มหาวิทยาลัยมีนโยบายการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงนโยบายการจัดการของเสียอันตราย การนำมาตรฐานความปลอดภัยในการวิจัยของห้องปฏิบัติการไปใช้โดยใช้ความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม
มหาวิทยาลัยมีนโยบายการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงนโยบายการจัดการของเสียอันตราย การนำมาตรฐานความปลอดภัยในการวิจัยของห้องปฏิบัติการไปใช้โดยใช้ความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม
การจัดการของเสียที่เป็นอันตราย สอดคล้องกับนโยบายภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัย ประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง นโยบายด้านการจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการ พ.ศ. 2565 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. มหาวิทยาลัยจะควบคุมดูแลการใช้สารเคมี วัสดุกัมมันตรังสี และวัตถุชีวภาพ ในการทำงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และปลอดภัย พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะลดการผลิตของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการออกสู่สิ่งแวดล้อม
2. ผู้บริหารส่วนงานและหัวหน้าส่วนงานต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการของส่วนงานและหน่วยงานให้สอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
3. มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้ทุกส่วนงานที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี วัสดุกัมมันตรังสี และวัตถุชีวภาพ คัดแยกของเสียอันตรายออกจากของเสียทั่วไป เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการของเสียอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ
4. มหาวิทยาลัยจะสร้างและพัฒนาระบบบริหารจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการในรูปแบบกลางของมหาวิทยาลัย และให้ส่วนงานที่มีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี วัสดุกัมมันตรังสี และวัตถุชีวภาพ ใช้ในการรวบรวมข้อมูลของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการเพื่อบริหารจัดการให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด
5. ผู้บริหารส่วนงานและหัวหน้าหน่วยงานต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการของส่วนงานและหน่วยงานให้สอดคล้องตามนโยบายมหาวิทยาลัย
6. ส่วนงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี วัสดุกัมมันตรังสี และวัตถุชีวภาพ ต้องมีคณะทำงานหรือผู้รับผิดชอบบริหารจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการ ทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการจัดการของเสียอันตรายจากห้องปฏิบัติการตามนโยบายที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ซึ่งทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยต้องมีคณะทำงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการของเสียอันตราย มีการบันทึกและระบบการจัดการของเสียอันตราย และมีการทำเป็นข้อตกลง (Performance Agreement) กับทุกส่วนงานในแต่ละปี และมีการกำหนดเป็นประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2564
จากนโยบายดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดลงสู่ ศูนย์บริหารความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วม “โครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL)” ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยเกิดความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกระดับที่เอื้อให้เกิดการพัฒนางานด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มหาวิทยาลัยมหิดล ในการกำหนดนโยบายและกำกับติดตาม รวมทั้งมีการมีคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าผู้ตรวจประเมินและผู้ตรวจประเมินห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ESPReL และมีการตั้งคณะกรรมการในแต่ละส่วนงาน รวมทั้งมีการกำหนดเป็น Performance Agreement กับทุกหัวหน้าส่วนงาน มีการกำหนด Checklist ในการประเมินและจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียที่เป็นอันตราย มีการกำกับติดตาม ส่งผลให้ห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมีของมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นทุกปี
จากประกาศมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 4.3 (กำหนดให้บุคลากรและนักศึกษาที่ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี สารกัมมันตรังสี วัตถุชัวภาพ และความเสี่ยงอื่น ๆ จะต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากส่วนงานต้นสังกัด) ส่งผลให้มีการนำนโยบายสู่แนวทางปฏิบัติ โดยมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยจำแนกลงแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสียที่เป็นอันตราย และหลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ทั้งนี้มีการอบรมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีจำนวนห้องปฏิบัติการที่ใช้สารเคมีผ่านการรับรองเพิ่มขึ้นทุกปี
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าร่วมผลักดันนโยบายด้านการจัดการความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในระดับประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย (ESPReL) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยเกิดความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ การจัดการของเสียที่เป็นอันตรายในห้องปฏิบัติการอย่างถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกระดับที่เอื้อให้เกิดการพัฒนางานด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
-