โครงการทบทวนสถานการณ์สุขภาวะเด็กไทยและความเหลื่อมล้ำตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

detail

การกระทำความรุนแรงต่อเด็กโดยคนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวเด็กเอง ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ การจัดการปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก จึงไม่ได้มีเพียงมิติด้านพฤติกรรมของคนใกล้ชิดในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงระดับโครงสร้าง ทั้งวัฒนธรรม ทัศนคติ ค่านิยมของผู้ใหญ่ สถานะทางเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน การเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ

          การปกป้องเด็กจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Right of the Child: CRC) ซึ่งประกอบด้วยสิทธิของเด็ก 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกบรรจุไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) โดยเด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปราศจากความหวาดกลัว การถูกละเลย การถูกทารุณกรรม และการถูกแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งนี้ รวมไปถึงความรุนแรงและการปฏิบัติที่เป็นอันตราย เช่น การบังคับให้แต่งงานในวัยเด็ก การขลิบอวัยวะเพศ การใช้แรงงานเด็ก การจ้างงาน และใช้เด็กในการทหารด้วย

         เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้มุ่งกำจัดการใช้ความรุนแรงเด็ก โดยมีระบุไว้ในเป้าหมายเฉพาะที่ 16.2 “ยุติการกระทำทารุณ การแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องการค้ามนุษย์ และความรุนแรงและทารุณเด็กในทุกรูปแบบ” เป้าหมายเฉพาะที่ 5.2 “ขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่ส่วนบุคคล รวมทั้งการค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ” เป้าหมายเฉพาะที่ 5.3 “ขจัดการปฏิบัติที่เป็นอันตราย เช่น บังคับให้เด็กแต่งงานแบบคลุมถุงชน และการขลิบอวัยวะเพศสตรี” ในขณะที่ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลักนั้นล้วนแต่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต สุขภาพ สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา และสวัสดิภาพของเด็กทั้งสิ้น

          การใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก ทุก ๆ ห้านาที จะมีเด็กหนึ่งคนเสียชีวิตจากการถูกกระทำความรุนแรง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้นำเสนอในรายงาน Global Status Report on Preventing Violence Against Children ว่าในแต่ละปี จะมีเด็กพันล้านคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ โดย 3 ใน 4 คนเป็นเด็กอายุเพียง 2-4 ปี ที่ถูกกระทำโดยพ่อแม่หรือผู้ดูแล นอกจากนี้ เกือบ 1 ใน 4 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากคู่สมรสของแม่ ในขณะที่ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนประมาณ 120 ล้านคนเคยถูกทารุณกรรมทางเพศ โดยในปี 2020 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องเสียชีวิตจากการถูกกระทำความรุนแรงถึง 40,150 คน จากการจัดลำดับปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็กโดย UNICEF พบว่า ภูมิภาคที่มีรายงานปัญหานี้มากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันออกกลาง ได้แก่ กานา (ร้อยละ 94) รองลงมา คือ อียิปต์ (ร้อยละ 93) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (ร้อยละ 92) เบนินและโมรอคโค (ร้อยละ31) ไลบีเรีย (ร้อยละ90) ซีเรียและบังคลาเทศ (ร้อยละ 89) จอร์แดน (ร้อยละ 82) อิรัก (ร้อยละ 81) ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่ประสบปัญหานี้เป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ อาเซอร์ไบจานและเมียนมาร์ (ร้อยละ 77) ปละประเทศไทย (ร้อยละ 75)

          ในประเทศไทย มีรายงานการใช้ความรุนแรงต่อเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์บริการพึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเด็กมารับบริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2561 สูงถึง 121,800 คน โดยเด็กส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ชิดมากที่สุด โดยในปี พ.ศ.2558 ศูนย์ฯ ได้รับรายงานเหตุผ่านสายด่วนทั้งหมดถึง 23,977 กรณี โดยร้อยละ 45 เป็นความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ และร้อยละ 10 เป็นการทารุณกรรมทางร่างกาย นอกจากนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ตย.) ได้รายงานว่า ในปี พ.ศ.2562 มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัวเข้ามาใช้บริการบ้านพักเด็กและเยาวชน จำนวน 1,226 คน โดยมากกว่าร้อยละ 50 ระบุว่าได้รับความรุนแรงทางร่างกายด้วยการถูกเฆียน/ตี มากที่สุด รองลงมา คือ การล่ามโซ่ และการทารุณกรรมด้วยเตารีด/บุหรี่ ร้อยละ 12 ระบุว่าได้รับความรุนแรงทางเพศด้วยการข่มขืน/กระทำซำเรา รองลงมา คือ การะทำอนาจาร และร้อยละ 11 ระบุว่าได้รับความรุนแรงทางจิตใจด้วยการใช้คำพูดรุนแรง/ดุด่า หรือพูดให้เจ็บซ้ำน้ำใจ ในปี พ.ศ.2563 มีเด็กจำนวน 203 คน ถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยร้อยละ 74 ระบุว่าถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ร้อยละ 44 ระบุว่าถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย นอกจากนี้ ความรุนแรงต่อเด็กที่พบในประเทศไทย ยังรวมถึงการไม่ดูแลหรือการทอดทิ้ง และการบังคับให้เด็กแต่งงานก่อนวัยที่เหมาะสมอีกด้วย

          จะเห็นได้ว่า ในบรรดาความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ความรุนแรงทางอารมณ์ และความรุนแรงทางร่างกายเป็นรูปแบบความรุนแรงที่พบได้มากที่สุด พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก อาจทำร้ายร่างกาย ใช้คำพูดรุนแรง หรือใช้การกระทำที่ส่งผลต่อจิตใจเด็ก โดยเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมสั่งสอนและการให้การศึกษาเด็กที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ในประเทศไทย การลงโทษโดยการทำร้ายร่างกายยังคงเป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไปไม่เพียงเฉพาะที่บ้าน แต่ยังรวมถึงในโรงเรียนและสถานที่อื่น ๆ รวมถึงสถานพินิจฯ การใช้ความรุนแรงเพื่อลงโทษเด็กมีหลายระดับ ตั้งแต่การเขย่าหรือการกระชากตัวเด็ก การตะโกน ตะคอก ตวาด การตบดีด้วยมือหรือสิ่งของ การตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง การทุบตีอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เป็นต้น เด็กที่ถูกทำโทษด้วยวิธีที่รุนแรงจำนวนมากที่สุด คือ เด็กอายุระหว่าง 3.4 ปี ทั้งนี้ ผู้ปกครองที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเพียงพอจะขาดความรู้และความตระหนักด้านการอบรมสั่งสอนเด็กด้วยวิธีการเชิงบวกและขาดทักษะในการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ เด็กกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง พิการ มาจากครอบครัวที่ยากจน หรือพ่อแม่หย่าร้าง มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะประสบความสำเร็จ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 จากบรรดา 75 ประเทศที่ผู้ดูแลเด็กมีความเชื่อว่าการลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมสั่งสอนเด็ก

          การกระทำความรุนแรงต่อเด็กโดยคนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวเด็กเอง ครอบครัว สังคมและเศรษฐกิจ เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงอาจได้รับบาดเจ็บ ป่วย พิการ หรือทุพพลภาพ เกิดความบกพร่องทางการพัฒนาการหรือการเจริญเติบโตทางร่างกาย และยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ เป็นการสร้างบาดแผลที่ฝังลึกให้กับเด็ก ทำให้เด็กมีความวิตกกังวล หวาดกลัวคนรอบข้าง ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งอาจนำมาสู่การฆ่าตัวตาย หรือทำให้เด็กกลายเป็นผู้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการพึ่งพายาเสพติด บุหรี่ หรือแอลกอฮอล์ การใช้ความรุนแรงกับเด็ก อาจก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก ไม่สามารถทำกิจกรรมภายในครอบครัวร่วมกันได้ เกิดการทะเลาะวิวาทและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ของตน การกระทำทารุณในวัยเด็ก จะส่งผลกระทบตลอดชั่วชีวิตของเด็ก ส่งผลให้เด็กไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต มีความเสี่ยงต่อความล้มเหลวทางการศึกษา ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน จนอาจต้องกลายเป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงของสังคม หรือกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรม

          การจัดการปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก จึงไม่ได้มีเพียงมิติด้านพฤติกรรมของคนใกล้ชิดในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงระดับโครงสร้าง ทั้งวัฒนธรรม ทัศนคติ ค่านิยมของผู้ใหญ่ สถานะทางเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน การเข้าถึงการศึกษา ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเพื่อขจัดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับความเปราะบางของเด็กและครอบครัว การได้รับการปกป้องคุ้มครองทางสังคม รวมถึงความเชื่อทางวัฒนธรรม ทัศนคติต่อความรุนแรง และพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงมักมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และมีที่มาจากหลายแหล่ง จึงเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย

          รัฐบาลไทย ได้ลงนามในปฏิญญาและแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก (The World Fit for Children Declaration and Plan of Action) ซึ่งเรียกร้องให้แต่ละประเทศสร้างกลไกที่เหมาะสมในการเก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามตัวชี้วัดทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก โดยได้พัฒนาโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2562 เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว โดยในส่วนของความรุนแรงต่อเด็ก มีการเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมและทัศนคติซึ่งไม่สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เคยมีมาในประเทศไทย ผู้วิจัยจึงต้องการใช้ชุดข้อมูลดังกล่าว เพื่อสำรวจสถานการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลของเด็ก ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ภูมิหลังทางการศึกษาและทัศนคติที่มีต่อการใช้ความรุนแรง และประสบการณ์การตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงของผู้ปกครองกับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก การศึกษาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาวะของเด็กไทย ในมุมมองความเหลื่อมล้ำและการพัมนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลที่ได้จาการศึกษาจะช่วยบ่งชี้ปัยหาเกี่ยวกับสุขภาวะของเด็กในมิติด้านความรุนแรง ที่รัฐต้องเร่งพัฒนานโยบายและมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในการจัดการปัญหาต่อไป

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐณีย์ มีมนต์
ส่วนงานหลัก