Community

สังคมที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศผลิตบัณฑิตคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชาสู่สังคม และด้วยปณิธานหลักของมหาวิทยาลัยคือเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยจึงได้วางนโยบายเพื่อที่จะเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยยั่งยืนอย่างเต็มภาคภูมิด้วยการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน ผ่านยุทธศาสตร์การจัดการความยั่งยืนภายใต้นโยบาย “Mahidol Eco University and Sustainability Policy 2021-2025” ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับโลกที่จะบรรลุภายในปี พ.ศ. 2573 โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบาย “Mahidol Eco University and Sustainability Policy 2021-2025” ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ การเติบโตสู่องค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable growth) การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable resources use) และการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable community)
การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
(Sustainable Community)
ของมหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมโครงการ/กิจกรรมเพื่อสังคม (Social Responsibility) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน (Equity) ของทุกคนในสังคม จัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย และสร้างบรรยากาศสังคมในมหาวิทยาลัยที่มีความสุขสำหรับ บุคลากร และนักศึกษา ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยจึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในระดับนานาชาติ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ส่งเสริม และช่วยเหลือการพัฒนาสังคมผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างสังคมที่น่าอยู่ มีความเกื้อกูลกัน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ของเหล่านักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกด้วย อาทิเช่น กิจกรรมการสร้างเสริมอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการสุขภาพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมบทบาทของทุกคนในสังคม รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาคมโลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่ตั้งไว้ทั้ง 17 เป้าหมายดังนี้
โดยมหาวิทยาลัยมีทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานภายใต้วิทยาเขตหรือส่วนงานที่คอยดูแลและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นประจำ รวมทั้งกิจกรรมของนักศึกษาและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรณีพิเศษต่าง ๆ โดยเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ทั้งในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ดังนี้
community
จิตอาสามหิดล (Mahidol Volunteer Center) เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาให้มีอัตลักษณ์มุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism) ตามค่านิยมของมหาวิทยาลัย โดยจิตอาสามหิดลจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลงานอาสาสมัครจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ทำงานอาสาสมัครที่มีความหลากหลายตรงกับความสามารถและความสนใจของนักศึกษา ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้ความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอาสาสมัครของมหาวิทยาลัย
community
Mahidol University Social Engagement Forum หรือเรียกสั้นๆ ว่า “MUSEF” เป็นสื่อออนไลน์ที่งานบริการวิชาการและพันธกิจสัมพันธ์กับสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำขึ้น เพื่อช่องทางสำหรับการสื่อสารและสร้างการรับรู้ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยให้กับสังคมในวงกว้าง ด้วยความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะผลักดันผลงานวิจัยและงานวิชาการที่มีคุณภาพและศักยภาพในหลากหลายสาขาให้เกิดผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อน Policy Advocacy ด้วยการสร้างกลไกผลักดันงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเผยแพร่ต่อสาธารณชน
community
ศูนย์อาสาสมัครศิริราช (Siriraj Volunteer Center) เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติสึนามิ เมื่อปี 2547 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีการรวมตัวของอาสาสมัครทางการแพทย์เข้าไปช่วยเหลือยังพื้นที่ที่ประสบภัย และหลังจากนั้นกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบก็เกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดภัยจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมจึงจัดตั้ง “ศูนย์อาสาสมัครศิริราช” ขึ้น ภายใต้การดูแลของงานกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการปลูกฝังความรู้สึกของการเป็นผู้ให้แก่บุคลากรภายในและคนในสังคม รวมทั้งเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างสังคมแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน โดยปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอาสาสมัครทั้งที่เป็นของศูนย์เอง และเป็นตัวกลางรวบรวมอาสาสมัครให้กับภายนอกองค์กร และยังเปิดให้องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ ได้สามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมไทย และเกิดความยั่งยืน
community
ชมรมนักศึกษาเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถกระจายกิจกรรมช่วยเหลือสังคมและกิจกรรมเพื่อสังคมไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มในการบำเพ็ญประโยชน์ให้สังคม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ โดยกลุ่มนักศึกษาจะวางแผนและดำเนินกิจกรรมกันด้วยตนเอง ทำให้กิจกรรมชมรมนักศึกษาเป็นการคืนประโยชน์ให้แก่สังคม และยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นักศึกษาจะได้กลับคืนมาจากการไปทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยชมรมนักศึกษาจะแบ่งเป็น 4 ด้านหลักๆ และในแต่ละด้านจะประกอบด้วยชมรมต่าง ๆ มากมาย

      1. ด้านบำเพ็ญประโยชน์
      2. ด้านศิลปวัฒนธรรม
      3. ด้านกีฬา
      4. ด้านวิชาการ