No Poverty

ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการให้โอกาสนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบุตรคนแรกของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ให้สามารถเรียนจนจบการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดลและมีโอกาสทำงานในองค์กรที่มั่นคง สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปได้ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริง ประจำปีการศึกษา 2564 กว่า 332 ทุน เป็นจำนวนเงินกว่า 16,600,000 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทุนการศึกษาต่อเนื่องสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป อัตราทุนละ 50,000 บาท ต่อปีการศึกษา จำนวน 48 ทุน ทุนการศึกษารายปี สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี อัตราทุนละ 50,000 ต่อปีการศึกษา จำนวน 284 ทุน และยังมีทุนประเภทอื่น ๆ ให้แก่นักศึกษา เช่น ทุนสนับสนุนการศึกษา ทุนช่วยเหลือและสนับสนุนกรณีพิเศษ ทุนสวัสดิการ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างครอบคลุมทุกวิทยาเขต และทางมหาวิทยาลัยยังมีสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ทุนอาหารกลางวัน หอพักราคาถูก รถรางรับ-ส่ง รวมทั้งมีบริการด้านการรักษาพยาบาลครอบคลุม ทั้งการรักษาโรคทั่วไป ทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางทันตกรรม ให้กับนักศึกษาทุกคน ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาของบุตรให้แก่ผู้ปกครอง และสำหรับนักศึกษาที่ต้องการหารายได้เสริมในเวลาว่างนั้น ทางมหาวิทยาลัยก็มีทุนนักศึกษาช่วยงาน โดยให้ค่าจ้างชั่วโมงละ 40 บาท หรือ วันละ 300 บาท ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ในระดับหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยมหิดลยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นเหตุ ของความยากจน จึงได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้สิน ได้แก่ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้านการเกษตรผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ Start Up, Early Stage เพื่อช่วยเพิ่มทักษะในการวางแผนการบริหารจัดการของเกษตรกร และการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ผลิตข้าวอินทรีย์มหิดลก่อให้เกิดมาตรฐานข้าวอินทรีย์มหิดล เพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค นอกจากการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดความยากจนภายในมหาวิทยาลัย และในระดับชุมชนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมหิดลยังมีส่วนให้ความช่วยเหลือนักศึกษาจากประเทศรายได้น้อย ดังเช่น การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือทางด้านทุนการศึกษาแก่นักศึกษา จากราชอาณาจักรกัมพูชาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน 29 คน ให้เข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2561 - 2564

Highlights
  • thumb
    01 02
    10 มี.ค. 2565
    การขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพฯ
    พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกับภาคีความร่วมมือของหน่วยงาน/องค์กร ในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัย ในเขตกรุงเทพมหานคร
  • thumb
    03 01 17
    1 ก.ย. 2566
    การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม
    ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุค “เกิดน้อย อายุยืน” จำนวนเด็กเกิดของประเทศไทยที่เคยสูงเกินหนึ่งล้านคนในช่วงระหว่างปี 2506-2526 หรือเรียกว่าเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” (ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2554) ในปี 2564 การเกิดของประเทศไทยลดต่ำลงมากเหลือเพียง 5 แสน 4 หมื่นรายเท่านั้น (สำนักบริหารการทะเบียน, 2565) ในขณะเดียวกันผู้คนเริ่มมีอายุยืนยาวขึ้น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจากในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรไทยนับตั้งแต่แรกเกิดคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 50 ปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 70 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 80.5 ปี และในชาย 73.5 ปี (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2565) ดังนั้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยผู้สูงอายุ (The Madrid International Plan of Action on Ageing : MIPAA) ใน 3 ประเด็นเรื่อง 1) ผู้สูงอายุและการพัฒนา (Older Persons and Development) (2) สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Advancing Health and Well-being into Old Age) และ (3) สร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม ทั้งนี้ในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ และเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชากรมากที่สุด โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม คือ คณะวิจัย ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันค้นหาปัญหา หาวิธีการแก้ไขปัญหา สะท้อนกลับซึ่งกันและกัน และสุดท้าย เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันผ่านเวทีการถอดบทเรียนในทุกแต่ละพื้นที่ มีวัตถุประสงค์หลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้านทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยนักวิจัยเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกกระบวนการตั้งแต่การศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยในปัจจุบันของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) มาต่อยอดและขยายผลกับพื้นที่ที่ศึกษา ได้แก่ การใช้เครื่องมือประเมินภาวะ Active aging แนวทางในการดูแลระยะกลางและระยะท้าย การคัดกรองผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม การส่งเสริมการมีงานทำ การส่งเสริมการสูงวัยในถิ่นเดิมตลอดจนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในท้องถิ่นได้ตราบจนชั่วชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
  • thumb
    11 มี.ค. 2565
    ปลดล็อกศักยภาพของเด็กทุกคน
    มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรียเพื่อทำการศึกษาตัวแทนของเด็ก ๆ ในศูนย์การเรียนรู้ผู้อพยพ (MLC) ในตำบลพบพระและท่าสองยาง จังหวัด แม่สอด โดยเปรียบเทียบกับเด็ก ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยไทย (ECCD) ในบริเวณใกล้เคียง
  • thumb
    01 02
    11 มี.ค. 2565
    โครงการ 10 ทักษะความปลอดภัย ก่อน 10 ปี ต้องมี 10 อย่าง : Safety Hunter ภารกิจพิชิตจุดเสี่ยง
    ปัจจุบันนับว่าเด็กไทยตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลา จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีเด็กๆ ต้องเสียชีวิตจากอุบัติภัย มากกว่า 3,000 ราย ต่อปี และถือเป็นสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของการเสียชีวิตในเด็ก เป็นภัยร้ายใกล้ๆตัวที่เกิดขึ้นได้แม้เพียงเสี้ยววินาที การมีทักษะด้านความปลอดภัยถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่เราต้องช่วยกันปลูกฝังให้กับเด็กๆอีกด้วย
  • thumb
    10 มี.ค. 2565
    แปลงผักปลอดสารพิษ
    แปลงผักปลอดสารพิษเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่อยากให้มีการบริโภคผักที่ไม่ใช้สารเคมีภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา คนในชุมชนได้กินผักที่มีความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดสรรพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และให้เกษตรกรในพื้นที่เข้ามาดำเนินการปรับปรุงดินและปลูกผักปลอดสารพิษจนถึงปัจจุบัน
จำนวนทั้งหมด 29 รายการ