การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค COVID-19 5 ชุมชน หน้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ถอดบทเรียน: Factory Isolation (FAI)

detail

การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ใน 5 ชุมชนหน้าคณะฯ รอบวัดมะกอก

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลักที่สำคัญคือ การสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น คณะฯ  ร่วมกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ได้ดำเนินโครงการ “การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ใน 5 ชุมชนหน้าคณะฯ รอบวัดมะกอก” โดยจัดให้มีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้แก่ชาวชุมชน ในย่านนวัตกรรมโยธี 5 ชุมชน จากการคัดกรองพบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งคนไทยและแรงงานชาวต่างด้าว โดยคณะทำงานสามารถดำเนินการส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ ได้เกือบทั้งหมดยกเว้น แรงงานต่างด้าวของโรงน้ำแข็งจำนวน 6 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อสีเขียว วัยแรงงานไม่มีโรคประจำตัว) เนื่องจากไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลส่งผลให้มีข้อจำกัดในการส่งต่อ จึงเป็นที่มาของการทำสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อภายในโรงน้ำแข็ง (Factory Isolation: FAI) ขึ้น โดยมีกระบวนการดังนี้

1. เตรียมทีมผู้ดูแล/ประสานงานในชุมชน โดยคณบดี และคณาจารย์ภาควิชาระบาดวิทยา ให้ข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงแนวทางดำเนินงานจัดทำ FAI โดยจะมีนักวิชาการของคณะฯ และ YMID เป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้เข้าใจและตัดสินใจดำเนินการด้วยความเชื่อมั่น

2. เตรียมความพร้อมสำหรับพื้นที่กักตัวผู้ติดเชื้อภายในโรงงาน โดยการประเมินพื้นที่กักตัว ร่วมกับเจ้าของโรงน้ำแข็ง และหารือกับทีมสถาปนิกจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อปรับลักษณะทางกายภาพ ประเมินและลดจุดเสี่ยงต่าง ๆ ป้องกันการแพร่กระจายโรค และเตรียมสถานพยาบาลหากมีความจำเป็นต้องส่งต่อ

3. เตรียมความพร้อมร่วมกันระหว่างเจ้าของ โรงน้ำแข็งผู้นำชุมชน  อาสาสมัครชุมชนและทีมของคณะฯ  ในการดูแลผู้ติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายภายในโรงน้ำแข็ง อาทิ การจัดทำระบบข้อมูลของคนงาน แบบสังเกตอาการ  14 วัน ข้อกำหนดในการอยู่ร่วมกัน การเตรียมพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยในบริเวณโรงงาน เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันโรค ยาฟ้าทะลายโจร รวมถึงช่องทางสื่อสารระหว่างผู้ติดเชื้อ เจ้าของโรงน้ำแข็ง ชุมชนและทีมนักวิชาการของคณะฯ

4. ระหว่างดำเนินการ 

     เจ้าของโรงน้ำแข็งจะเป็นผู้ดำเนินการ FAI หลัก เช่น การติดตามอาการผู้ติดเชื้อ การจัดหายาฟ้าทะลายโจรให้ผู้ติดเชื้อรับประทาน ตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงการจัดหาอาหารสิ่งของจำเป็น นอกจากนี้ ยังดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่กระจายโรคในกลุ่มคนงานของโรงนำแข็งซึ่งมีประมาณ 40 คน เช่น การกำหนดให้คนงานทุกคนต้องป้องกันตนเอง ตามหลัก DMHTT แยกบริเวณคนที่มีความเสี่ยง การจัดกะงานให้มีจำนวนคนงานน้อยลง คัดกรองทุก 14 วัน รวมถึงการจัดหาวัคซีน

     ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครชุมชน ประสานงานกับเขต เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารและสิ่งของจำเป็นสำหรับการกักตัว  ติดตามผู้ติดเชื้อ และประสานงานกับศูนย์สุขภาพ หรือศูนย์ปฐมภูมิของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในกรณีที่ต้องมีการส่งต่อ รวมถึงการตรวจคัดกรอง การจัดหาวัคซีน

     ทีมนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ YMID ประสานความร่วมมือ สนับสนุนในส่วนที่จำเป็น เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการ แนวทางการดำเนินงาน  ให้คำปรึกษา และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินทุกสัปดาห์

การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค COVID-19                                                                                                                              

5 ชุมชน หน้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ถอดบทเรียน: Factory Isolation (FAI) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา

อย่างยั่งยืน ดังนี้

เป้าหมายข้อที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย ครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพและสวัสดิภาพที่สำคัญหลายประเด็น

ข้อย่อยที่ 3 d. เสริมขีดความสามารถในการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ

เป้าหมายข้อที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ข้อย่อยที่ 4.a  สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ ให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัยปราศจากความรุนแรงครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน

เป้าหมายข้อที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ข้อย่อยที่ 10.7  อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบและมีความรับผิดชอบรวมถึงผ่านทางการดำเนินงานตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี

เป้าหมายที่  11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

ข้อย่อยที่ 11.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัยและในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด

ข้อย่อยที่ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ

เป้าหมายข้อที่ 12 บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ พัฒนารูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

ข้อย่อยที่ 12.8  สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

ข้อย่อยที่ 12.a  สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

เป้าหมายข้อที่ 17 ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับแนวทางการดำเนินงานและสร้างเสริมการเป็นพันธมิตรระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโลกยุคปัจจุบันที่มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิม ความร่วมมือในการพัฒนาการเข้าถึงเทคโนโลยีและความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการแบ่งปันความคิดและสนับสนุนนวัตกรรม

Partners/Stakeholders

ย่านนวัตกรรม การแพทย์โยธี (YMID)

ผู้ดำเนินการหลัก
ภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ย่านนวัตกรรม การแพทย์โยธี (YMID)