การศึกษาวิจัยแบบพหุสาขา เพื่อหาเครื่องมือใหม่ และมาตรการการกำจัดไข้มาลาเรียจากประเทศไทย

detail

การวิจัยในปัจจุบัน มุ่งเป้าเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้อย่างถาวร

การศึกษาวิจัยแบบพหุสาขาเพื่อหาเครื่องมือใหม่และมาตรการการกำจัดไข้มาลาเรียจากประเทศไทย

ไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงก้นปล่อง เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และเคยมีผู้ป่วยถึง เกือบ 500,000 คน ช่วงปี พ.ศ.2524 โดยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 5% แต่ด้วยความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมไข้มาลาเรียให้ลดลงตลอดมา แม้จะมีการรายงานของเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาหลายชนิดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดเป้าหมายที่จะกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศภายในปี พ.ศ. 2568 ในขณะที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกตกลงตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 ปัจจุบันมี 37 จังหวัดที่ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ปลอดโรคไข้มาลาเรียแล้ว แต่ยังพบผู้ป่วยมาลาเรียในอีกหลายพื้นที่ แม้จำนวนผู้ป่วยลดลงมากแล้ว แต่การจะกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดไปต้องมีการพัฒนาวิธีการหรือเครื่องมือใหม่ ๆ

 
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ทำงานวิจัยทางด้านไข้มาลาเรียมาตั้งแต่ยุคแรกที่มีการก่อตั้งคณะฯ โดยโครงการวิจัยในปัจจุบัน มุ่งเป้าเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้อย่างถาวร จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมและกำจัดไข้มาลาเรียในแต่ละพื้นที่ อาสาสมัครในแต่ละชุมชนและผู้นำชุมชนนั้น ๆ ซึ่งขณะนั้นการกำจัดไข้มาลาเรียที่ให้หมดไปจากประเทศต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย แม้จะพบผู้ป่วยน้อยลงมากแล้ว ในผลงานวิจัยที่ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้รับทุนอุดหนุนงานวิจัยจากองค์กรต่างประเทศมากกว่า 90% สามารถทำการศึกษาตั้งแต่ความรู้ขั้นพื้นฐานถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ไข้มาลาเรียดำรงอยู่ พัฒนาการตรวจหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการในพื้นที่เสี่ยง
โดยใช้เทคนิคการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่มีความไวกว่าการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ มีความแม่นยำถูกต้องช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้โครงการวิจัยที่ทำในชุมชนจะมีการติดตามอัตราการป่วยของกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย โดยการตรวจหาเชื้อมาลาเรีย 2-3 ครั้งต่อปี งานวิจัยนี้ครอบคลุมประชากรกว่า 25,000 คนในแต่ละปี ทำให้สามารถให้ความรู้กับชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการวิจัย มีการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงพาหะ และประเมินผลของการใช้ยาไล่ยุง และยาฆ่าแมลง รวมทั้งมาตรการต่างๆที่ทางรัฐบาลนำมาควบคุมยุงพาหะ ผลงานวิจัยช่วยให้ทราบถึงข้อจำกัดของเครื่องมือหรือมาตรการที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ช่วยให้สามารถเข้าใจปัญหาและอุปสรรคของการกำจัดไข้มาลาเรียมากขึ้น และนำมาเป็นโจทย์ในการทำงานวิจัยเพื่อช่วยกระทรวงสาธารณสุขจัดการกับปัญหาไข้มาลาเรีย
 
แม้ว่าปัจจุบันประเทศจะพบผู้ป่วยน้อยลงมากแล้ว แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยยังมีปัญหา และอาจขยายเพิ่มการแพร่ระบาดของโรคมายังประเทศไทยด้วย เนื่องจากมีการเดินทางระหว่างชายแดนเป็นประจำ ดังนั้นนอกจากงานวิจัยที่พัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคให้ดีมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว การพัฒนายาใหม่เป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเชื้อมาลาเรียในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการดื้อยาที่ใช้รักษาหากมีการใช้ยาไปนาน ๆ ได้ ปัจจุบันทีมวิจัยของคณะฯได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ซึ่งเป็นเชื้อชนิดที่พบมากในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก
 
จากงานวิจัยที่ได้ทำเสร็จแล้วและยังดำเนินการอยู่ และหากประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย จะช่วยให้ประชากรกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อไข้มาลาเรียซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคนในประเทศ และมากกว่า 50% ของประชากรทั่วโลก หรือมากกว่า 3,900 ล้านคน ปลอดภัยจากการเป็นไข้มาลาเรีย ผลสำเร็จจากโครงการสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคที่มีการระบาดทั่วโลก หากกำจัดโรคไข้มาลาเรียได้ตามเป้าหมาย นอกจากช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดี ยังช่วยลดงบประมาณที่ต้องนำมาควบคุมโรคซึ่งมากกว่าปีละ 150 ล้านบาท วิธ๊การตรวจวินิจไข้มาลาเรีย การพัฒนายาและวัคซีนที่มีประสิธิภาพที่ได้จากงานวิจัยนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตด้านการแพทย์เพิ่มขึ้นในประเทศไทย เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่ต้องการในหลายประเทศทั่วโลก
 
 
Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
-