การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน จะช่วยลดการเผาไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพื่อนำมาสู่อากาศบริสุทธิ์แเละลดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ ที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกัน จะช่วยลดการเผาไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพื่อนำมาสู่อากาศบริสุทธิ์แเละลดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเผาวัสดุการเกษตรในที่โล่ง จากข้อมูลสถิติในช่วงปี ค.ศ. 1960-2015 แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ปริมาณเศษวัสดุของข้าวที่ถูกเผาจะสูงกว่าอ้อย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 พบปริมาณเศษวัสดุของข้าวมีแนวโน้มที่ลดลง ในทางกลับกันเศษวัสดุของอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะเกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนการใช้พลังงานจากพืชมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงปิโตรเลียม จึงทำให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวลดลงและเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตและกลั่นเป็นเอทานอลที่นำมาผสมกับน้ำมันปิโตรเลียมเพื่อผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น (Kumar, Feng, Sun, & Bandaru, 2022) รวมทั้งนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทน ซึ่งรวมถึงอ้อยด้วย กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีการทำไร่อ้อยเป็นวงกว้าง และมีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ถึง 8 แห่งจาก 20 แห่งทั่วภาคกลาง และจาก 56 แห่งทั่วประเทศ ในด้านสถิติการปลูกอ้อยปี 2563 กาญจนบุรีมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยทั้งสิ้น 753,424 ไร่ นับเป็นอันดับสามในประเทศ หรือมีพื้นที่ผลิตอ้อยมากกว่าพื้นที่ในการผลิตโดยรวมในภาคตะวันตกซึ่งมีการปลูกอ้อยทั่วทั้งภูมิภาค จำนวน 659,249 ไร่ กาญจนบุรีจึงถูกนับเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ของประเทศ (ณิชภัทร์ กิจเจริญ, 2563) ปัญหาการเกิดฝุ่นควันในจังหวัดกาญจนบุรีเกิดขึ้นจากสองส่วนหลักๆ คือ ได้แก่ ส่วนแรก คือควันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะไฟป่าในฤดูหนาวและฤดูแล้ง ซึ่งเอื้อให้เกิดสภาพดังกล่าว มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่นอกตัวเมืองตั้งแต่อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ รวมทั้งอำเภอสังขละบุรี ส่วนที่สองคือ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มากกว่าควันจากธรรมชาติ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝุ่นควันและเขม่าส่วนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรีเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการปลูกอ้อย ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลเชื่อมโยงต่อการเผาอ้อย ได้แก่ รถตัดอ้อย แรงงานรับจ้างตัดอ้อย และโรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อย ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมายังมีไม่มีประสิทธิผลมากพอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ โดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยน้อยกว่า 20 ไร่ ถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้การบังคับใช้มาตรการจากภาครัฐอาจจะยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องด้วยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่มีขนาดเล็กทำให้รถตัดอ้อยซึ่งมีต้นทุนที่ถูกที่สุดต่อหน่วยพื้นที่การปลูกอ้อยไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ การจ้างรถตัดอ้อยด้วยเกษตรกรรายย่อยเพียงไม่กี่รายมักถูกปฏิเสธจากรถตัดเพราะได้ค่าตัดไม่คุ้ม นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยมักมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ต้องเร่งรีบตัดและขายอ้อยให้กับโรงงานเพื่อให้ทันการปิดหีบ ประเด็นเรื่องอ้อยไฟไหม้มีความซับซ้อน มีผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก อีกทั้งเกษตรกรที่ทำไร่อ้อยก็มีความแตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ทำไร่ขนาดใหญ่มีทุนสูง หรือเกษตรรายย่อยทำในพื้นที่ขนาดเล็กที่ไม่มีเครื่องมือหรือเงินทุนน้อย ซึ่งมีโอกาสและข้อจำกัดไม่เหมือนกัน จึงมักจะสังเกตได้ว่า แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมามากมาย แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้น การศึกษานี้ จึงมีเป้าหมายที่จะอธิบายกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทตลอดห่วงโซ่ของการปลูกอ้อยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานในแต่ละระดับที่มีส่วนดูแลป้องกันและแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่าแต่ละส่วนมีบทบาทอย่างไร มาตรการใดที่ได้ผล และไม่ได้ผล ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปสู่การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งถูกพัฒนาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดการเผาลง โดยการวิเคราะห์ปัญหาและความเชื่อมโยงของเหตุและผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบของการเผาอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรีจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอผ่านเครื่องมือ “วงรอบเหตุและผล” (causal loop diagram)
เกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรจังหวัด/อำเภอ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ อาสาสมัครสาธารณสุข ชุมชน ฯลฯ