10 ม.ค. 2567
การจัดทำแผนผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อยและป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล
อุทยานธรณีโลกสตูลได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทยจากยูเนสโก (UNESCO) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 และคณะกรรมการสภาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks Council) ได้มีมติเห็นชอบให้อุทยานธรณีโลกสตูลผ่านการประเมินซ้ำเพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก และได้รับสถานะ Green Card เมื่อปี 2566 เขาน้อยและป่าพนเป็นแหล่งธรณีและฟอสซิลที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันยังขาดการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) จัดทำผังภูมินิเวศแหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน ในอุทยานธรณีสตูล และ 2) พัฒนาเส้นทางการเรียนรู้แหล่งฟอสซิลเขาน้อย และป่าพน การจัดทำผังภูมินิเวศได้ใช้หลักการในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญและการแบ่งพื้นที่ตามภูมิประเทศ ชีวภาพ ภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรม โดยการใช้แผนที่แสดงลักษณะทางกายภาพ การบินสำรวจภาพมุมสูงโดยโดรน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่ชั้นหิน และขอบเขตประกาศแหล่งอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ มาซ้อนทับและกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในแต่ละเขต การจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกโดยการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ศักยภาพและข้อจำกัด และการวิเคราะห์ผู้ใช้งาน การจัดทำคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของอุทยานธรณีสตูล รายละเอียดและข้อมูลเขาน้อยและป่าพน นำมาออกแบบบนหลักการที่ยังคงความถูกต้องทางวิชาการ เข้าใจง่ายและน่าสนใจ การประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วม และการฝึกอบรมมัคคุเทศก์น้อยโรงเรียนกำแพงและป่าพน
ผลการศึกษาได้จัดทำผังภูมินิเวศของพื้นที่เขาน้อย โดยมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,511.85 ตารางเมตร (4.070 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 72,834.55 ตารางเมตร (45.522 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 1,440.07 ตารางเมตร (0.900 ไร่) และผังเฉพาะป่าพนมีพื้นที่สงวนเท่ากับ 6,339.25 ตารางเมตร (3.962 ไร่) พื้นที่อนุรักษ์ 43,769.47 ตารางเมตร (27.356 ไร่) และพื้นที่พัฒนา 29,532.45 ตารางเมตร (18.458 ไร่) ตามลำดับ โดยพื้นที่สงวนครอบคลุมพื้นที่หินที่บ่งบอกอายุหินที่แตกต่างกัน แหล่งฟอสซิล หินสาหร่าย พื้นที่อนุรักษ์คือ พื้นที่ที่ต่อเนื่องจากพื้นที่สงวน และพื้นที่พัฒนาคือ พื้นที่ที่จะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก โดยการออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติและเบียดเบียนธรรมชาติน้อยที่สุด ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายคือ ควรเร่งรัดการจัดทำแผน 5 ปี (พ.ศ.2567-2571) ของอุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อปรับแผนให้เข้ากับแผนจังหวัดและแผนพัฒนาท้องถิ่นให้ทันกับปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะทำให้งานขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดของแผนผังภูมินิเวศ จะมองพื้นที่แหล่งฟอสซิลเป็นแหล่งธรณีที่ยึดโยงกับประชาชน (Man) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งฟอสซิล กับ ชีวมณฑล (Biosphere) ที่อยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดของการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านการจัดการพื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างเหมาะสมและสมดุล การมีส่วนร่วมของชุมชนต้องมีอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ เข้าใจ และสร้างความตระหนักต่อบทบาทหน้าที่ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มากที่สุด จึงจะทำให้การขับเคลื่อนงานของอุทยานธรณีโลกเป็นไปอย่างตรงและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ การออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกเขาน้อย โดยการนำ Prehistoric scenery ของยุคออร์โดวิเชี่ยนมาใช้สร้างความสนใจให้กับโครงการ โดยการใช้ลักษณะภูมิทัศน์เดิมของพื้นที่ในส่วนด้านหน้าเป็นพื้นทีที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว และอาจะมีการเพิ่มองค์ประกอบภูมิทัศน์บางส่วนเพื่อช่วยส่งเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ โดยพื้นที่แหล่งฟอสซิลเขาน้อยจะใช้แนวคิด The Prehistoric Scenery of Nature และสำหรับป่าพน โดยการนำแนวความคิด The Journey of Natural Nature: Local-Natural trail- Enhance เน้นให้คนในชุมชน ท้องถิ่นเน้นร่วมกิจกรรม local guide, local food, local craft, local plants, local nature คู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกสตูล เขาน้อยและป่าพน ประกอบด้วยอุทยานธรณีโลกสตูล ตารางธรณีกาล เขาน้อย และป่าพน
คำสำคัญ: อุทยานธรณีสตูล เขาน้อย ป่าพน แผนผังภูมินิเวศ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ฟอสซิล สโตรมาโตไลต์