Life On Land

ปกป้องฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นฟูสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้นโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ให้เป็น “สวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตราฐานระดับสากลแห่งแรกในประเทศไทย” และยังได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “รางวัลดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน” จากการรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรจากตำรายาที่มีคุณค่าและหายากมากว่า 900 ชนิด และยังค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ • ชมพูราชสิริน ชาฤาษีไทรโยค และดาดดารารัศมี (โดยผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์) • ดาดสังขละบุรี (โดยผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย และนายสุภัทร ประสพศิลป์ นักวิทยาศาสตร์วิทยาเขตกาญจนบุรี) • ดอกดินทยา (โดยนักศึกษาปริญญาเอก และ ผศ.ดร. ทยา เจนจิตติกุลคณะวิทยาศาสตร์) • หญ้าค้อนกลอง สามสิบกีบน้อย ถั่วนกเขาใหญ่ จิกดง และ ดูกเขียว (โดยอาจารย์วงศ์สถิต ฉั่วกุลคณะเภสัชศาสตร์) ซึ่งเป็นความก้าวหน้าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ เภสัชศาสตร์ และประชาชนทั่วไป เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายาจากสมุนไพรไทย รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศซึ่งเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย สำหรับสัตว์มีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร โรงพยาบาล ปศุสัตว์และสัตว์ป่า ปศุปาลัน และคลินิก ม.มหิดลคนรักสัตว์ สำหรับศึกษาและรักษาสัตว์ โดยในปี พ.ศ. 2563 ได้ทำการรักษาสัตว์ไปทั้งสิ้น จำนวน 83,966 ตัว และได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาด โดยมีการเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากสัตว์ 4,493 ตัวอย่าง ผ่านการตรวจวินิจฉัยตามมาตรฐานคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO15189:2012 และความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ ISO15190:2003 โดยศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้ส่งข้อมูลผลการวินิจฉัยจากการเก็บตัวอย่างเชื้อโรคไปยังภาครัฐ เพื่อใช้วางมาตราการป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์ ป้องกันโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และโรคสำคัญอื่น ๆ และได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับศูนย์สุขภาพสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา The USGS – National Wildlife Health Center ในโครงการ OIE Twinning program เพื่อพัฒนาศักยภาพในการรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโรคอุบัติใหม่เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในอนาคต ความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาแนวทางการรักษาที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าต่อไป นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านทาง 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรีสร้างฝายชะลอน้ำที่ลดความรุนแรงของน้ำไหลบ่าหน้าดิน ทำให้พบการกลับมาของสัตว์ป่า สัตว์สงวน และการเกิดพืชสมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดรายได้แก่ชุมชนในท้องถิ่น วิทยาเขตนครสวรรค์ดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกับชุมชนในการใช้น้ำและจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพ และวิทยาเขตอำนาจเจริญจัดการด้านป่าชุมชนเป็นแนวทางในการรักษาพื้นที่ป่าและพัฒนา สำรวจความหลากหลายของทรัพยากร ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้การดำรงชีพอย่างสมดุลกับธรรมชาติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน

Highlights
  • thumb
    15 12
    2 ก.พ. 2567
    การศึกษาการลดการเกิดและลุกลามของไฟป่าตามแนวทางป่าประชารัฐในพื้นที่ดอยพระบาท จังหวัดลำปาง
    สถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รอบดอยพระบาท จังหวัดลำปาง ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่น โดยเฉพาะ PM2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ วัตถุประสงค์เพื่อประเมินสาเหตุของการเกิดไฟป่า แนวทางและวิธีการในการลดการเกิดไฟป่า เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์
  • thumb
    13 15
    10 ม.ค. 2567
    โครงการปรับปรุงดัชนีความเปราะบางจากภัยแล้ง และพัฒนาดัชนีพยากรณ์ภัยแล้งจากข้อมูลดาวเทียม
    เนื่องด้วยประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในภาคการเกษตร โครงการนี้จะทำให้เกิด “ระบบปฏิบัติการติดตามและพยากรณ์ภัยแล้ง” ที่เป็นโครงการนำร่อง สามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้าได้อย่างน้อย 3 เดือน และพัฒนาระบบแสดงผลข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสำหรับสนับสนุนการบริการจัดการภัยแล้งได้เป็นอย่างดี
  • thumb
    15 13
    10 ม.ค. 2567
    การจัดทำแผนผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล
    อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทยจากยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 และคณะกรรมการสภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks Council) ได้มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโลกสตูลผ่านการประเมินซ้ำเพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และได้รับสถานะ Green Card เมื่อปี 2566 เขาน้อยและป่าพนเป็นแหล่งธรณีและฟอสซิลที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังขาดการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) จัดทำผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน ในอุทยานธรณีสตูล และ 2) พัฒนาเส้นทางการเรียนรู้แหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน การจัดทำผังภูมินิเวศได้ใช้หลักการในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญและการแบ่งพื้นที่ตามภูมิประเทศ ชีวภาพ ภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรม โดยการใช้แผนที่แสดงลักษณะทางกายภาพ การบินสำรวจภาพมุมสูงโดยโดรน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ชั้นหิน และขอบเขตประกาศแหล่งอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ มาซ้อนทับและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในแต่ละเขต การจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกโดยการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ศักยภาพและข้อจำกัด และการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน การจัดทำคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของอุทยานธรณีสตูล รายละเอียดและข้อมูลเขาน้อยและป่าพน นำมาออกแบบบนหลักการที่ยังคงความถูกต้องทางวิชาการ เข้าใจง่ายและน่าสนใจ การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วม และการฝึกอบรมมัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนกำแพงและป่าพน ผลการศึกษาได้จัดทำผังภูมินิเวศของพื้นที่เขาน้อย โดยมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,511.85 ตารางเมตร (4.070 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 72,834.55 ตารางเมตร (45.522 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 1,440.07 ตารางเมตร (0.900 ไร่) และผังเฉพาะป่าพนมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,339.25 ตารางเมตร (3.962 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 43,769.47 ตารางเมตร (27.356 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 29,532.45 ตารางเมตร (18.458 ไร่) ตามลำดับ โดยพื้นที่สงวนครอบคลุมพื้นที่หินที่บ่งบอกอายุหินที่แตกต่างกัน แหล่งฟอสซิล หินสาหร่าย พื้นที่อนุรักษ์คือ พื้นที่ที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สงวน และพื้นที่พัฒนาคือ พื้นที่ที่จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติและเบียดเบียนธรรมชาติน้อยที่สุด ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ ควรเร่งรัดการจัดทำแผน 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ของอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อปรับแผนให้เข้ากับแผนจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ทันกับปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะทำให้งานขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดของแผนผังภูมินิเวศ จะมองพื้นที่แหล่งฟอสซิลเป็นแหล่งธรณีที่ยึดโยงกับประชาชน (Man) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งฟอสซิล กับ ชีวมณฑล (Biosphere) ที่อยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านการจัดการพื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างเหมาะสมและสมดุล การมีส่วนร่วมของชุมชนต้องมีอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และสร้างความตระหนักต่อบทบาทหน้าที่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด จึงจะทำให้การขับเคลื่อนงานของอุทยานธรณีโลกเป็นไปอย่างตรงและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ การออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกเขาน้อย โดยการนำ Prehistoric scenery ของยุคออร์โดวิเชี่ยนมาใช้สร้างความสนใจให้กับโครงการ โดยการใช้ลักษณะภูมิทัศน์เดิมของพื้นที่ในส่วนด้านหน้าเป็นพื้นทีที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว และอาจะมีการเพิ่มองค์ประกอบภูมิทัศน์บางส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยพื้นที่แหล่งฟอสซิลเขาน้อยจะใช้แนวคิด The Prehistoric Scenery of Nature และสำหรับป่าพน โดยการนำแนวความคิด The Journey of Natural Nature: Local-Natural trail- Enhance เน้นให้คนในชุมชน ท้องถิ่นเน้นร่วมกิจกรรม local guide, local food, local craft, local plants, local nature คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน ประกอบด้วยอุทยานธรณีโลกสตูล ตารางธรณีกาล เขาน้อย และป่าพน คำสำคัญ: อุทยานธรณีสตูล เขาน้อย ป่าพน แผนผังภูมินิเวศ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ฟอสซิล สโตรมาโตไลต์
  • thumb
    13 11 15
    1 พ.ย. 2566
    สวนมุมสวย
    กระตุ้นการพัฒนา/ปรับปรุงพื้นที่ว่างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือพื้นที่สีเขียวเดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อกิจกรรมการศึกษา กีฬาหรือนันทนาการ รวมทั้งเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ
  • thumb
    25 ก.ย. 2566
    แผนนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนบนฐานระบบวนเกษตรชุมชน
    การนำแนวคิด ความรู้ และหลักการทางนิเวศวิทยาในการบริหารจัดการเกษตรกรรมด้วยระบบวนเกษตร สู่แผนนโยบายขับเคลื่อนชี้นำสังคม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
  • thumb
    13 15
    11 ก.ย. 2566
    อิทธิพลของสภาพภูมิอากาศต่อสัณฐานวิทยาของไซเลมตลอดฤดูกาลเติบโต: ข้อมูลเชิงลึกจากกายวิภาคของวงปีไม้ในระยะยาวในไม้สนเขตร้อนชื้นของประเทศไทย
    ป่าฝนเขตร้อนถูกคุกคามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษานี้จะศึกษาโครงสร้างทางกายวิภาคของในลำต้นของต้นสนเขตร้อน ประเมินการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของปัจจัยแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดเซลล์ที่สังเกตจากวงปีไม้สน รวมถึงวิเคราะห์ค่าออกซิเจนไอโซโทปในเซลลูโลสของไม้ และหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าออกซิเจนไอโซโทปกับสภาพภูมิอากาศ เพื่อที่จะประเมินให้ชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อต้นไม้ ป่าไม้ วัฏจักรชีวเคมี อย่างไร
  • thumb
    15
    11 ก.ย. 2566
    การปรากฏและการกระจายของละองละมั่งภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี
    การศึกษาการปรากฏและการกระจายของละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นเวลา 10 ปี โดยใช้การวางกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า และวิเคราะห์การปรากฏและการกระจายของละองละมั่งโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เพื่อเป็นการติดตามความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งและใช้เป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ประชากรละองละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับประเทศไทยต่อไป
  • thumb
    15
    11 ก.ย. 2566
    โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์วัวแดง (Bos javanicus) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ของมหาวิทยาลัยมหิดล
    โครงการนี้เน้นสภาพปัจจุบันของวัวแดงในพื้นที่ต่าง ๆ เทียบกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่เป็นต้นแบบในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาโปรแกรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เพื่อการเรียนรู้ของเยาวชน ประชาชน และชุมชนบนพื้นฐานจากงานวิจัยด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจการจัดการอนุรักษ์วัวแดงในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป
  • thumb
    11 13 15
    8 ก.ย. 2566
    โครงการวิจัย “การจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง”
    พื้นที่แหล่งมรดกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ใน พ.ศ.2534 ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 7, 9 และ 10 ซึ่งมีรายละเอียด คือ ข้อที่ 7 ประกอบด้วยปรากฎการณ์ทางธรรมชาติชั้นเยี่ยม หรือพื้นที่ซึ่งมีความงามทางธรรมชาติที่ยอดเยี่ยม และมีความสำคัญทางสุนทรียะ ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สะท้อนถึงกระบวนการสำคัญที่ดำเนินอยู่ทางนิเวศวิทยาและชีววิทยา ในวิวัฒนาการและการพัฒนาของระบบนิเวศบนบก น้ำจืด ชายฝั่งและท้องทะเล และสังคมพืชและสัตว์และข้อที่ 10 บรรจุไว้ซึ่งถิ่นที่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่ง และถิ่นอาศัยที่มีนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่น รวมถึงที่รวบรวมไว้ซึ่งชนิดพันธ์ของคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลที่ถูกคุกคามจากมุมมองของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์
  • thumb
    15 13
    6 ก.ย. 2566
    การกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ป่าไม้ในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์
    การประเมินการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าไม้จำนวน 209.87 ไร่ โดยการวางแปลงชั่วคราวสำรวจทรัพยากรป่าไม้ขนาด 40x40 เมตร ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบประเภท
  • thumb
    4 ก.ย. 2566
    การพัฒนาศูนย์ข้อมูลบึงบอระเพ็ดร่วมกับเครือข่าย
    บึงบอระเพ็ดมีหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวนมาก ซึ่งมีบทบาทและภารกิจที่แตกต่างกันไป ทำให้แต่ละหน่วยงานมีการเก็บข้อมูลแยกกัน และมีการรายงานข้อมูลไปตามสายงานของแต่ละกรมกองเท่านั้น ทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลต้องมีการทำหนังสือขอเป็นทางการเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจในการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ดของคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้มีการใช้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน แต่ก็ต้องใช้เวลาในการ รวบรวมประสานข้อมูลกันจนทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที
  • thumb
    4 ก.ย. 2566
    การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ปี 2566
    “บึงบอระเพ็ด” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และเป็นบึงน้ำจืดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพทางด้านพรรณพืช สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า โดยบึงบอระเพ็ดเป็นบึงที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์ โดยพระบรมราชานุญาตของรัชกาลที่ 7 ให้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งก่อนมีการก่อสร้างฝายเพื่อสร้างบึงมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่บึงอยู่ก่อนแล้ว
จำนวนทั้งหมด 38 รายการ