Quality Education

สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ มีหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทางของวิทยาลัยราชสุดาให้กับผู้บกพร่องทางการสื่อสารและการได้ยิน เพื่อโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงหลักสูตรวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมายของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพในการวินิจฉัยความผิดปกติของการสื่อความหมาย รวมไปถึงผลิตบุคลากรที่ให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บกพร่องทางการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนทุนการศึกษามากกว่า 300 ทุน ให้กับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการและงานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการใช้องค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงความเท่าเทียมทางสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ได้มุ่งพัฒนาการศึกษาเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนกลุ่มสาขาอื่น ๆ เช่น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ จำนวน 25 กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยได้สร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า “มหิดลโมเดล” (Mahidol Model Endangered Languages and Culture Revitalisation) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูและพัฒนาภาษาแม่/ภาษาท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างสรรค์วรรณกรรม การบันทึกความรู้ด้วยภาษาท้องถิ่น และการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ทุนทางภาษาแม่และภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานการเรียนรู้และพัฒนาสมองจนประสบความสำเร็จเป็นประจักษ์ และได้รับรางวัลระดับโลกUNESCO King Sejong Literacy Prize 2016 ต่อมามีการต่อยอดและประยุกต์ใช้ในโครงการคลังข้อมูลดิจิทัลของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมการปกป้องและดำรงรักษาความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และโครงการการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการเรียนรู้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาของประเทศได้อย่างเท่าเทียม โดยยังคงไว้ซึ่งอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้สืบต่อไป นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังคำนึงถึงคุณภาพของหลักสูตร โดยมีนโยบายผลักดันให้หลักสูตรได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติ ณ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ได้รับรองมาตรฐานสากลมากที่สุดในประเทศไทยถึงจำนวน 54 หลักสูตร ได้แก่ ASEAN University Network-Quality Assurance (AUN-QA) จำนวน 24 หลักสูตร Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) จำนวน 9 หลักสูตร Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) จำนวน 6 หลักสูตร Music Quality Enhancement (MusiQuE) จำนวน 5 หลักสูตร International Society for Prosthetics and Orthotics (ISPO) จำนวน 3 หลักสูตร World Federation for Medical Education (WFME) จำนวน 2 หลักสูตร Institute and Faculty of Actuaries (IFoA) จำนวน 2 หลักสูตร Asia-Pacific Academic Consortium for Public Health (APACPH) จำนวน 1 หลักสูตร United Nation World Tourism Organisation (UNWTO.TedQual) จำนวน 1 หลักสูตร และ World Federation of Occupational Therapists (WFOT) จำนวน 1 หลักสูตร ซึ่งการได้รับมาตรฐานหลักสูตรระดับนานาชาติดังกล่าวเป็นการประกันคุณภาพการศึกษา สร้างการยอมรับของผู้สำเร็จการศึกษาในการเข้าศึกษาต่อรวมทั้งการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในระดับนานาชาติ และเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้เรียนในการเลือกสถาบันการศึกษา จากการดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา โดยคำนึงถึงการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกระดับชั้น โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และหลักสูตรตรงตามความต้องการของผู้เรียนและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างบัณฑิตให้เป็น Global Citizen และ Global Talents ต่อไป

Highlights
จำนวนทั้งหมด 97 รายการ