าพื้นที่ในการผลิตโดยรวมในภาคตะวันตกซึ่งมีการปลูกอ้อยทั่วทั้งภูมิภาค จำนวน 659,249 ไร่ กาญจนบุรีจึงถูกนับเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ของประเทศ (ณิชภัทร์ กิจเจริญ, 2563) ปัญหาการเกิดฝุ่นควันในจังหวัดกาญจนบุรีเกิดขึ้นจากสองส่วนหลักๆ คือ ได้แก่ ส่วนแรก คือควันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะไฟป่าในฤดูหนาวและฤดูแล้ง ซึ่งเอื้อให้เกิดสภาพดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่นอกตัวเมืองตั้งแต่อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ รวมทั้งอำเภอสังขละบุรี ส่วนที่สองคือ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มากกว่าควันจากธรรมชาติ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝุ่นควันและเขม่าส่วนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรีเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการปลูกอ้อย ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลเชื่อมโยงต่อการเผาอ้อย ได้แก่ รถตัดอ้อย แรงงานรับจ้างตัดอ้อย และโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อย ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมายังมีไม่มีประสิทธิผลมากพอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยน้อยกว่า 20 ไร่ ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้การบังคับใช้มาตรการจากภาครัฐอาจจะยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่มีขนาดเล็กทำให้รถตัดอ้อยซึ่งมีต้นทุนที่ถูกที่สุดต่อหน่วยพื้นที่การปลูกอ้อยไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ การจ้างรถตัดอ้อยด้วยเกษตรกรรายย่อยเพียงไม่กี่รายมักถูกปฏิเสธจากรถตัดเพราะได้ค่าตัดไม่คุ้ม นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยมักมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ต้องเร่งรีบตัดและขายอ้อยให้กับโรงงานเพื่อให้ทันการปิดหีบ ประเด็นเรื่องอ้อยไฟไหม้มีความซับซ้อน มีผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก อีกทั้งเกษตรกรที่ทำไร่อ้อยก็มีความแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ทำไร่ขนาดใหญ่มีทุนสูง หรือเกษตรรายย่อยทำในพื้นที่ขนาดเล็กที่ไม่มีเครื่องมือหรือเงินทุนน้อย ซึ่งมีโอกาสและข้อจำกัดไม่เหมือนกัน จึงมักจะสังเกตได้ว่า แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมามากมาย แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การศึกษานี้ จึงมีเป้าหมายที่จะอธิบายกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทตลอดห่วงโซ่ของการปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานในแต่ละระดับที่มีส่วนดูแลป้องกันและแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่าแต่ละส่วนมีบทบาทอย่างไร มาตรการใดที่ได้ผล และไม่ได้ผล ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดการเผาลง โดยการวิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยงของเหตุและผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของการเผาอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอผ่านเครื่องมือ “วงรอบเหตุและผล” (causal loop diagram)
  • thumb
    12 15 17
    7 ต.ค. 2565
    การจัดการด้านความปลอดภัยและของเสียอันตราย
    การจัดการด้านความปลอดภัยและของเสียอันตรายในเชิงนโยบายและการดำเนินงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล
  • thumb
    2 ก.พ. 2567
    การปรากฏและการกระจายของละองละมั่ง ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี
    การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ติดตามรูปแบบการปรากฏและการกระจายของประชากรละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อเป็นการติดตามความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งและใช้เป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ประชากรละองละมั่ง
  • thumb
    15 13
    10 ม.ค. 2567
    การจัดทำแผนผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล
    อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทยจากยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 และคณะกรรมการสภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks Council) ได้มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโลกสตูลผ่านการประเมินซ้ำเพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และได้รับสถานะ Green Card เมื่อปี 2566 เขาน้อยและป่าพนเป็นแหล่งธรณีและฟอสซิลที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังขาดการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) จัดทำผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน ในอุทยานธรณีสตูล และ 2) พัฒนาเส้นทางการเรียนรู้แหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน การจัดทำผังภูมินิเวศได้ใช้หลักการในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญและการแบ่งพื้นที่ตามภูมิประเทศ ชีวภาพ ภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรม โดยการใช้แผนที่แสดงลักษณะทางกายภาพ การบินสำรวจภาพมุมสูงโดยโดรน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ชั้นหิน และขอบเขตประกาศแหล่งอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ มาซ้อนทับและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในแต่ละเขต การจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกโดยการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ศักยภาพและข้อจำกัด และการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน การจัดทำคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของอุทยานธรณีสตูล รายละเอียดและข้อมูลเขาน้อยและป่าพน นำมาออกแบบบนหลักการที่ยังคงความถูกต้องทางวิชาการ เข้าใจง่ายและน่าสนใจ การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วม และการฝึกอบรมมัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนกำแพงและป่าพน ผลการศึกษาได้จัดทำผังภูมินิเวศของพื้นที่เขาน้อย โดยมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,511.85 ตารางเมตร (4.070 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 72,834.55 ตารางเมตร (45.522 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 1,440.07 ตารางเมตร (0.900 ไร่) และผังเฉพาะป่าพนมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,339.25 ตารางเมตร (3.962 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 43,769.47 ตารางเมตร (27.356 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 29,532.45 ตารางเมตร (18.458 ไร่) ตามลำดับ โดยพื้นที่สงวนครอบคลุมพื้นที่หินที่บ่งบอกอายุหินที่แตกต่างกัน แหล่งฟอสซิล หินสาหร่าย พื้นที่อนุรักษ์คือ พื้นที่ที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สงวน และพื้นที่พัฒนาคือ พื้นที่ที่จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติและเบียดเบียนธรรมชาติน้อยที่สุด ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ ควรเร่งรัดการจัดทำแผน 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ของอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อปรับแผนให้เข้ากับแผนจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ทันกับปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะทำให้งานขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดของแผนผังภูมินิเวศ จะมองพื้นที่แหล่งฟอสซิลเป็นแหล่งธรณีที่ยึดโยงกับประชาชน (Man) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งฟอสซิล กับ ชีวมณฑล (Biosphere) ที่อยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านการจัดการพื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างเหมาะสมและสมดุล การมีส่วนร่วมของชุมชนต้องมีอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และสร้างความตระหนักต่อบทบาทหน้าที่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด จึงจะทำให้การขับเคลื่อนงานของอุทยานธรณีโลกเป็นไปอย่างตรงและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ การออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกเขาน้อย โดยการนำ Prehistoric scenery ของยุคออร์โดวิเชี่ยนมาใช้สร้างความสนใจให้กับโครงการ โดยการใช้ลักษณะภูมิทัศน์เดิมของพื้นที่ในส่วนด้านหน้าเป็นพื้นทีที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว และอาจะมีการเพิ่มองค์ประกอบภูมิทัศน์บางส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยพื้นที่แหล่งฟอสซิลเขาน้อยจะใช้แนวคิด The Prehistoric Scenery of Nature และสำหรับป่าพน โดยการนำแนวความคิด The Journey of Natural Nature: Local-Natural trail- Enhance เน้นให้คนในชุมชน ท้องถิ่นเน้นร่วมกิจกรรม local guide, local food, local craft, local plants, local nature คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน ประกอบด้วยอุทยานธรณีโลกสตูล ตารางธรณีกาล เขาน้อย และป่าพน คำสำคัญ: อุทยานธรณีสตูล เขาน้อย ป่าพน แผนผังภูมินิเวศ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ฟอสซิล สโตรมาโตไลต์
  • thumb
    11 13 15
    10 ม.ค. 2567
    เสริมพลังชุมชน บรรลุเป้าหมาย Net Zero สร้างความเชื่อมั่น-ยกระดับมาตรฐานส่งออก ‘ส้มโอ จ.นครปฐม’
    ส่งเสริมให้ชาวสวนส้มโอชุมชน “เกาะลัดอีแท่น” ตระหนักถึง “การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน” เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานในรูปแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการปรับตัวให้เท่าทันสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเสริมสร้างชุมชนเกษตรเชิงอนุรักษ์ และการประกอบการเพื่อชุมชนยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
  • thumb
    13 11 15
    1 พ.ย. 2566
    สวนมุมสวย
    กระตุ้นการพัฒนา/ปรับปรุงพื้นที่ว่างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือพื้นที่สีเขียวเดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อกิจกรรมการศึกษา กีฬาหรือนันทนาการ รวมทั้งเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ
จำนวนทั้งหมด 42 รายการ