Industry,Innovation and Infrastructure

สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งพัฒนาผลวิจัยสู่นวัตกรรมโดยสร้างระบบสนับสนุนการวิจัยแบบครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Research Value Chain) โดยผลงานต้องเกิด Global and Social Impact สามารถนำไปใช้ในประโยชน์ในสังคมและเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เช่น Co-working Space, Co-product Design และ Design thinking โดยมีสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ในการสร้างผลงานวิจัยสู่นวัตกรรมร่วมกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และให้การปรึกษาในการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ แก่อาจารย์และนักวิจัย และทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2564 มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรและจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญารวม 575 เรื่อง รวมทั้งการสนับสนุนให้ความรู้ในการทำธุรกิจ Startup แก่นักศึกษาและบุคลากรผ่าน Workshop และ Mahidol Incubation Program และมีทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลงานวิจัยสู่นวัตกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ การพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 จากน้ำลาย ด้วยวิธี RT-LAMP เปลี่ยนสี ซึ่งพัฒนาโดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การพัฒนานวัตกรรมชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่ทำมาจากกระดาษ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับบริษัท SCG การพัฒนาสารสกัดสมุนไพรไทยเพื่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาและได้ค้นพบประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 จากกระชายขาว โดยคณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และการพัฒนาหุ่นยนต์ สำหรับใช้ในหอผู้ป่วยของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก สำหรับเก็บขยะติดเชื้อและสำหรับส่งอาหารและยาในหอผู้ป่วย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการบริการสุขภาพ เช่น รถหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีไปแล้วกว่า 598 ราย ช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ขยายการให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดเชียงราย จังหวัดชลบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครพนม และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคนิคการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองผ่านกะโหลกศีรษะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริมการฝึกแขนและมือในโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

Highlights
  • thumb
    03 09 17
    9 มิ.ย. 2565
    สภาพแวดล้อมเสมือนสำหรับการฝึกฝนผ่าตัดทางทันตกรรม
    ระบบจำลองทางทันตกรรมภายในความเป็นจริงเสมือนที่จำลองสภาพแวดล้อมของห้องผ่าตัดทางทันตกรรมแบบสามมิติ
  • thumb
    6 ก.ค. 2565
    โครงการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของผู้พิการ
    การเข้าถึงการสื่อสารวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ของผู้พิการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่า ในอดีตผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายการไม่ได้คำนึงถึง หรืออาจจะคำนึงเป็นกลุ่มสุดท้าย อาจเป็นเพราะสื่อกระจายเสียงของไทยดำเนินการเชิงพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผู้ชมทั่วไป มุ่งผลิตรายการตอบสนองคนทั่วไป เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจที่แปรผันตามจำนวนผู้ชมรายการ ทำให้ผู้พิการที่มีจำนวนน้อยมากเปรียบเทียบเชิงปริมาณกับคนทั่วไปถูกละเลยและถูกละเมิดมาโดยตลอด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและแผนแม่บท และขยายแนวคิดในเรื่องการรู้เท่าสื่อและร่วมกันสร้างสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความแตกต่างการนับถือกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ สำนักพัฒนาองค์กรวิชาชีพและส่งเสริมการบริการอย่างทั่วถึง (ชส.) จึงเห็นความสำคัญของการดำเนินโครงการพัฒนาชุดการเรียนรู้สำหรับผู้พิการเพื่อสร้างเสริมความตระหนักในเทคโนโลยีการเข้าถึง หรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้พิการมีความรู้ ความเข้าใจ ในสิทธิและประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวมตลอดถึงการใช้ประโยชน์จากสื่อได้อย่างรู้เท่าทัน และเพื่อให้ผู้พิการตระหนักในสิทธิของตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ผ่านกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียมต่อไป
  • thumb
    30 มิ.ย. 2565
    โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในการออกแบบนวัตกรรมถังขยะเพื่อการคัดแยกขยะสำหรับทุกคน
    ที่ผ่านมาผู้พิการทางการเห็นมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะค่อนข้างน้อย อันเนื่องมากจากถังขยะที่ใช้หลักการของสีเป็นตัวแบ่งแยกขยะ ซึ่งเป็นข้อจำกัดยิ่งสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องหรือพิการทางการเห็น จึงได้มีการจัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในการออกแบบนวัตกรรมถังขยะเพื่อการคัดแยกขยะสำหรับทุกคนเป็นผลผลิตหลัก ซึ่งได้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรในชื่อ “ระบบการแยกถังขยะด้วยเสียง” ตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เลขที่ 17547 ออกให้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2564 มีวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการทิ้งขยะและปัญหาในการคัดแยกขยะของคนพิการทางการเห็น 2) เพื่อออกแบบนวัตกรรมถังขยะเพื่อการคัดแยกขยะสำหรับทุกคน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจและพฤติกรรมหลังการใช้นวัตกรรมถังขยะเพื่อการคัดแยกขยะ โครงการนี้เกิดประโยชน์ของโครงการ ดังนี้ 1) ได้นวัตกรรมถังขยะเพื่อการคัดแยกขยะสำหรับทุกคนที่คนพิการทางการเห็นใช้งานได้จริง คัดแยกขยะได้จริงเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของคนพิการทางการเห็น 2) ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมการทิ้งขยะและปัญหาการคัดแยกขยะของคนพิการทางการเห็น 3) สร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะให้กับคนพิการทางการเห็น 4) กระตุ้นให้คนทั่วไปเกิดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะมากขึ้นเพื่อเห็นตัวอย่างจากการปฏิบัติของคนพิการทางการเห็นที่ยังสามารถคัดแยกขยะได้ 5) เปิดโอกาสให้คนพิการทางการเห็นได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาของสังคมเท่าเทียมกับคนทั่วไป 6) การเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ
  • thumb
    5 พ.ค. 2566
    โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ STEM & ROBOTICS CAMP
    โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ STEM & ROBOTICS CAMP” เป็นการจัดค่ายเสริมพิเศษนอกเวลาเรียน เพื่อพัฒนาทักษะของครูและนักเรียนด้านการโค้ดดิ้ง การจัดกิจกรรมมีลักษณะการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนและครูผู้สอน การวิจัยและพัฒนากระบวนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับครูผู้สอน และการวิจัยและพัฒนาสื่อการสอนโค้ดดิ้ง โดยแนวคิดและหลักการทำงานของคณะทำงานจะยึดหลักที่ว่า สื่อการสอนที่ใช้ในการจัดกิจกรรมต้องมีราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย กระบวนการเรียนการสอนต้องเข้าถึงผู้เรียน คือ เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ มีความทั่วถึง และมีความยั่งยืน
  • thumb
    10 พ.ย. 2565
    นักวิจัยผุดไอเดีย นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผลิตขั้วไฟฟ้าของตัวเก็บประจุยิ่งยวดร่วมกับกรดเลวูลินิค
    ฟอสซิลถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน และการผลิตข้าวของเครื่องใช้มากมาย อย่างไรก็ตาม การใช้ฟอสซิลยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป และผลกระทบที่เกิดจากการเผาไหม้ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลวัฒน์ นาคะสรรค์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้วิจัย จึงมีความสนใจในการทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการลดการใช้ฟอสซิล โครงการวิจัยนี้ ผู้วิจัยจึงนำเหง้ามันสำปะหลังมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรดเลวูลินิค โดยนำมาปรับสภาพเบื้องต้นด้วยด่าง เพื่อดึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เซลลูโลสออก ซึ่งจะได้ของแข็งที่มีเซลูโลสเป็นองค์ประกอบหลัก ผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า จะทำให้ปริมาณการใช้ฟอสซิลภายในประเทศลดลง ประเทศไทยมีขั้วไฟฟ้าของตัวเก็บประจุยิ่งยวดที่ผลิตได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจะเป็นขั้วไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพดีและมีราคาถูกกว่าขั้วไฟฟ้าทั่วไปในท้องตลาด และสามารถสร้างมูลค่าให้กับเหง้ามันสำปะหลังได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีรายได้มากขึ้น
  • thumb
    5 ก.ย. 2565
    การศึกษาการใช้ประโยชน์จากใบสับปะรดเหลือทิ้ง มุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
    งานวิจัยนี้สร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้งทางการเกษตรคือ ใบสับปะรดที่ผ่านการดัดแปรเพื่อเสริมแรงพลาสติกและยางให้มีความแข็งแรง ทนอุณหภูมิ และลดการใช้งานวัสดุจากปิโตรเลียม และใช้เป็นวัสดุรองรับดูดซับโลหะหนักในน้ำเสีย หรือตัวเร่งปฏิกิริยาในการกำจัดสารอินทรีย์ในน้ำ ให้ง่ายต่อการแยก หรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยบางส่วนได้มีการขยายผลเชิงพาณิชย์ผ่านบริษัทสตาร์ทอัพแล้ว
  • thumb
    04 09
    29 ส.ค. 2565
    โครงการ Mahidol Historical Learning Experience "เด็กไทยใจมหิดล"
    จัดทําแอปพลิเคชันเกมในลักษณะ Web Application จํานวน 1 แอปพลิเคชัน เพื่อส่งเสริมการรับรู้ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนพื้นที่ชุมชนโดยรอบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้แก่ นักศึกษา บุคลากร และนักเรียนในพื้นที่โดยรอบ จํานวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน วัตถุประสงค์การดำเนินโครงการเพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในอำเภอพุทธมณฑลและพื้นที่ศาลายา เพื่อให้เยาวชนเกิดสำนึกรักในท้องถิ่น และเกิดความสนใจเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสิ่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนทุกเพศ ทุกวัย
  • thumb
    17 ส.ค. 2565
    เติมเต็มสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน จัดอบรมออนไลน์ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ในงานอาชีวอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    "เติมเต็มสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน จัดอบรมออนไลน์ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ในงานอาชีวอนามัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กำหนดให้เสียงที่ดังเกิน 85 dBA (เดซิเบลเอ) เป็นเสียงที่เป็นอันตราย จึงกลายเป็นที่มาของข้อกำหนด เพื่อสุขภาวะของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครอบคลุมเรื่องการลดการป่วยจากมลพิษต่าง ๆ รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ แก้วบุญชู รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สอนหลักรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย” ซึ่งเปิดให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ พยาบาลอาชีวอนามัย และเจ้าหน้าที่สุขภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เข้ารับการอบรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่าน MUx โดยได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องสุขภาวะแรงงานไทยว่าแม้กฎหมายแรงงานไทย ได้กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการเฝ้าระวังการได้ยิน โดยให้ดำเนินการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินแก่ลูกจ้างอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แต่พบว่ายังไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณสมบัติของผู้ทดสอบแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการริเริ่มจัดอบรมออนไลน์ที่ได้มาตรฐานในเรื่องดังกล่าว จุดเด่นของรายวิชาออนไลน์ "การตรวจสมรรถภาพการได้ยินในงานอาชีวอนามัย" นอกจากการเปิดอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้ออกแบบให้มีครบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งในภาคทฤษฎีนั้น ได้มีการสาธิตให้ผู้เรียนสามารถฝึกปฏิบัติตามได้โดยง่าย และหลังจากจบบทเรียนทั้งหมดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ส่งคลิปการฝึกปฏิบัติกลับมาให้ผู้สอนประเมิน และสามารถรับประกาศนียบัตร E-Certificate เมื่อผ่านเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย
จำนวนทั้งหมด 20 รายการ