การจัดทำแผนผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล

detail

การจัดทำผังภูมินิเวศเขาน้อยและป่าพน เพื่อเป็นการจัดโซนพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์รวมถึงการอนุรักษ์ซอกฟอสซิวเพื่อให้ดำรงอยู่ ภายใต้อุทยานธรณีโลกสตูล 

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

ยูเนสโก (UNESCO) ได้รับรองให้อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลกหรือ Satun UNESCO Global Geopark เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 และจะมีการประเมินทุก 4 ปี ซึ่งการประเมินครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม – 1 มิถุนายน 2566  คณะกรรมการสภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks Council) ได้มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโลกสตูลผ่านการประเมินซ้ำเพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และได้รับสถานะ Green Card นอกจากนี้ทางคณะกรรมการสภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกได้มีคำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินครั้งต่อไปที่จะเกิดในปี 2569 บางประเด็นเช่น 1) ควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการทางธรณีวิทยาในพื้นที่และมรดกทางวัฒนธรรม การเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมและประเพณีท้องถิ่นควรสะท้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในสื่อ การสื่อสารและการเข้าถึง เช่น ป้ายข้อมูล โบรชัวร์ และเว็บไซต์ รวมตำนานและเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิประเทศและแหล่งธรณีวิทยาไว้ในเนื้อหาแนะนำ เช่น ป้ายข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ และหนังสือนำเที่ยว 2) พัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีเพิ่มเติมโดยอธิบายเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่เชื่อมโยงกันทั่วทั้ง Unesco Global Geopark (UGGp) และสนับสนุนการกระจายผู้เยี่ยมชมให้ห่างจากบริเวณชายหาดมากขึ้นโดยวางจุดข้อมูล ป้าย พิพิธภัณฑ์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จุดท่องเที่ยวยอดนิยมเพื่อกระตุ้นให้ผู้เยี่ยมชมและคนในพื้นที่ไปที่อุทยานธรณีมากขึ้น ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงได้เสนอการจัดทำแผนผังภูมินิเวศบริเวณเขาน้อยและป่าพนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารแหล่งและสนับสนุนการดำเนินการของอุทยานธรณีสตูลในมิติด้านการสื่อสารและการให้ความรู้ และประเด็นด้านการท่องเที่ยวเชิงธรณี

รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การวิจัย

1) เพื่อจัดทำผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน ในอุทยานธรณีสตูล

2) เพื่อพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้แหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน

การดำเนินการ

การจัดทำผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน ในอุทยานธรณีสตูล ได้ดำเนินการโดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเชิงแผนที่ที่เกี่ยวข้องได้แก่ แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ธรณีวิทยา และการบินสำรวจภาพมุมสูง ขอบเขตการขอใช้ประโยชน์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์คุ้มครองแหล่งซากดึกดำบรรพ์  แผนที่ระดับชั้นความสูง ต่อจากนั้นจึงนำมาจัดร่างขอบเขตของผังภูมินิเวศที่ครอบคลุมพื้นที่เขาน้อยและป่าพน โดยที่พื้นที่เขาน้อยได้ใช้ขอบเขตที่กรมทรัพยากรธรณีประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ครอบคลุมพื้นที่ 51 ไร่ และได้ทำการแบ่งขอบเขตย่อยออกเป็น 3 เขต ได้แก่ พื้นที่สงวน คือ พื้นที่ที่ครอบคลุมบริเวณแนวหินสองยุคที่มาบรรจบกัน (ออร์โดวิเชียนและไซลูเลียน) แนวหินเหนือแอ่งน้ำ รวมทั้งเขาหินสาหร่าย พื้นที่อนุรักษ์ คือ พื้นที่ที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สงวน และพื้นที่พัฒนา คือ พื้นที่บริเวณที่ออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ด้านหน้าที่ติดถนนเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นอาคารนิทรรศการ ที่จอดรถ และห้องน้ำ เป็นต้น สำหรับพื้นที่ป่าพนได้ใช้ขอบเขตของโรงเรียนบ้านป่าพนที่ได้ขออนุญาตการใช้พื้นที่จากทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 28.8 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่เขาหินสาหร่ายที่อยู่ทางทิศตะวันตกของโรงเรียนมีความสำคัญด้านแหล่งธรณี ดังนั้นจึงได้ขีดขอบเขตครอบคลุมบริเวณเขาหินสาหร่ายและได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 เขตเช่นกัน คือ บริเวณหินสาหร่ายที่อยู่บนเขาจะเป็นเขตสงวน และพื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นพื้นที่อนุรักษ์รวมทั้งหินสาหร่ายที่อยู่บริเวณสวนหย่อมหน้าอาคารเรียน เนื่องจากทางโรงเรียนได้ใช้เป็นพื้นที่สันทนาการมานานแล้ว และพื้นที่พัฒนาจะครอบคลุมพื้นที่อาคารโรงเรียนรวมถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ได้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสนับสนุนการบริหารอุทยานธรณีสตูล ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้วยเทคนิค PESTLE (Political, Economic, Social, Technological, Environmental, Legal, Ethic) และการวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดทำกลยุทธ์ด้วยเทคนิค TOWS สำหรับการพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้แหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน มีกรอบการดำเนินงานดังนี้ คือให้คงสภาพธรรมชาติดั่งเดิมให้มากที่สุด เส้นศึกษาศึกษาควรผ่านจุดที่น่าสนใจมากที่สุด ขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ คือ การวิเคราะห์พื้นที่ ประกอบด้วยผังการวิเคราะห์พื้นที่แหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพน ศักยภาพและข้อจำกัดในการพัฒนาแหล่ง และการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน แนวคิดในการออกแบบแหล่งเขาน้อย The prehistoric scenary of Nature : Fossil Story, Sequence, Activities และแนวคิดการออกแบบป่าพน The journey of natural nature: local, natural trail, enhance และการจัดทำคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีสตูล เขาน้อยและป่าพน โดยการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับอุทยานธรณีสตูล รวบรวมเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับเขาน้อยและป่าพน การออกแบบโดยยังคงคุณค่างานทางวิชาการ รูปประกอบ และ จัดทำรูปเล่มให้น่าสนใจ ขั้นตอนสุดท้ายคือการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์ ผังภูมินิเวศเขาน้อยและป่าพน แผนการใช้ประโยชน์พื้นที่และสนับสนุการบริหารอุทยานธรณีสตูล โมเดลต้นแบบเส้นทางการศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกเขาน้อยและป่าพน และคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูลเขาน้อย-ป่าพน ต่อจากนั้นได้นำมาปรับปรุง และได้จัดอบรมมัคคุเทศก์น้อยและครูของโรงเรียนกำแพง และโรงเรียนป่าพน เพื่อให้ได้ใช้แผนผังอุทยานธรณีสตูล เขาน้อยและป่าพน โมเดลเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวก และการนำคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน ไปใช้ต่อไป

ผลการดำเนินงาน

การจัดทำผังภูมินิเวศของเขาน้อยและป่าพนประกอบไปด้วย 3 เขตคือ พื้นที่สงวน ครอบคลุมแหล่งที่พบฟอสซิล เขาสาหร่าย พื้นที่อนุรักษ์ คือ พื้นที่อื่น ๆ ที่ติดต่อกับพื้นที่สงวน และพื้นที่พัฒนา คือ พื้นที่ที่จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และพื้นที่ที่จะมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยผังเฉพาะของเขาน้อย ครอบคลุมพื้นที่สงวน 6,511.85 ตารางเมตร (4.070 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 72,834.55 ตารางเมตร (45.522 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 1,440.07 ตารางเมตร (0.900 ไร่) และผังเฉพาะป่าพน พื้นที่สงวนครอบคลุม 6,339.25 ตารางเมตร (3.962 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 43,769.47 ตารางเมตร (27.356 ไร่) และ พื้นที่พัฒนา 29,532.45 ตารางเมตร (18.458 ไร่)  แผนการใช้ประโยชน์พื้นที่และสนับสนุนการบริหารอุทยานธรณีสตูล ควรมีการดำเนินการประกอบด้วย 1) ยกระดับศูนย์เรียนรู้อุทยานธรณี การพัฒนาพื้นที่และการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน 2) ส่งเสริมการบริการท่องเที่ยวเชิงธรณีและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นสู่ระดับสากล 3) โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และ 4) สร้างความตระหนักรู้เส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้ออกแบบและผ่านกระบวนการคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการออกแบบคำนึงถึงการอนุรักษ์แหล่งและความน่าสนใจแหล่งฟอสซิลเป็นสำคัญและมีการรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกก็จะมีพอประมาณและให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด จึงมีแนวคิดในการออกแบบโดยการนำ Prehistoric scenery ของยุคออร์โดวิเชี่ยนมาใช้สร้างความสนใจให้กับโครงการ โดยการใช้ลักษณะภูมิทัศน์เดิมของพื้นที่ในส่วนด้านหน้าเป็นพื้นทีที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว และอาจะมีการเพิ่มองค์ประกอบภูมิทัศน์บางส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยพื้นที่แหล่งฟอสซิลเขาน้อยจะใช้แนวคิด The Prehistoric Scenery of Nature ในการออกแบบ โดยใช้การออกแบบลักษณะภูมิทัศน์ในปัจจุบันให้มีความความคล้ายคลึงเพื่อให้ระลึกถึงยุคในอดีตซึ่งเป็นยุคที่มีการกำเนิดฟอสซิล โดยที่พยายามรักษาลักษณะธรรมชาติเดิมของพื้นที่ไว้ให้มากที่สุด และใช้การออกแบบการจัดลำดับการเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยสร้างความน่าสนใจ และความประทับใจของพื้นที่ให้เพิ่มขึ้น สำหรับป่าพน พื้นที่พบหินปูนกับแหล่งฟอสซิล บางส่วนเป็นพื้นที่สวนหย่อมในเขตโรงเรียนบ้านป่าพน พื้นที่มีลักษณะเป็นสวนหย่อมประกอบไปด้วยก้อนหินชั้นหินปูนแต่ละชั้นแสดงโครงสร้างของสโตรมาโตไลต์อย่างชัดเจน โดยกล่าวได้ว่าเป็นหินปูนยุคออร์โดวิเชียน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี พื้นที่ตั้งโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือพื้นที่โรงเรียนและพื้นที่ป่าด้านหลังที่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติซึ่งลักษณะการใช้งานเดิมของพื้นที่ค่อนข้างมีความชัดเจน ร่วมกับการวิเคราะห์พื้นที่ในด้านต่าง ๆ พบว่าการออกแบบลักษณะการใช้งานควรเน้นการเดินศึกษาธรรมชาติและเรียนรู้ฟอสซิลในพื้นที่ทั้ง 8 จุด โดยเน้นการปรับระบบและการจัดการระบบต่าง ๆรวมถึงจุดบริการ และเส้นทางบริการในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของจุดจอดรถ ทางเดิน บันได ป้าย ร้านค้า ภูมิทัศน์ และการสร้างความน่าสนใจในจุดต่าง ๆ รวมถึงการเสนอแนะกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่โดยการเน้นให้คนในชุมชน และในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่ดังนี้

LOCAL GUIDE การให้นักเรียน หรือผู้ที่สนใจในหมู่บ้านมาเป็นมัคคุเทศก์ช่วยทำกิจกรรม บำรุงโครงการ และให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว

LOCAL FOOD การจัดร้านอาหารชุมชนไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยนำเสนออาหารปกติและอาหารพื้นถิ่น ที่เป็นเมนูแนะนำของจังหวัดสตูล

LOCAL CRAFT การเสนอให้ชาวบ้านสร้างงานหัตถกรรม หรืองานประดิฐษ์ต่างๆสำหรับนำมาโชว์และขายให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงอาจมีการสอนให้แก่นักท่องเที่ยว

LOCAL PLANTS การสนับสนุนให้มีการใช้พืชในท้องถิ่น รวมถึงควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของพืชชนิดต่าง ๆ

LOCAL NATURE ให้ความสำคัญกับลักษณะทางธรรมชาติเดิมของพื้นที่ เน้นการให้นักท่องเที่ยว และผู้มาเยี่ยมชมโครงการได้เห็นความสวยงามและความน่าประทับใจของธรรมชาติในพื้นที่ทั้ง ต้นไม้ สัตว์ และชั้นหินต่างๆ ทั้ง 8 จุด

คู่มือเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งที่เขาน้อยและป่าพนจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดฟอสซิลที่สตูล ความหมายของช่วงเปลี่ยนกาลเวลา หินสาหร่าย และฟอสซิลชนิดต่างๆที่พบที่เขาน้อย นอกจากนี้ยังได้นำเสนอพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้นของที่ป่าพน จากการวิเคราะห์หาค่าความสำคัญ จำนวนต้น และพื้นที่หน้าตัด แต่ละชนิดของไม้ยืนต้นในป่าดิบชื้นบริเวณป่าพน พบว่า ชนิดพันธุ์ที่มีค่าความสำคัญสูงสูด 5 อันดับแรกได้แก่ กระเบา (94.10%), พญามือเหล็ก (9.75%), ยางมันใส (9.25%), แซะ (8.95%) และ หมากพน (8.73%) จำนวนต้นที่สำรวจพบมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ พญามือเหล็ก (14 ต้น), โสกภูเขา (12 ต้น), มันหมู (11 ต้น) ยางมันใส และหมากพน (10 ต้น) และ แซะ กับ ไข่เขียว (8 ต้น) ชนิดพันธุ์ที่มีพื้นที่หน้าตัดมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระเบา (1090.96 ตร.ม.) มะกรูดป่า (43.00 ตร.ม.) ไม้เปรียง (15.42 ตร.ม.) ยางมันใส (10.00 ตร.ม.) และ ตะเคียนทราย (9.82 ตร.ม.) เป็นต้น

ผลการประเมินด้านคุณค่าของแหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพนโดยสรุปทั้ง 7 ด้าน คือ 1) ความเป็นเอกลักษณ์ทางธรณีวิทยา 2) ความหลากหลายทางธรณีวิทยา 3) ความหายาก 4) การแสดงหลักฐานทางธรณีประวัติ 5) ความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ 6) ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 7) การเป็นแหล่งอ้างอิงทางธรณีวิทยา ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความเห็นต่อทั้งสองแหล่งในระดับมากที่สุด (5 คะแนน)

ในส่วนของการจัดการโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ผลการประเมินก่อนการเดินทางโดยรวมอยู่ในระดับมาก (4 คะแนน) ระหว่างและหลังการเดินทางโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (5 คะแนน) ทั้งในด้านแหล่งฟอสซิล การเข้าถึง/การขนส่ง/การเดินทาง ผู้สื่อความหมายและให้บริการ ความปลอดภัย และสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามในส่วนของกิจกรรมท่องเที่ยวระหว่างการเดินทาง มีประเด็นย่อยเรื่อง กิจกรรมมีการจัดการรองรับนักท่องเที่ยว/ผู้มาเรียนรู้เป็นอย่างดี ที่ส่วนใหญ่ประเมินในระดับมาก ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมได้รับการประเมินสูงสุดในคะแนนเท่ากันคือ ระดับมากและมากที่สุด ดังนั้น การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว/ผู้มาเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวยังคงเป็นโอกาสในการพัฒนาต่อไป

การนำไปใช้ประโยชน์

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ของอุทยานธรณีโลกสตูลสามารถนำผลกาวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ได้

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

เป็นการนำหลักการการทำผังภูมินิเวศไปใช้กับการอนุรักษ์แหล่งฟอสซิวที่สำคัญในพื้นที่อุทยานธรณีโลก สตูล 

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

อุทยานธรณีสตูล องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ผู้อำนวยการ คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านป่าพน

Partners/Stakeholders

องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา

 

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
นาย รัฐพงศ์ วรวรรณสงคราม / องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา