การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน

detail

การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้นและเป็นการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต

โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน เป็นโครงการภายใต้ “โครงการพัฒนากลไกสานเสริมพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนพื้นที่รูปธรรมสุขภาวะ ภาคอีสาน (โครงการสานเสริมพลังภาคี)” ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ จำนวน 100,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โดยมีกระบวนการดำเนินการ ดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ

1) ผู้วิจัยทำหนังสือขออนุญาตดำเนินการวิจัยในพื้นที่ถึงหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง

2) ประชุมชี้แจงโครงการวิจัยร่วมกับทีมแกนนำชุมชนระดับตำบล ประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อดีตกำนันตำบลโนนหนามแท่ง ผอ.รพ.สต. บ้านคำน้อย และ หัวหน้าศูนย์แพทย์โนนหนามแท่ง เพื่อวางแผนการดำเนินการวิจัยร่วมกัน

3) จัดตั้งคณะทำงานศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ประกอบด้วย ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ รองผู้อำนายการ เหรัญญิก ผู้ช่วยเหรัญญิก เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 86 คน และกำหนดบทบาทหน้าที่คณะทำงาน

4) จัดเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุจากตัวแทนคือ (1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2) องค์กรท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน (3) หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และ (4) ตัวแทนภาคประชาชน

ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

1) ประชุมคณะทำงานเพื่อคืนข้อมูลสถานการณ์และความต้องการเกี่ยวกับรูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุชุมชน โดยจัดทำฐานการเรียนรู้ 12 ฐาน ตามปัญหาความต้องการของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย  (1) ฐานป้องกันสมองเสื่อม (โดมิโน) (2) ฐานป้องกันสมองเสื่อม (หมากรุก) (3) ฐานป้องกันสมองเสื่อม (ไพ่) (4) ฐานป้องกันสมองเสื่อม (จังก้า) (5) ฐานป้องกันสมองเสื่อม (บิงโก) (6) ฐานป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่น ตาราง 9 ช่อง ยางยืด ชี่กง โยคะ ลีลาส และบาสโลบ เป็นต้น (7) ฐานปู่ ย่า ตายายเลี้ยงหลาน (8) ฐานเสริมสวย เสริมหล่อ วัยเก๋า  (9) ฐานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ (10) ฐานรักการอ่านและเรียนรู้ตลอดชีวิต  (11) ฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาวะ และ (12) ฐาน ขยะมีค่าประดุจดั่งทองคำ

2) ค้นหาสถานที่ตั้งศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ โดยทีมแกนนำได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ จังหวัดอำนาจเจริญ ให้ใช้ศาลา 150 ปี พระมารดานิจจานุเคราะห์ เป็นสถานที่ตั้ง

3) จัดทำแผนประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง ดังนี้ 1) Page facebook ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง Day care center 2) กลุ่มไลน์ 3) หอกระจายเสียง และ 4) สื่อสารแบบปากต่อปากผ่านแกนนำ อสม.แต่ละหมู่บ้าน

4) รับสมัครครูอาสาในชุมชนและหน่วยงานต่างๆ โดยจะมีครูอาสาที่มีความรู้และทักษะมาร่วมสอนในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ

5) รับสมัครสมาชิกผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำใบสมัครให้ตัวแทนคณะทำงานแต่ละหมู่บ้านไปรับสมัครสมาชิกผู้สูงอายุถึงที่บ้านครอบคลุมทั้ง 14 หมู่บ้าน มีสมาชิก จำนวน 400 คน

6) จัดตั้งกองทุนศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง จำนวน 60,000 บาท และมีการกำหนดกติกาข้อตกลงร่วมกัน โดยนำเงินทุนมาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ และค่าสาธารณูปโภคภายในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ

7) จัดพิธีเปิดศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 มีการมอบเกียรติบัตรสำหรับคณะทำงาน ครูอาสา และจิตอาสา จำนวน 99 คน ตลอดทั้งมีพิธีรับมอบเงินทุนและสิ่งของสนับสนุนสมทบกองทุน และอบรมพัฒนาศักยภาพครูอาสาและแกนนำผู้สูงอายุในการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ แบบตาราง 9 ช่อง และ แบบยางยืด

8) การกำหนดกติกา ข้อตกลงในการปฏิบัติตัวในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ และประกาศให้คณะทำงานและสมาชิกผู้สูงอายุรับทราบโดยทั่วกัน

9) เปิดให้บริการศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ทุกวันจันทร์ ถึงศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. โดยมีครูอาสา ร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ ทั้ง 12 ฐาน และครูอาสาจัดอบรมเพิ่มเติม ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ 4+1 มิติ ด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม การทำยาหม่องสมุนไพร การทำขนมชั้น การทำน้ำสลัดครีม การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันสมองเสื่อม การคัดกรองการพลัดตกหกล้ม การจัดบริการสุขภาพการบรรเทาอาการปวดเข่า ด้วยการพอกเข่าด้วยสมุนไพร  จัดบริการเสริมสวยเสริมหล่อ สระ ซอย ดัด ยอมสีผม การตรวจคัดกรองเบาหวาน การส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำพรมเช็ดเท้า การสานตระกร้าจากเส้นพลาสติก การทำชาใบหม่อน และการเพาะเห็ด เป็นต้น โดยในแต่ละกิจกรรมจะมีการสอนเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้คณะทำงานและสมาชิกผู้สูงอายุด้วย

10) การจำหน่ายสินค้า เช่น พรมเช็ดเท้า และตระกร้า จำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการเปิดบูธนิทรรศการในงานกาชาดประจำจังหวัดอำนาจเจริญร่วมกับบูธของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ

11) การสรุปบทเรียนการดำเนินงาน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที โชว์แชร์เชื่อม “มหกรรมไทอีสานสานสุข โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง เป็นศูนย์เรียนรู้ประเด็นผู้สูงอายุ ระบบออนไลน์

12) ประชุมคณะทำงาน สรุปปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข ทุก 1 เดือน

13) คณะทำงานบูรณาการการดำเนินงานเข้าสู่งานประจำขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง โดยนำเข้าแผนพัฒนาตำบลประจำปี พ.ศ. 2566 และจัดทำศูนย์ดูแลกลางวันสัญจรไปในแต่ละหมู่บ้าน

14) ขยายผลศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุได้ จำนวน 2 แห่ง คือ (1) ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่ง สาขาบ้านโสกโดน และ (2) ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุนาไร่ใหญ่วัยเก๋า ต.เสนางคนิคม อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ

ระยะที่ 3 ประเมินผลรูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ

1) ประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปผลการดำเนินงานการพัฒนารูปแบบสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุอายุ โดยดำเนินการสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานศูนย์ดูแลกลางวัน

2) ส่งมอบโครงการให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการหลักเพื่อความยั่งยืน

2. ประโยชน์หรือผลลัพธ์ของ case study (Benefits and results of the case study)

            1) รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ

            2) เกิดศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุแบบบูรณาการจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

            3) เกิดกองทุนศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง

            4) มีสมาชิกผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่ง จำนวน 400 คน (ร้อยละ 40)

            5) มีครูอาสา จำนวน 25 คน

6) เกิดการบูรณาการงานของศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุสู่แผนระดับตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง ประจำปีงบประมาณ 2566

            7) ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นและสุขภาพกาย สุขภาพจิตดีขึ้น

            8) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำศูนย์ดูแลกลางวันเข้าแผนประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ (ศพอส.) สนับสนุนงบประมาณ 300,000 บาท

            9) เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับศึกษาดูงาน การสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ จังหวัดอำนาจเจริญ

            10) สามารถขยายผลศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุได้ จำนวน 2 แห่ง

            11) คณะทำงานและผู้สูงอายุมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. กลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์

ผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

4. ระดับผลลัพธ์

ระดับท้องถิ่น

5. ความต่อเนื่องและระยะเวลาของการดำเนินงาน

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี คือ เดือนเมษายน 2565-เดือนมีนาคม 2566 ปัจจุบันโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญได้ส่งมอบให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อยเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับคณะทำงานศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง และมีการบูรณาการเข้ากับโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ตำบลโนนหนามแท่ง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการเพิ่มอีก จำนวน 100,000 บาท

Partners/Stakeholders
  1. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม
  2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาวะเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยนครพนม
  3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
  4. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
  5. โรงพยาบาลอำนาจเจริญ
  6. ศูนย์แพทย์โนนหนามแท่ง
  7. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อย
  8. องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง
  9. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ
  10. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ
  11. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลโนนหนามแท่ง
  12. การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองอำนาจเจริญ 
  13. เครือข่ายไทอีสาน สานสุข (ไทอีสาน โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ)
  14. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์
  15. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัครชุมชน และภาคประชาชนในตำบลโนนหนามแท่ง
ผู้ดำเนินการหลัก
อ.ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ดร.เรืองอุไร อมรไชย, ดร.อรรถพงษ์ ฤทธิทิศ, ดร.หนึ่งฤทัย เสนาราษฎร์, ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์, ผศ.ดร.บรรณาสิทธิ สิทธิบรรณกุล, ผศ.เบญญาภา ศรีปัญญา, ดร.กันนิษฐา มาเห็ม, นางสาวนิตยา บัวสาย, นางสาวชลิตดา ขันแก้ว, นางนลินี กินาวงศ์