Good Health and Well-Being

สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยในการพิจารณาการรักษาโรคและให้ความรู้ทางด้านสุขภาพแก่ประชาชน และในแต่ละปีมหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณทิตทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีโรงพยาบาลในสังกัดถึง 8 แห่งที่พร้อมให้การดูแลรักษาประชาชน ครอบคลุมในทุกโรค โดยได้ให้การรักษาผู้ป่วยในระยะเวลา 2 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - 2564) แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 11,766,282 ราย ผู้ป่วยใน 284,931 ราย ผู้ป่วยทันตกรรม 1,094,908 ราย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2564 ไปกว่า 4,213,371,169.45 บาท ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น นอกจากการรักษาพยาบาล มหาวิทยาลัยยังมีศูนย์วิจัยโรคเฉพาะทางหลากสาขา เช่น ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง ศูนย์ไตเทียม ศูนย์มะเร็ง เป็นต้น ทางมหาวิทยาลัยยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ รวมทั้งเป็นผู้จัดกิจกรรมในการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดต่าง ๆ เช่น กิจกรรมถ่ายทอดสดการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ในวันเอดส์โลก กิจกรรมงานสัปดาห์วันมะเร็งโลก กิจกรรมวันโรคอ้วน และแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิตให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป และ มีคลินิกวัยทีนที่พร้อมให้คำปรึกษาเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น ปัญหาการติดยาเสพติดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ พร้อมบริการฟิตเนสและสนามกีฬาหลายประเภทสำหรับนักศึกษาและบุคลากร ในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ มีการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงผลเสีย ของการสูบบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ในระดับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน มหาวิทยาลัยยังเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะ ในฐานะผู้นำองค์ความรู้ และเป็นต้นแบบสำหรับมหาวิทยาลัยสมาชิกเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Asean University Network – Health Promotion Network : AUN – HPN) อีกด้วย

Highlights
  • thumb
    03 04 17
    4 เม.ย. 2567
    เครือข่ายความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงสำหรับเวชศาสตร์เขตร้อน
    เป้าหมายโดยรวมของโครงการนี้คือการเสริมสร้างความสามารถของมหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการใช้กระบวนการแบบ One Health เพื่อศึกษาและวิจัยการจัดการกับโรคเขตร้อนและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonoses) ที่มีความสำคัญ
  • thumb
    03
    19 มี.ค. 2567
    ระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์
    “ระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์” เป็นระบบเพื่อใช้ข้อมูลรูปภาพเอกซเรย์ทรวงอกและผลวินิจฉัยจากสถาบันทางการแพทย์ต่าง ๆ นำมาฝึกฝนแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกโดยไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรูปภาพทางการแพทย์ระหว่างสถาบันทางการแพทย์ เพื่อทำให้แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ส่วนกลางมีความสามารถและแม่นยำสูงเนื่องจากได้เรียนรู้และฝึกฝนจากชุดข้อมูลที่มีความหลากหลาย ตลอดจนสามารถเอาผลลัพธ์จากแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์กลางไปใช้ในการสร้างระบบส่วนกลางและสนับสนุนสถาบันทางการแพทย์ที่ไม่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ได้
  • thumb
    03
    27 ต.ค. 2566
    ความปลอดภัยในการสัญจรภายในมหาวิทยาลัย
    มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินโครงการรณรงค์การสวมหมวกกนิรภัย ปรับสภาพแวดล้อมบนท้องถนนโดยทาทางข้ามถนนสายหลักและถนนสายรองภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ถนนและผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
  • thumb
    3 ต.ค. 2566
    คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล พัฒนาอาหารจากโปรตีนพืช เต้าหู้ถั่วเหลืองผสมกากถั่วดาวอินคา
    ในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการดูแลสุขภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ หรือต้องการลดการรับประทานเนื้อสัตว์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาอาหารจากโปรตีนพืช เต้าหู้ถั่วเหลืองผสมกากถั่วดาวอินคา พบว่ามีปริมาณโปรตีนสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่คำนึงถึงสุขภาพและต้องการบริโภคโปรตีนจากพืช ซึ่งมีปริมาณโปรตีนสูงใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์
  • thumb
    03
    29 ก.ย. 2566
    โครงการสร้างสุขปลูกจิต พิชิตโรคภัยทุกกลุ่มวัย ในชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
    ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิต กลายเป็นอีกปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่าในประชากร 4 คนจะมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน และอีก 2 คน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น เป็นญาติพี่น้อง คนในครอบครัว เป็นต้น (WHO, 2020)
  • thumb
    26 ก.ย. 2566
    การบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ จึงจัดให้มีศูนย์อาหารคณะฯ ให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยมีนโยบายเป็นศูนย์อาหารที่สะอาด อร่อย มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ
  • thumb
    25 ก.ย. 2566
    แผนนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนบนฐานระบบวนเกษตรชุมชน
    การนำแนวคิด ความรู้ และหลักการทางนิเวศวิทยาในการบริหารจัดการเกษตรกรรมด้วยระบบวนเกษตร สู่แผนนโยบายขับเคลื่อนชี้นำสังคม เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
  • thumb
    03 02 17
    21 ก.ย. 2566
    ศูนย์สุขภาพชุมชนซอยสวนเงิน
    กระบวนการพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแบบบูรณาการร่วมกับชุมชน ลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • thumb
    03 17
    15 ก.ย. 2566
    ความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยนวัตกรรมอาหาร ระหว่างวิทยาลัยนานาชาติ และ บริษัท ต้นกล้าฟ้าใส ฟู้ดแคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด
    วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ต้นกล้าฟ้าใส ฟู้ดแคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยเพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อการจำหน่าย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการวิจัยอาหาร การผลิต และการตลาด
  • thumb
    03 02
    4 ก.ย. 2566
    กลุ่มงานวิจัยนโยบายอาหารและการติดตามและประเมินผล (Food Policy and Monitoring and Evaluation: Food ME)
    Food ME ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม เริ่มต้นในปี 2560 มุ่งมั่นผลิตข้อมูลวิจัยเพื่อใช้ชี้ทิศนโยบายด้านอาหารและโภชนาการของประเทศ และสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรไทยบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความมั่นคงทางอาหาร และสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ รวมถึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่และประเทศ
  • thumb
    03
    1 ก.ย. 2566
    การพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนให้ออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม: การวิจัยทางคลินิก
    โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าและมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้อเข่า ทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาจต้องได้รับการผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเข่า ข้อเข่าผิดรูป หรือมีปัญหาเรื่องการเดิน อาจหมายถึงความเสื่อมของข้อเข่าที่เป็นมานานหลายปี ดังนั้นจึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะวินิจฉัยความเสื่อมตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ โดยอาจใช้แบบสอบถามไปจนถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อ เช่น การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสม (ผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าก็ควรออกกำลังกายเช่นกัน) ในงานวิจัยนี้มีการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างถูกต้อง ระยะเวลาการออกกำลังกายในแต่ละครั้งเหมาะสม ผลการวิจัยพบว่า โมบายแอปพลิเคชันทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและผู้ป่วยพึงพอใจต่อวิธีการนี้ ในอนาคตอาจพัฒนาต่อยอด เช่น ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อออกแบบท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายต่อไป
  • thumb
    03 01 17
    1 ก.ย. 2566
    การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม
    ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุค “เกิดน้อย อายุยืน” จำนวนเด็กเกิดของประเทศไทยที่เคยสูงเกินหนึ่งล้านคนในช่วงระหว่างปี 2506-2526 หรือเรียกว่าเป็น “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” (ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2554) ในปี 2564 การเกิดของประเทศไทยลดต่ำลงมากเหลือเพียง 5 แสน 4 หมื่นรายเท่านั้น (สำนักบริหารการทะเบียน, 2565) ในขณะเดียวกันผู้คนเริ่มมีอายุยืนยาวขึ้น อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของคนไทยได้เพิ่มขึ้นจากในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรไทยนับตั้งแต่แรกเกิดคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 50 ปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 70 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 80.5 ปี และในชาย 73.5 ปี (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2565) ดังนั้นการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายชีวิต จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยผู้สูงอายุ (The Madrid International Plan of Action on Ageing : MIPAA) ใน 3 ประเด็นเรื่อง 1) ผู้สูงอายุและการพัฒนา (Older Persons and Development) (2) สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Advancing Health and Well-being into Old Age) และ (3) สร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม ทั้งนี้ในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นับเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ และเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชากรมากที่สุด โครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม คือ คณะวิจัย ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกันค้นหาปัญหา หาวิธีการแก้ไขปัญหา สะท้อนกลับซึ่งกันและกัน และสุดท้าย เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันผ่านเวทีการถอดบทเรียนในทุกแต่ละพื้นที่ มีวัตถุประสงค์หลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างรอบด้านทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยนักวิจัยเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในทุกกระบวนการตั้งแต่การศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยในปัจจุบันของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) มาต่อยอดและขยายผลกับพื้นที่ที่ศึกษา ได้แก่ การใช้เครื่องมือประเมินภาวะ Active aging แนวทางในการดูแลระยะกลางและระยะท้าย การคัดกรองผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม การส่งเสริมการมีงานทำ การส่งเสริมการสูงวัยในถิ่นเดิมตลอดจนการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ในท้องถิ่นได้ตราบจนชั่วชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
จำนวนทั้งหมด 99 รายการ