สร้างฝายชะลอน้ำ (CHECK DAM) แล้วได้ประโยชน์อย่างไร

detail

"ฝายชะลอน้ำ รักษาหน้าดิน เพิ่มความชุ่มชื้น เพื่อประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบและทรัพยากรธรรมชาติ"

     เนื่องจาก วิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล เดิมประสบปัญหาการพังทลายของหน้าดินจากการชะล้างของน้ำฝนในช่วงฤดูฝนไหลท่วมพื้นที่อำเภอไทรโยค เนื่องจากที่ตั้งของวิทยาเขตกาญจนบุรี มีพื้นที่อยู่บนที่ราบเชิงเขาและแนวสันเขา ทำให้เกิดภาวะการพังทลายของหน้าดินสูงในฤดูฝนและไหลลงสู่บริเวณพื้นที่อำเภอไทรโยค ที่อยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาด้านล่างติดกับแม่น้ำแควน้อยเป็นประจำทุกปี ปัญหาจากน้ำฝนที่กัดเซาะหน้าดินในช่วงฤดูฝนได้พัดพาตะกอนดินรวมถึงเศษพืชต่าง ๆ ไหลเข้าท่วมบริเวณที่ตั้งสถานที่ราชการ บ้านเรือนประชาชน ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนของชุมชนโดยรอบรวมถึงทำให้แม่น้ำแควน้อยตื้นเขินด้วย

     ในปี 2553 วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้หารือความร่วมมือกับ SCGP โรงงานวังศาลา เพื่อเข้ามาศึกษาและสำรวจการพังทลายของหน้าดินภายในวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเห็นควรให้มีการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ วิทยาเขตกาญจนบุรีจึงได้มีความร่วมมือกับทาง SCGP โรงงานวังศาลา และทุกภาคส่วนในอำเภอไทรโยค ในการเริ่มสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นในพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี มาเป็นลำดับในทุกปี ตำแหน่งฝายที่มีความร่วมมือในการสร้างระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี กับ SCGP โรงงานวังศาลา แสดงดังรูปด้านล่าง โดย ณ ปัจจุบัน มีฝายชะลอน้ำทั้งหมดจำนวน 427 ฝาย วัตถุประสงค์หลักของการสร้างฝายในพื้นที่มิได้เพื่อการกักเก็บน้ำเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขาหินปูน มีรูพรุนใต้พื้นดินเป็นจำนวนมากไม่สามารถเก็บน้ำได้ แต่การสร้างฝายเพื่อต้องการชะลอน้ำ ลดความรุนแรงของกระแสน้ำ เพื่อไม่ให้สูญเสียหน้าดิน อีกทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่า โดยส่วนใหญ่ฝายชะลอน้ำสร้างจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น ไม้ไผ่ กิ่งไม้ และหิน สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติได้ และไม่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ ภายใน 1 ปี ฝายเหล่านี้ก็จะผุพังสลายไป เหลือไว้เพียงตะกอนดินที่ไม่ถูกชะล้าง เมล็ดไม้ และเศษซากพืชที่ไหลมากับกระแสน้ำ

ภาพที่ 1 ตำแหน่งของการสร้างฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

     นอกจากนี้ SCGP โรงงานวังศาลา ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อดำเนินโครงการตรวจติดตาม และตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ฝายอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาสังคมพืชพื้นล่างบริเวณแนวการสร้างฝายชะลอน้ำ การศึกษาฝายและการใช้ประโยชน์จากฝายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับและใช้เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่าจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (small mammals) และสัตว์ในกลุ่มนก (avian group) และการศึกษาการรับรู้ของผลพลอยได้ทางตรงและทางอ้อมของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การสร้างฝายชะลอน้ำ ทั้งนี้ผลที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของวิทยาเขตกาญจนบุรีได้เป็นระบบและรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยปัญหาที่เคยประสบในทุกปีของกระแสน้ำที่ไหลจากพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรีเข้าท่วมพื้นที่ของอำเภอไทรโยค และได้สร้างความเดือดร้อนในกับชุมชนได้เริ่มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ได้มีการสร้างฝายชะลอน้ำขึ้นในพื้นที่ของวิทยาเขตกาญจนบุรี

     ณ ปัจจุบัน วิทยาเขตกาญจนบุรียังคงตระหนักถึงความสำคัญในความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชนและสังคมโดยรอบ ทำให้มีการดำเนินการจัดสร้างฝายชะลอน้ำและซ่อมแซมให้คงสภาพในการใช้งานได้ทุกปี เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อมของวิทยาเขตกาญจนบุรีสืบไป

 

     จากการที่ SCGP โรงงานวังศาลา ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อดำเนินโครงการตรวจติดตามตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ฝายอย่างยั่งยืน ทางทีมวิจัยนำโดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับวิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ทำการศึกษาผลประโยชน์ที่ได้หลังจากการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย หัวหน้าทีมวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าพื้นที่ป่าจากเดิมที่มีชั้นหินเป็นส่วนใหญ่ทำให้ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ส่งผลให้เมื่อฝนตกหนักเกิดการชะล้างหน้าดินและน้ำไหลท่วมจากเขาลงสู่ด้านล่าง ได้เปลี่ยนเป็นมีการสะสมหน้าดินเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

     จากการใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) พบว่ามีการกลับมาของสัตว์ป่าในพื้นที่ตามแนวที่มีการสร้างฝาย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่พบน้อยมากนอกพื้นที่อนุรักษ์ ตัวอย่างแสดงในภาพที่ 2-4

ภาพที่ 2 ภาพสุนัขจิ้งจอกใกล้บริเวณตำแหน่งของการสร้างฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

ภาพที่ 3 ภาพเสือลายเมฆใกล้บริเวณตำแหน่งของการสร้างฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

ภาพที่ 4 ภาพแมวดาวใกล้บริเวณตำแหน่งของการสร้างฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)  

 

 

ภาพที่ 5 ตัวอย่างการค้นพบสัตว์ป่าใกล้บริเวณการสร้างฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

 

นอกจากนี้จากการดักจับ พบว่ามีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบนดินจำนวนมากดังแสดงในภาพที่ 6 และพบว่ามีพรรณพืชเกิดขึ้นที่ผืนดินจำนวนมากดังภาพที่ 7

ส่วนผลพลอยได้จากชุมชนท้องถิ่นจากการสร้างฝายทั้งทางตรงและทางอ้อม คณะผู้วิจัยนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย ยังพบว่า มีการนำพืชไปใช้ประโยชน์ดังภาพที่ 8 รวมถึงสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นแสดงในภาพที่ 9 และจากการทำแบบสอบถามพบว่าชุมชนโดยรอบที่ทำการสำรวจมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างฝายและผลพลอยได้จากการสร้างฝาย

 

ภาพที่ 6 ตัวอย่างการพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบริเวณฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

 

ภาพที่ 7 ตัวอย่าพรรณพืชพื้นล่างบริเวณฝายภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)  

ภาพที่ 8 จำนวนพืชที่นำไปใช้ประโยชน์โดยชุมชน
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

ภาพที่ 9 สัดส่วนรายได้ของชุมชนเพิ่มเติมจากผลพลอยได้จากการสร้างฝาย
(รายงานผลการวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) 

 

 

     นอกจากนี้ ทาง SCGP โรงงานวังศาลา ได้ให้ทุนสนับสนุนการสร้าง สถานีเรียนรู้เรื่องฝายตามแนวพระราชดำริ ดังภาพที่ 10 และ 11 โดยได้รวบรวมฝายชะลอน้ำประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ประเภทของฝาย วิธีการสร้างฝาย และประโยชน์การสร้างฝาย ก่อนลงมือทำการสร้างฝาย ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ฝายชะลอน้ำกลางแจ้ง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย วิทยาเขตกาญจนบุรี และเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมหาความรู้ได้ตลอดเวลา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภาพที่ 10 ภาพสถานีเรียนรู้เรื่องฝายตามแนวพระราชดำริ

ภาพที่ 11 ตัวอย่างภาพแหล่งเรียนรู้ ฝายชะลอน้ำ ประเภทต่างๆ

การดำเนินการในปี พ.ศ. 2567 SCGP โรงงานวังศาลา และวิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้กับนักเรียนโรงเรียนปากเกร็ด เพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมจิตอาสา “สร้างฝายชะลอน้ำ 92 ฝาย 92 พรรษา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2567 ภายใต้โครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ”  ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้บูรณาการร่วมกันระหว่าง SCGP โรงงานวังศาลา กระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดกาญจนบุรี ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเครือข่ายในกระทรวงอุตสาหกรรม จังหวัดกาญจนบุรี นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี และนักศึกษาแลกเปลี่ยน จากกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประชาชนจิตอาสา กำลังพลจิตอาสาพระราชทาน มทบ.17 จำนวนประมาณ 500 คน ร่วมจัดสร้างฝายชะลอน้ำแบบเกรเบี้ยน จำนวน 1 ฝาย และฝายชะลอน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 26 ฝาย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี

Partners/Stakeholders

SCGP โรงงานวังศาลา

กระทรวงอุตสาหกรรม 

สถาบันเครือข่ายในกระทรวงอุตสาหกรรม จังหวัดกาญจนบุรี 

กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

มณฑลทหารบกที่ 17 จังหวัดกาญจนบุรี

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่ว่าการอำเภอไทรโยค

เทศบาลตำบลวังโพธิ์

องค์การบริหารส่วนตำบลลุ่มสุ่ม

ผู้ดำเนินการหลัก
คุณกฤษณ์ ขาวบาง, รศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
SCGP โรงงานวังศาลา
ส่วนงานร่วม